ในปัจจุบันหากได้ลองสังเกตบรรยากาศการทำงานรอบตัว มักพบว่ามีเพื่อนร่วมงานที่เป็น “สาวเก่งชลประทาน” อยู่มากมายหลายท่านที่มีลักษณะการทำงาน “กล้าสู้กล้าลุยไปได้ทุกที่ไม่แพ้ผู้ชาย” ที่ต้องกล่าวเช่นนี้ เพราะบุคคลชลประทานฉบับนี้ เราได้ลงภาคใต้สัมภาษณ์ “อำมร มีสวัสดิ์” หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมพัฒนาการใช้นน้ำ ของสำนักงานชลประทานที่ 15 มาให้ได้รู้จักกับสไตล์การทำ งานและประวัติชีวิตของเธอกัน
นักศึกษาสายใหญ่ อยากสัมผัสลมหนาว
อำมร เล่าว่า เธอเป็นคนอำเภอรัตภูมิจังหวัดสงขลา มีพี่น้อง 3 คน โดยอำมรเป็นคนกลาง และเป็นลูกสาวคนเดียวของบ้านสะมะบุบ (นามสกุลเดิม) แม้ว่าจะเป็นผู้หญิงคนเดียวของบ้านแต่ก็ไม่ได้อยากทำงานบ้านงานเรือนอย่างเดียว เธอจึงมักอาสามาช่วยครอบครัวทำนา ตั้งแต่ถอนกล้า ดำนา เก็บเกี่ยว นวดข้าว เรียกว่าทำได้ทั้งหมดทุกขั้นตอน
ภายหลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนรัตภูมิชนูปถัมภ์ อำมรเลือกที่จะเรียนต่อในสายอาชีวศึกษา ระดับ ปวช.และ ปวส. ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมสงขลาหรือ “สายใหญ่” (ชื่อที่นักศึกษาใช้เรียกกัน) โดยเธอได้เลือกเรียนในสาขาวิชาเกษตรทั่วไป เป็นเส้นทางที่เธอมุ่งมั่นมาก เพราะที่นี่ไม่ได้เน้นสอนเพียงทฤษฎีในไร่ในสวนแต่สอนครอบคลุมถึงวิชาช่างซ่อมรถยนต์รวมถึงสอนขับรถไถนา และวันหนึ่งเธอฝันว่าจะนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาประเทศ
ปี 2532 อำมรศึกษาจบจากสายใหญ่และ “ครั้งนี้เธอก็คิดใหญ่ถึงขั้นขัดใจผู้เป็นแม่”
“จบ ปวส. แม่ก็อยากให้เราอยู่บ้านแต่ด้วยความที่เราอยากออกไปเรียนรู้โลกภายนอก จึงชวนเพื่อนเดินทางไปสอบในสถานศึกษาต่างๆ ขึ้นเหนือไปสอบที่สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ และเข้าเมืองหลวงสอบที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ) ซึ่งเราก็ติดทั้ง 2 แห่ง แต่สุดท้ายคือ อยากไปสัมผัสบรรยากาศหนาว จึงตัดสินใจเลือกเดินทางไปเชียงใหม่ โดยเลือกเรียนคณะผลิตกรรมการเกษตร”
ผู้จัดการสนามกอล์ฟ
ปี 2535 อำมร ศึกษาจบระดับปริญญาตรี เธอคิดอยู่เสมอว่าแค่การเรียนต่างบ้านต่างถิ่นนั้นยังไม่พอกับการเรียนรู้โลกภายนอก เธอจึงยังไม่คิดที่จะกลับบ้านและขัดใจแม่อีกครั้ง โดยเลือกทำงานที่แรก คือ สนามกอล์ฟ พัทยาคันทรีคลับอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี หลายคนคิดว่าเธอจะไปเป็น “แคดดี้” แต่ไม่เลย เธอสมัครเข้าไปเป็น “หัวหน้าฝ่ายเรือนเพาะชำ”เพราะต้องการพิสูจน์ความสามารถว่าไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ชาย โดยใช้เวลา 1 ปีจนมีตำแหน่งเป็นถึง “ผู้จัดการสนามกอล์ฟ”
การทำสิ่งที่เหนือความคาดหมายและขัดรูปลักษณ์สาวร่างเล็กของตนเอง คือ“บุคลิกของอำมร” โดยเธอทำงานที่สนามกอล์ฟ 3 ปี ด้วยความที่ต้องการจะเปิดทางให้รุ่นน้องได้เติบโตในสายงาน จึงได้ทำการขอลาออก ยอมทิ้งเงินเดือนเกือบ 3 หมื่นบาทออกมาเป็นลูกจ้างประจำ เงินเดือน6,340 บาท ที่กรมส่งเสริมการเกษตรในกลุ่มงานข้าว
แม้ว่าการทำงานในกรมส่งเสริมการเกษตรจะเป็นอาชีพตามสายวิชาที่เรียนมา แต่เหมือนบุคลิกจะยังไม่เป็นใจเพราะเธอยังคงชินกับการทำงานระบบบริษัทเธอจึงลาออก และไปสมัครทำงานที่บริษัทผลิตถุงมือทางการแพทย์ส่งออกอยู่ถึง 2 ปี แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น “อำมรเกิดปัญหาสุขภาพ” เธอแพ้สารเคมีจนทำให้เป็นโรคไฮเปอร์ไทรอยด์
ช่วงชีวิตที่ระหกระเหิน
เป็นช่วงเวลาของชีวิตที่อำ มรยอมรับว่าระหกระเหินมาก สุดท้ายจึงกลับมาเป็นลูกจ้างประจำที่กรมส่งเสริมการเกษตรอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มาทำเกี่ยวกับกลุ่มงานถั่วเหลือง และเลือกสอบบรรจุเป็นข้าราชการที่นี่ ทำงานอยู่ที่เขตจตุจักรกรุงเทพมหานคร แต่แล้วในคืนก่อนวันประกาศผลสอบบรรจุข้าราชการก็เกิดสิ่งที่พิเศษกับเธอขึ้น
