ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

กสอ. ดัน 77 สินค้าชุมชนต้นแบบ “ไทยเด่น” เป็นผลิตภัณฑ์อุตฯ เชิงพาณิชย์


กสอ. เผยความก้าวหน้าต่อยอดโครงการ “ไทยเด่น” หวังเปลี่ยนภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนดั้งเดิม สู่ผลิตภัณฑ์โฉมใหม่ ทันสมัย ทันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ผลิตออกสู่ตลาดได้ในเชิงอุตสาหกรรมพาณิชย์ ก้าวระดับประเทศ ข้ามขั้นสู่สากล จึงจัดเวิร์คช็อปติวเข้มข้น เพิ่มหลักสูตรด้านบริหารจัดการต้นทุน การคิดและบันทึกกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เรียนรู้กระบวนการ  การันตีผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานสากล ด้วยการรับรองมาตรฐาน อ.ย. GMP

นายกอบชัย  สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)  เปิดเผยว่า ผลความก้าวหน้าโครงการ “ไทยเด่น” 77 ผลิตภัณฑ์ 77 จังหวัด  กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และหน่วยงานเครือข่าย  ได้ร่วมเฟ้นหาและคัดเลือกผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเด่นมีอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดจำนวน 3 รายต่อจังหวัดทั่วประเทศ ได้แล้วรวมทั้งสิ้น 231 ราย   

ขณะนี้ กสอ. กำลังดำเนินการให้ผู้ประกอบการชุมชนเหล่านี้ ได้รับรู้การเปิดมุมมองวิสัยทัศน์และพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาตัวสินค้า รูปลักษณ์สินค้า รสชาติใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาด  เป็นต้น เพื่อผลักดันคิดค้นโปรดักส์ใหม่ที่เป็นต้นแบบสู่ตลาด พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ให้ภาพลักษณ์ใหม่สวยงาม ทันสมัยขึ้น แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ชุมชนดั้งเดิม  และคาดหวังให้เป็น Product Hero ของแต่ละจังหวัดต่อไป พร้อมกับสามารถผลิตเป็นอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งหลายจังหวัดได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต้นแบบออกมาได้สำเร็จแล้วในหลายจังหวัด เช่น ชลบุรี กาญจนบุรี  ปทุมธานี เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อสร้างความพร้อมและเพิ่มองค์ความรู้ที่ผู้ประกอบการชุมชนควรรับรู้ ทำความเข้าใจที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ต้นแบบนั้นแล้ว เพื่อให้ได้ก้าวเข้าสู่การผลิตเป็นอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ได้จริง  ในขั้นตอนต่อไป กสอ. จำเป็นต้องเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตหลายองค์ประกอบ ตามระบบการผลิตที่ได้ระดับมาตรฐานสากลด้วย

กสอ. และหน่วยงานเครือข่าย จึงได้เร่งพัฒนาต่อยอดโครงการไทยเด่น โดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ และทำ Work Shop ร่วมกัน เสริมความเข้มข้นในเนื้อหาองค์ความรู้ยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมชุมชนเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการชุมชนมีความสามารถเพิ่มและยกระดับศักยภาพการผลิตขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการต้นทุนผลิต การคิดต้นทุน การบันทึกกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ผู้ประกอบการชุมชนได้คิดเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้การปรับปรุงและการจัดการต้นทุนเป็นเรื่องจำเป็นต่อการทำให้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบออกสู่ตลาดได้สำเร็จ แต่ละผู้ประกอบการมีศักยภาพที่มีความแตกต่างกัน

รวมทั้งเพื่อปูทางให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชุมชน Product Hero ของแต่ละจังหวัด เป็นสินค้าต้นแบบของชุมชนที่การันตีการได้ก้าวสู่ระดับประเทศและได้มาตรฐานในตลาดสากล  Work Shop ดังกล่าวจึงเพิ่มความเข้มข้นในองค์ความรู้เกี่ยวกับด้านการยกระดับมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมชุมชนสู่มาตรฐานสากลอีกด้วย  อาทิ ISO9001 ฉบับชุมชน แนวทาการขอรับการรับรองมาตรฐาน ISO9001 และความรู้เกี่ยวกับของมาตรฐาน อ.ย. และ  GMP เป็นต้น

การจัดอบรมและ Work Shop ดังกล่าว เพิ่งได้จัดในพื้นที่ของภาคตะวันออก ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 100 กว่ารายไปเรียบร้อยแล้ว  กำลังดำเนินการจะจัดอบรมและ Work Shop ในภาคอื่นต่อเนื่องอีก  เช่น ภาคเหนือที่จังหวัดพิษณุโลก  ภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี  เป็นต้น ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ศกนี้ และคาดว่าจะได้เห็นรูปลักษณ์ใหม่ของ Product Hero  แต่ละจังหวัดในเดือนมีนาคม 2562

นางสาว นันทินา เชียงทอง เจ้าของผลิตภัณฑ์ผ้าข้าวม้าแปรรูป แบรนด์ “โชคกิตติ” ผู้ที่ได้รับการเข้าอบรมและจัดทำ Work Shop เชิงปฏิบัติการกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต กล่าวว่า  พอใจมากที่ได้เข้ามาร่วมโครงการไทยเด่นและได้อบรมเกี่ยวกับการคิดต้นทุนในกิจกรรมดังกล่าวนี้ เพราะให้ประโยชน์มาก ได้รับความรู้ และคำแนะนำที่ไปทำการแปรรูปและผลักดันการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตนของพื้นที่ให้มีความโดดเด่น และมีเอกลักษณ์ เพิ่มยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมอีก สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้มากขึ้นอีกด้วย

ความรู้ที่ได้รับ เราจะนำมาพัฒนาเป็นคอลเลคชั่นผ้าขาวม้าใหม่ๆ เช่น ทำเป็นเซ็ตคอลเลคชั่น คือ มีทั้งหมวก ผ้าพันคอ และอื่นๆ เพื่อสร้างให้เกิดจุดเด่นในการขายสินค้าและมีความน่าสนใจของลูกค้าที่มาซื้อ เนื่องจากผ้าข้าวม้าโชคกิตติมีความเป็นเอกลักษณ์ เป็นลายผ้าโบราณ  ในด้านลวดลายที่เป็นของตนเอง จนได้ชื่อว่า “ผ้ามงคลแต่โบราณ” มาอย่างยาวนานสำหรับใช้ในพิธีมงคลต่างๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น คุณภาพผ้าสีไม่ตก ไม่หด ยิ่งใช้ยิ่งนิ่ม และต้องการต่อยอดงานขายไปยังต่างประเทศด้วย