ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

“SME มือใหม่”… รู้ยัง!!! จ่ายประกันสังคม ยังไง?


หนึ่งในสิ่งที่ SME มือใหม่ต้องรู้ นอกเหนือจากความรู้เกี่ยวกับภาษี ยังจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน และหนึ่งในกฎหมายแรงงานที่ต้องรู้คือความเข้าใจเกี่ยวกับประกันสังคม เพื่อดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ ให้กับลูกจ้างได้อย่างถูกต้อง

ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้และจ่ายเงิน สมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อรับผิดชอบในการเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพและว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อ SME เป็นผู้ประกอบการใหม่ถือว่าเป็นนายจ้างก็มีหน้าที่ในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฏหมายเพื่อมีผลคุ้มครองลูกจ้าง โดยนายจ้างจะต้องยื่นแบบ และมีหน้าที่ดังนี้

1.แบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส. 1-01)
นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้าง เป็นผู้ประกันตน ภายใน 30 วัน และเมื่อมีการรับลูกจ้างใหม่เพิ่มขึ้นต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วัน เช่นกัน มิฉะนั้นจะมีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงในวันยื่นแบบขึ้นทะเบียน

  • กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล (ต้องใช้เอกสารแนบทุกข้อที่กำหนด) ประกอบไปด้วย แบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส. 1-01),สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลพร้อมวัตถุประสงค์,สำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ช.20) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4),แผนที่ตั้งของสถานประกอบการ,หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด)
  • กรณีเจ้าของคนเดียว (ต้องใช้เอกสารแนบทุกข้อที่กำหนด)สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประชาชน (คนต่างด้าวใช้สำเนาหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว),สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน,สำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนพาณิชย์ หรือใบอนุญาตให้ประกอบกิจการที่ออกตามกฏหมายอื่น ซึ่งระบุชื่อที่อยู่ชัดเจน,สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) หรือสำเนาภาพถ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.20),แผนที่ตั้งของสถานประกอบการ,หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด)

2.แบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03)
สำหรับผู้ที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาก่อนหรือแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03/1) นายจ้างสามารถส่งข้อมูลผู้ประกันตน (ลูกจ้าง) แก่ประกันสังคม ได้ 3 วิธีดังนี้

  • ยื่นตามแบบฟอร์มแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03) แบบขึ้้นทะเบียนผู้ประกันตน สำหรับผู้ที่เคยยื่นแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน สปส. 1-03 (สปส. 1-03/1) หนังสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส. 6-09) แบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส. 6-10)
  • ยื่นข้อมูลด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Diskette)
  • หรือยื่นผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Internet)

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงในวันยื่นแบบขึ้นทะเบียน

  • กรอกแบบฟอร์มขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03)
  • บัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอื่นๆ ที่สามารถแสดงตนได้
  • ใบอนุญาตทำงานและสำเนาหนังสือเดินทางหรือใบอนุญาติทำงานและใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ในกรณีผู้ประกันตนเป็นชาวต่างชาติ
  • ลูกจ้าง ที่เคยยื่นแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาแล้ว ให้แจ้งการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03/1) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน

นายจ้างสามารถยื่นเรื่องขอเป็นผู้ประกันตนเองได้หรือไม่
ทั้งนี้ผู้ประกอบการหน้าใหม่บางรายอาจจะยังไม่ทราบว่า หากคุณอยู่ในสถานะของนายจ้าง คุณไม่สามารถยื่นเรื่องให้ตนเองเป็นผู้ประกันตนได้

3.นำส่งเงินสมทบแก่ประกันสังคม (ทำได้ 2 วิธี)
นายจ้างจะต้องหักเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง โดยคำนวณเงินสมทบค่าจ้างหากได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 1,650 บาท ให้คำนวณจาก 1,650 บาท แต่ถ้าได้รับค่าจ้างเกิน 15,000 บาท โดยคูณกับอัตราเงินสมทบที่ต้องนำส่ง สำหรับเศษของเงินสมทบที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าสิบสตางค์ขึ้นไปให้ปัดเป็นหนึ่งบาท ถ้าน้อยกว่าให้ปัดทิ้ง

จากนั้นนำส่งเงินสมทบส่วนของนายจ้างในจำนวนเท่ากับที่ลูกจ้างทั้งหมดถูกหักรวมกัน พร้อมจัดทำเอกสารตามแบบ สปส. 1-10 ส่วนที่ 1 และ สปส. 1-10 ส่วนที่ 2 หรือจัดทำข้อมูลลงแผ่นดิสเก็ต หรือส่งทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งต้องนำส่งสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ เป็นเงินสดหรือเช็ค ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หรือชำระเงินผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต สาขาในจังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่

หากนายจ้างไม่ส่งเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างจะเป็นอย่างไร
ถ้านายจ้างส่งเงินสมทบไม่ทันหรือส่งไม่ครบจะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ไม่ได้ส่งหรือจำนวนเงินที่ขาดอยู่ โดยต้องนำส่งด้วยตัวเองที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่หรือสำนักงาน ประกันสังคมจังหวัดเท่านั้น แต่หากนายจ้างกรอกแบบแสดงการส่งเงินสมทบ (สปส.1-10) ไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจะสั่งให้นายจ้างกรอกแบบฟอร์มให้ถูกต้อง หากยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องอีกจะมีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

4.กรณีที่มีลูกจ้างลาออกจากงานต้องทำอย่างไร
เมื่อมีลูกจ้างลาออกจากงาน ให้นายจ้างแจ้งการออกจากงานโดยระบุสาเหตุการออกจากงานโดยใช้หน้งสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

5.กรณีที่ลูกจ้างมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดต้องทำอย่างไร
หากลูกจ้างมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเช่น เปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุลหรือข้อมูลสถานพยาบาลครอบครัวและข้อมูลจำนวนบุตรให้ใช้หน้งสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส. 6-10) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เช่นเดียวกันกับนายจ้างหากมีรายละเอียดอย่างเช่น เปลี่ยนชื่อกิจการ เปลี่ยนแปลงที่อยู่ของลำดับที่สาขา ย้ายสถานประกอบการ หรือยกเลิกกิจการ เป็นต้น นายจ้างต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงโดยใช้หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง (สปส. 6-15) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าในการที่นายจ้างไม่ดำเนินเรื่องตามพระราชบัญญัติประกันสังคมนั้นจะมีความผิดทั้งจำและปรับ แถมปัจจุบันนี้ระบบการทำงานของประกันสังคมมีความทันสมัยขึ้นมากใช้เวลาในการดำเนินเรื่องไม่นาน ฉะนั้นนายจ้างหน้าใหม่อย่าลืมไปยื่นเรื่องให้ถูกต้อง ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องยากมากนัก

ขอขอบคุณ th.jobsdb.com