“เราฝันว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 เรียกมาพบในหลวงบอกว่าทำงานด้านการเกษตรอย่าน้อยใจ แม้ว่าจะต้องตากแดด ตากลมทำแล้วชีวิตจะดีเอง ในรุ่งเช้าเราก็ตื่นมามีคนโทรศัพท์มาแสดงความยินดีให้ไปรายงานตัวทันที ได้บรรจุเป็นข้าราชการที่สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร
การทำงานในรั้วกรมชลประทาน
อำมรทำงานอย่กรมส่งเสริมการเกษตรได้สักพักใหญ่ แต่เธอก็ยังรู้สึกว่างานที่ทำนั้นยังไม่เหมาะกับตนเอง เธอจึงขอย้ายมายังรั้วกรมชลประทาน เพราะมีตำแหน่งงานที่ต้องลงพื้นที่ ซึ่งเหมาะกับสไตล์การทำงานของเธอ โดยสังกัดกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม 1 สำนักบริหารโครงการทำหน้าที่สำรวจพื้นที่การสร้างอ่างเก็บน้ำและนำตัวอย่างดิน น้ำ ส่งมาวิจัยที่กรมชลประทาน ปากเกร็ด
ปี 2554 “ทราบว่าคุณพ่อเสีย” อำมรซึ่งออกมาทำงานไกลบ้านมานาน เธอมีความรู้สึกเป็นห่วงคุณแม่ที่ต้องอยู่คนเดียว จึงขอย้ายมาทำงานที่ สำนักงานชลประทานที่ 15 จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อสามารถเดินทางกลับไปดูแลคุณแม่ที่สงขลาได้ทุกสัปดาห์
ฐานข้อมูลเคลื่อนที่ด้านข้อมูลกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน
ปัจจุบัน อำมร มีสวัสดิ์ มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมพัฒนาการใช้น้ำมีหน้าที่กำกับดูแลการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ การยกระดับกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานพื้นฐานเป็นกลุ่มบริหาร ตลอดจนการดำเนินงานด้านการพัฒนาองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน ดำเนินงานการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นระดับสำนักงานชลประทาน
“ตลอดจนออกตรวจเยี่ยมกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานเป็นประจำ ที่อยู่ในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 15 ที่อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ภูเก็ต และนครศรีธรรมราชโดยไปเยี่ยมเยียนพบปะเกษตรกรถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมกลุ่ม ผู้ใช้นน้ำชลประทาน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกรมชลประทานกับเกษตรกรสุดท้ายก็นำกลุ่มไปประกวดกลุ่มบริหารการใช้น้ำ แม้กลุ่มที่ดูแลจะยังไม่เคยได้ที่หนึ่งในระดับประเทศ แต่ก็ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาของกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมากมาย”
จนถึงวันนี้อำมรถือเป็นฐานข้อมูลเคลื่อนที่ด้านข้อมูลกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานเธอรจูั้กเกษตรกรหลายรอ้ ยกลมุ่ จากวิธีการทำงานสไตล์ของเธอ
นอกจากนี้หน้าที่ที่อำมรโดดเด่นมากอีกอย่าง คือ การเป็นผู้ประเมินฝ่ายส่งน้ำเพื่อส่งประกวด แนะนำจุดแข็ง และลบจุดบกพร่อง โดยหากหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำคนใดชนะการประกวดจนติดระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ อำมรก็จะคอยเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำให้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปี 2561 นายธีร์ธวัช ทองบริบูรณ์ ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานกระบี่ ที่เธอเป็นผู้ดูแลได้ถึงระดับที่ 3 ของประเทศ
เดือนกันยายน 2561 อำมรแม้จะเพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สาขาพัฒนาการเกษตรเธอยอมรับว่ายังต้องการเรียนรู้เรื่องการทำงานให้มากกว่านี้ โดยเป้าหมายในอนาคตของเธอนั้น อยากจะหาทีมที่จะมาทำงานวิจัยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชร่วมกัน เพื่อพัฒนางานในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 15 ให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศมากขึ้น และท้ายนี้อยากฝากถึงพี่น้องชาวชลประทานทุกคนให้ทำงานกันอย่างเต็มที่ เสียสละและเห็นแก่ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพื่อพัฒนากรมชลประทานไปสู่ RID 4.0