ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ค่าใช้จ่ายตรุษจีนปีนี้ เกือบเท่าปีที่ผ่านมา


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ ค่าใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณ 13,560 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.9 โดยเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านการทำบุญ/ท่องเที่ยวเป็นหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเทศกาลตรุษจีนในปี 2562 นี้ ผู้บริโภคที่มีเชื้อสายจีนส่วนใหญ่จะจับจ่ายใช้สอยด้วยความประหยัด แต่จะมีเรื่องมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% สำหรับการใช้จ่ายในช่วงระหว่างวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2562 ถือเป็นมาตรการที่น่าจะช่วยจูงใจให้เกิดเม็ดเงินการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ได้พอสมควร โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณ 13,560 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.9 โดยเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านการทำบุญ/ท่องเที่ยวเป็นหลัก

รายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายที่ประหยัดนั้นมีทั้งการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ การแจกเงินแต๊ะเอีย รวมถึงการทำบุญ/ท่องเที่ยวโดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

  • การเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ ปีนี้ผู้ซื้อส่วนใหญ่เน้นการจัดชุดเครื่องเซ่นไหว้เอง ในสัดส่วนที่สูงกว่าปีก่อน โดยอยู่ที่ร้อยละ 88.0 เทียบกับร้อยละ 80.2 ในปีที่ผ่านมาโดยผู้ประกอบการเครื่องเซ่นไหว้ที่น่าจะได้รับอานิสงส์คือตลาดสดใกล้บ้าน ซึ่งผู้ตอบเลือกเป็นแหล่งซื้อเครื่องเซ่นไหว้อันดับหนึ่งในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่วนห้างสรรพสินค้าจะลดน้อยลง เพราะไม่มีเวลา และการจราจรที่ติดขัด
  • การทำบุญ/ท่องเที่ยว เน้นการเดินทางระยะใกล้ เนื่องจากไม่ใช่วันหยุดราชการ ประกอบกับอาจเพิ่งเดินทางท่องเที่ยวไปเมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่วนใหญ่จึงเน้นการทำบุญหรือท่องเที่ยวในรูปแบบการเดินทางในระยะใกล้ อาทิ วัดในกรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง อาทิ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา เป็นต้น
  • การแจกเงินแต๊ะเอีย ในปีนี้ กลุ่มคนที่เคยให้แต๊ะเอียบางส่วนงดกิจกรรมนี้ เนื่องจากบางส่วนอาจปรับขึ้นเงินเดือนให้กับลูกจ้างในช่วงปีใหม่ไปแล้ว ขณะที่ลูกหลานบางส่วนก็เริ่มทำงานจึงงดส่วนนี้ลง อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มที่ยังคงกิจกรรมให้เงินแต๊ะเอียในปีนี้ เตรียมงบประมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อคนประมาณร้อยละ 2.4 ขณะที่กลุ่มที่ได้รับเงินแต๊ะเอีย ยังคงมีแนวโน้มเก็บออมฝากธนาคารมากที่สุดเช่นเดียวกับปีก่อน ซึ่งทำให้เงินแต๊ะเอียทั้งหมดอาจไม่ได้เข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในทันที

ปัจจัยเสริมจากมาตรการภาครัฐช่วยหนุนการใช้จ่าย แม้ว่ามุมมองด้านกำลังซื้อของประชาชนในกรุงเทพฯ จะไม่ค่อยสดใส แต่มุมมองทางด้านปัจจัยเสริมอื่นๆ กลับมีทิศทางในเชิงบวก โดยเฉพาะมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% สำหรับการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2562 ในวงเงินค่าใช้จ่ายไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 60 เห็นว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้นและสินค้ามีราคาถูกลง

โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณ 13,560 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับเพิ่มทางด้านค่าใช้จ่ายการทำบุญ/ท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องเซ่นไหว้ให้ภาพที่ทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนเงินแต๊ะเอียมีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างเด่นชัดกว่ากิจกรรมอื่นๆ