โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

บุคคลชลประทาน ณัฐวุฒิ สร้อยประเสริฐ

กระทั่งปี 2544 ช่างกิ่งได้เลื่อนตำแหน่งมาทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 (อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล) โครงการชลประทานระยอง และได้พบว่า ความคิดสมัยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชานั้น มันผิดมาตลอด เพราะบทบาทของการเป็นหัวหน้าจะมองแค่การทำงานของตนเพียงคนเดียวไม่ได้ การทำงานนั้นต้องคำนึงถึงส่วนรวมเป็นที่ตั้ง การคิดถึงแตตนเองจะทำให้หมู่คณะเกิดความแตกความสามัคคี ยกตัวอย่าง หากลูกน้องมีความคิดเหมือนกับตนในอดีต ทุกคนมองหาแต่เป้าหมายของตนเองแต่เพียงเท่านั้น ความสามัคคีที่ถาวรยั่งยืนย่อมไม่เกิดขึ้นแก่คนในองค์กรอย่างแน่นอน “สิ่งที่ผมเริ่มปฏิบัติทันทีหลังจากเปลี่ยนความคิดที่ผิดๆ ออกไปได้ คือ การบริหารจัดการผู้ใต้บังคับบัญชาทุกเพศทุกวัย ให้รู้จักความรักความสามัคคีในองค์กรก่อน เริ่มจากการจัดกิจกรรมให้ลูกน้องมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและร่วมแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน เพราะเมื่อเกิดความรักความสามัคคีแล้ว ก็จะช่วยให้ภารกิจที่ต้องทำเพื่อเกษตรกรสัมฤทธิ์ผล” ต่อมาเมื่อปี 2547 ช่างกิ่ง ได้ย้ายมาทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 (ฝายบ้านค่าย – ดอกกราย) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการจัดสรรน้ำให้แก่เกษตรกรในพื้นที่เขตอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง บนพื้นที่ชลประทานกว่า 30,000 ไร่โดยปัญหาที่พบหลังจากเข้าปฏิบัติหน้าที่ คือ เกษตรกรขาดความรักความสามัคคีในหลายครัวเรือนขาดแคลนน้ำ ทำ การเกษตร ทั้งๆ ที่ปริมาณน้ำต้นทุน ที่มีอยู่ในพื้นที่มีปริมาณมากเพียงพอต่อการทำการเกษตรกรรม ช่างกิ่งได้เล่าให้ฟังว่า การแก้ไขปัญหาเริ่มจากการลงพื้นที่มาพูดคุยกับเกษตรกรอยู่บ่อยครั้ง เพื่อแสดงความเป็นกันเอง ไม่ถือตัวว่าเป็นข้าราชการแล้วต้องให้มานับหน้าถือตา รวมถึงการใช้หลักคำ สอนของพระพุทธเจ้าในเรื่อง อริยสัจ 4 มาอธิบายให้เกษตรกรได้ทราบถึงปัญหาและสาเหตุที่จะเกิดขึ้น และร่วมกันคิด เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน เพื่อจะได้หลุดพ้นจากปัญหาเหล่านั้นอย่างยั่งยืน จะขอยกตัวอย่างการทำงานของช่างกิ่ง โดยการใช้หลักอริยสัจ 4 ดังนี้ ทุกข์ คือ ตัวปัญหา และปัญหา คือน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อทำการเกษตรกรรมไม่ได้รับเพียงพอ ทั่วถึง สมุทัย คือ สาเหตุของปัญหา คือเกิดจากตัวเกษตรกรเองที่ไม่ได้ช่วยกันดูแล บำรุงรักษาคูคลองส่งน้ำ ได้แต่ใช้เพียงอย่างเดียว รวมถึงขาดความรู้ในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันอย่างถูกต้อง และในชุมชนของกลุ่มเกษตรกรยังขาดความรักความสามัคคี มีความเห็นแก่ตัว และไม่รู้จักการจัดสรรแบ่งปันซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก นิโรธ คือ การดับทุกข์ คือ ต้องการให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความเดือดร้อน ความทุกข์ยาก ถูกขจัดปัดเป่าออกไป มรรค คือ แนวทางที่นำความรู้ที่ได้รับไปสู่การปฏิบัติจริง คือ การหาวิธีการบริหารจัดการน้ำร่วมกันอย่างถูกวิธี “การจะอธิบายหลักอริยสัจ 4 ให้เข้าใจโดยง่าย จะต้องมีกิจกรรมสอดแทรกระหว่างประชุม อย่างกิจกรรมที่ผมใช้สอนอยู่บอยครั้ง คือ กิจกรรมแม่น้ำ พิษ โดยนำเกษตรกรมาจัดกลุ่ม 15-20 คน โดยสมมุติว่าพื้นที่นี้คือแม่น้ำพิษ และให้นำกระดาษมาสร้างสะพานที่ใช้ข้ามแม่น้ำพิษ โดยที่ทุกคนในกลุ่มต้องยืนอยู่บนแผ่นกระดาษที่แจกให้ในจำนวนจำกัด แล้วเดินก้าวข้ามฝั่งไปพร้อมกันให้ได้ทุกคนอย่างปลอดภัย จากนั้นเราจะมาทำการถอดบทเรียน (After Action Review) ว่าเราได้อะไรจากการเรียนรู้ในครั้งนั้นๆ อย่างกิจกรรมแม่น้ำพิษ ก็สอนให้รู้จักความรักความสามัคคีถ้าจะรอดก็ต้องรอดไปด้วยกันทุกคน สร้างความมีน้ำใจ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันเพราะหากในสถานการณ์จริงคลองส่งน้ำเกิดการชำรุดเสียหายหรืออุดตัน ใครเล่าจะทำให้สิ่งที่ชำรุดผุพังนั้นให้ดีขึ้นมาได้ ถ้าไม่ใช่มาจากแรงของ 2 มือของพวกเราเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ตัวอย่างเกษตรกร 70-80 คน เคยรวมตัวกันเพื่อมา “ลงแขก” ช่วยกันขุดลอกตะกอนดินทำความสะอาดคูคลองส่งน้ำ ซึ่งหากทำเพียงคนเดียวก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ แต่เมื่อทุกคนมาร่วมแรงร่วมใจกัน ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงก็สามารถทำให้ภารกิจเสร็จสิ้นได้แล้ว โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือหรือพึ่งพาจากเจ้าหน้าที่ชลประทานเลย” การเป็นคนที่สมบูรณ์นั้น ใช่ว่าจะต้องเป็นคนเก่งอย่างเดียวเสมอไป หากแต่ต้องมีความเป็นคนดี และกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งช่างกิ่งระลึกอยู่เสมอว่า การที่เขามีตำแหน่งหน้าที่การงานอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ ต้องมีปัจจัยในการช่วยสนับสนุนและผลักดัน ซึ่งได้แก่ หัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน เกษตรกร รวมไปถึงครูบาอาจารย์ที่ได้สอนให้รู้จักคุณงามความดี ซึ่งต้องสร้างให้เกิดขึ้นจากภายในและขับเคลื่อนวิธีคิดวิธีปฏิบัติสู่ภายนอกได้ “ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเป็นเราได้อย่างทุกวันนี้ คือคำสอนของอาจารย์ปรีดา เรืองวิชาธร หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า “อาจารย์เล็ก” จากสำนักเสมสิกขาลัย ที่สอนให้เราได้รู้จักความดีจากภายใน ได้รู้จักและเข้าใจตัวเองรวมถึงผู้อื่นมากขึ้น และได้นำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในการทำงาน ลดตัวตนความเป็นตัวเองลงในการทำงานทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาและเกษตรกรเกิดการยอมรับในตัวเรามากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง เรารีบลงไปดูในพื้นที่ก่อนเลย จะแก้ไขปัญหาตรงนั้นได้เลยรึเปล่าก็ยังไม่รู้ แต่แค่เกษตรกรได้เห็นหน้าเราเค้าก็ดีใจแล้วที่เหมือนเราได้ไปรับทราบปัญหาหรือความทุกข์ไปพร้อมกับเค้าแล้ว นี่แหละคือความดีจากภายในที่ปรากฏออกมาให้ทุกคนได้เห็น มีกำนันท่านหนึ่งได้พูดว่า ช่างกิ่งเป็นข้าราชการที่ให้เกียรติพี่น้องเกษตรกร ก้มลงมามองปัญหาร่วมกับพวกเขา และไม่ถือเนื้อถือตัว แต่เรามองว่านี่คือหน้าที่ของนายช่างชลประทาน ที่ต้องทำ ต้องปฏิบัติในการทำงานร่วมกับเกษตรกรอยู่แล้วเราไม่ได้ทำอะไรเกินไปกว่าบทบาทหน้าที่ของนายช่างชลประทาน ที่ได้รับการมอบหมายหน้าที่จากกรมชลประทานเลย”

ณ ปัจจุบัน ช่างกิ่ง รับราชการในตำแหน่ง นายช่างชลประทานอาวุโส ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานสระแก้ว และทุกวันนี้ชีวิตการทำงานของเขายังคงไม่แตกต่างจากสมัยอดีตที่ผ่านมา คือ การลงพื้นที่เปิดเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกรเช่นเดิม นอกจากนี้เขายังมีกิจกรรม Live ผ่านหน้า Facebook ตนเองในชื่อ ช่างกิ่ง ณัฐวุฒิ ในการจัดรายการวิทยุ “ช่างกิ่ง ช่างเดา คุยเล่าเรื่องน้ำ” เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำแก่พี่น้องเกษตรกร ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดสระแก้ว คลื่น FM 103.25 MHz ประจำทุกวันพฤหัสบดี เวลา10.00-11.00 น. ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อาจต้องแลกมาด้วยเวลาส่วนตัวมากมาย แต่คงจะอธิบายสั้นๆ ได้ว่า“เขาไม่ได้ทำเพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อพี่น้อง เกษตรกรที่เขารักและรักเขาเสมอมา”