ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

กรุงศรีฯเชื่อมั่น ไตรมาสแรกปีนี้ยังดีต่อเนื่อง


กรุงศรีฯเผย Krungsri SME Index ล่าสุดในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมาชี้ชัดว่า เอสเอ็มอีเริ่มมีความเชื่อมั่นในการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น และคาดว่าจะดีต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรี คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องที่ 4.1% โดยการใช้จ่ายภายในประเทศจะมีความสำคัญมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า  ผลสำรวจ Krungsri SME Index ล่าสุดในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า ผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นในการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น  ผู้ประกอบการในทุกภาคอุตสาหกรรมทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กในกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ต่างมีมุมมองว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีต่อเนื่องในไตรมาส 1 ปีนี้ ขณะที่ความคืบหน้าของโครงการ EEC ยังคงเป็นปัจจัยหนุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในเขตจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทราอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ประกอบการในภาคการค้ายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ แม้ว่าจะลดลงกว่าไตรมาสก่อน

สำหรับการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการทั่วประเทศในช่วงวันที่ 1-23 พ.ย. 2561 พบว่า  71% มีความกังวลต่อการดำเนินธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้า ส่วนใหญ่ยังคงเป็นความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ รองลงมาเป็นความกังวลเรื่องการเมืองและต้นทุน ตามลำดับ

นอกจากนี้ กรุงศรีได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME เกี่ยวกับการเลือกใช้วิธีการจัดจ้างคนภายนอกแทนที่การทำเองในองค์กร (Outsourcing) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ผลสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการ SME มากกว่าครึ่ง (56%) ยังไม่ตัดสินใจจัดจ้างคนภายนอก โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ขนาดเล็กและกลุ่มธุรกิจภาคการค้า อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ประกอบการที่เลือกจัดจ้างคนภายนอก พบว่าอันดับแรกของงานที่จัดจ้าง คือ ด้านการเงินและบัญชี (52%) ตามด้วยด้านการผลิต (12%) ด้านการขนส่ง (10%) ด้านบุคลากร (10%) และด้านอื่นๆ (6%) สำหรับเหตุผลหลักๆ ที่ผู้ประกอบการตัดสินใจจัดจ้างคนภายนอก เพราะต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (53%) และ เพื่อประหยัดต้นทุน (24%)

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรี คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องที่ 4.1% โดยการใช้จ่ายภายในประเทศจะมีความสำคัญมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น หลังจากอัตราการใช้กำลังการผลิตของหลายกลุ่มอุตสาหกรรมแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปี ผนวกกับมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP fast track) และการเดินหน้าลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะมีแรงส่งต่อเนื่องตามการกระเตื้องของรายได้ภาคเกษตร รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและการจ้างงานนอกภาคเกษตร