มาร์เก็ตเพลส ถือเป็นช่องทางการขายสินค้าที่สำคัญสำหรับร้านค้าออนไลน์จำนวนมากในปัจจุบัน เพราะเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคเข้ามาเยี่ยมชมมากที่สุดช่องทางหนึ่ง ดังนั้น หากร้านค้าเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้ามาซื้อสินค้าในมาร์เก็ตเพลส เข้าใจเกณฑ์การคัดเลือกและแสดงผลต่างๆ ของมาร์เก็ตเพลส และรู้จักคู่แข่งในตลาด ก็จะช่วยให้ร้านค้าปรับกลยุทธ์ของตัวเองได้ง่ายขึ้น
บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น “Priceza” เครื่องมือค้นหาสินค้าและบริการเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) อันดับหนึ่งของไทย จึงได้จัดเสวนาหัวข้อ “การปรับตัวของร้านค้าในมาร์เก็ตเพลส” ในงาน “Priceza E-Commerce Trends : The Infinity of E-Commerce Wars 2019” เพื่อช่วยให้เหล่าร้านค้าในมาร์เก็ตเพลส เข้าใจ “หัวใจ” ของการปรับกลยุทธ์ธุรกิจในมาร์เก็ตเพลส
วัชระ นิวาตพันธุ์ ประธานฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ และผู้ร่วมก่อตั้ง (CPO) บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด เผยว่า มาร์เก็ตเพลส มีส่วนช่วยให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น เนื่องจากมีผู้ค้ารายย่อยที่พร้อมเดินเข้ามาฝากร้านเป็นจำนวนมาก เพราะไม่ต้องลงทุนมากและผู้ซื้อพร้อมจะแวะเข้ามาช้อปปิ้งออนไลน์ทุกเมื่อที่ต้องการ โดย Feedback ของนักช้อปออนไลน์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าคนกลุ่มนี้มีความสุขที่สุดเมื่อสินค้ามาถึงหน้าประตูบ้าน จากนั้นเป็นเรื่องของการ “ลุ้น” ว่าสินค้าที่ได้จะเป็นของปลอมหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็จะไปช้อปออนไลน์กันต่อเพื่อเติมเต็มความสุขอีกครั้ง
ไม่เพียงแต่ผู้ค้ารายย่อยจะกระโดดลงสู่สนามมาร์เก็ตเพลส แม้กระทั่งผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ดั้งเดิมอย่างบิ๊กซี เทสโก้ หรือท็อปส์ ก็ยังก้าวเข้ามาเปิดร้านในสนามมาร์เก็ตเพลส เพื่อให้ผู้บริโภคช้อปได้สะดวกขึ้น มีการให้บริการการขายและหลังการขายที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือร้านค้าจำนวนหนึ่งใช้ช่องทางแอปพลิเคชันแชทต่างๆ เข้ามาช่วยบริการ มัดใจผู้บริโภค
“ที่สุดแล้วการปรับตัวของร้านค้าในมาร์เก็ตเพลส คือ 1.การเอาใจใส่ลูกค้าเป็นอย่างดี ตั้งแต่เรื่องของรูปภาพสินค้า รวมถึงคำอธิบายรายละเอียดสินค้าที่ไม่เวอร์เกินจริง รู้ลึกรู้จริงในสินค้านั้นๆ และที่สำคัญจัดโปรโมชั่นถี่ๆ เพื่อจูงใจการเข้ามาช้อปอีกทางหนึ่ง 2.การตอบกลับ Chat ที่รวดเร็ว ไม่ว่าจะช่องทาง LINE, Messenger หรือ Instagram เพราะหากลูกค้าแชทถามแสดงว่าเขาสนใจ และลูกค้ามักคาดหวังการตอบกลับเพียงหลักวินาทีต่อวินาทีเท่านั้น หากร้านไหนตอบเร็วมักส่งผลต่อการตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็วเช่นกัน 3.การจัดส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว เป็นอีกสิ่งที่มัดใจลูกค้าสายออนไลน์เช่นกัน” วัชระ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน บูม หมู่สิริเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เจดี เซ็นทรัล มาร์เก็ตเพลสยักษ์ใหญ่รายใหม่ของตลาด เสริมว่า หากย้อนไปเมื่อก่อนลูกค้าจะเป็นฝ่ายวิ่งมาซื้อสินค้าที่สโตร์ แต่ปัจจุบันสินค้าต้องวิ่งหาลูกค้าแล้ว เนื่องจากพฤติกรรมการช้อปของลูกค้าเปลี่ยนไป ต้องการซื้อง่าย จ่ายง่าย แบบไม่เสียเวลาเดินทาง ร้านค้าปลีกจึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเข้ามาใช้พื้นที่แพลทฟอร์มมาร์เก็ตเพลส
สำหรับแนวทางของมาร์เก็ตเพลสอย่างเจดี เซ็นทรัล จะเน้นรวบรวมสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม สุขภาพและความงาม ของใช้ในบ้าน อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ เป็นต้น ผ่านกลยุทธ์หลักคือ คุณภาพสินค้าต้องเป็น “ของแท้ 100%” สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่ได้ต้องเป็นสิ่งเดียวกัน นี่คือปมปัญหา (Paint Point) สำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเป็นอันดับแรก ดังนั้นการคัดเลือกผู้ค้ามาอยู่บนมาร์เก็ตเพลสจึงต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ พร้อมการการันตีที่โดนใจ “หากเจอสินค้าปลอม คืนเงินให้ 3 เท่า”
นอกจากนี้ ยังวางแผนเพิ่มบริการการจัดส่งสินค้าให้ได้ภายวันเดียว (Same Day Delivery) เนื่องจากนักช้อปออนไลน์จะรู้สึกเซอร์ไพรส์ที่สุด หากสินค้ามาถึงมืออย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ และจะเกิดการรีวิวในทางบวก เกิดกระแสความนิยมชมชอบ และลูกค้าจะรู้สึกเชื่อมั่นมากขึ้น หากร้านนั้นมีการคอมเมนต์หรือรีวิวในทางที่ดี
ในยุคที่ “ลูกค้าเป็นใหญ่” พฤติกรรมการช้อปเปลี่ยนไปตลอดเวลา ความเข้าใจต่อ “หัวใจ” ของการขายสินค้าบนมาร์เก็ตเพลส คือสิ่งที่จำเป็น หากใครมีลูกเล่นที่แพรวพราว ตามเทรนด์ผู้บริโภคทัน และใช้เทคโนโลยีเป็น การเติบโตบนช่องทางออนไลน์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป