ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เปิดวิสัยทัศน์ “ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” แห่ง “ไพรซ์ซ่า กับยุทธศาสตร์ดันสินค้า “เอสเอ็มอี” เข้าสู่ “Market Place”


ปัจจุบันเรามักจะได้ยินคำว่า “Market Place” กันอย่างหนาหู และคุ้นเคยกับคำๆ นี้ไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ กลุ่มธุรกิจ และ “ผู้บริโภค” อย่างเราๆ ซึ่งหากจะพูดถึงความพิเศษของช่องทางตลาดช่องทางนี้ ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อย เพราะเป็นศูนย์รวมสินค้าหลากหลายประเภท หลากหลายราคา และหลากหลายผู้ประกอบการ มาไว้ในจุดๆ เดียวกัน เมื่อมีลูกค้าหรือผู้สนใจที่จะสั่งซื้อสินค้าประเภทไหน ก็สามารถค้นหาเปรียบเทียบราคาและตัดสินใจซื้อได้ในทันที โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปเลือกดูหลายร้านให้เหนื่อยแต่อย่างใด

“ไพรซ์ซ่า” เป็นหนึ่งใน Market Place ที่น่าสนใจและมีความโดดเด่น ในเรื่องของการรวบรวมสินค้าหลากหลายประเภท จากแบรนด์ดังชั้นนำ มีการเปรียบเทียบราคาเพื่อช่วยให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญในแง่ของธุรกิจเอสเอ็มอี หรือสินค้าโอทอปก็ยังสามารถนำมาวางขายกับทาง “ไพรซ์ซ่า” ได้อีกด้วย

ทีมงาน เอสเอ็มอี ชี้ช่องรวย ได้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับ คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด (Priceza Co., Ltd.) และ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ถึงความเป็นมาตั้งแต่ครั้งก่อตั้งธุรกิจ แนวความคิดด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตลอดรวมไปถึงแผนการดำเนินธุรกิจที่จะมีส่วนช่วยผลักดันช่วยเหลือผู้ประการเอสเอ็มอีให้สามารถเติบโตและเดินหน้าสู่ตลาดโลกได้

เปิดมุมมองการทำธุรกิจของ “ไพรซ์ซ่า”

ไพรซ์ซ่า เริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2010 เราเติบโตมาจากการเป็นเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าในราคาดีที่สุด โจทย์ตอนแรกที่เราต้องการทำ คือ เปรียบเทียบราคา หลังจากนั้นก็ขยายสโคปงานมากขึ้น จากจุดแรกที่เน้นการเปรียบเทียบราคาเป็นหลัก ต่อมาเราขยายไปจุดที่ 2 คือ ไพรซ์ซ่าจะไม่ใช่เพียงเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาอีกต่อไป แต่เป็นเว็บไซต์ที่ทำการรวบรวมสินค้าต่างๆ ซึ่งจะช่วยผู้บริโภคเปรียบเทียบทั้งราคา สินค้า เปรียบเทียบโปรโมชั่น และร้านค้า และยังช่วยในเรื่องการค้นหาอีกด้วย ปัจจุบันไพรซ์ซ่าเป็นเครื่องมือค้นหาการช้อปปิ้ง (Shopping Serge Engine) ครอบคลุมมากที่สุดในประเทศไทย มีสินค้าอยู่ในระบบประมาณ 60 ล้านตัว ครอบคลุมสินค้าหลากหลายประเภท ไม่เจาะจงเฉพาะสินค้าที่ผู้คนต้องการเปรียบเทียบราคา แต่จะครอบคลุมไปถึงกลุ่มสินค้าแฟชั่น สินค้าตกแต่งบ้าน และขยายไปสู่สินค้าการเงินด้วย ไม่ว่าจะเป็น ประกันรถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเงินสด (Cache card) สินค้าทางการที่หลากหลาย เราทำงานกับบริษัทประกัน ทำงานกับสถาบันการเงิน หรือกับธนาคาร ฉะนั้น ด้วยจุดประสงค์ต้องการตอบโจทย์ของผู้ใช้มากขึ้น เราสามารถช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการให้ได้อย่างดีที่สุด ให้ตรงใจเขาเหล่านั้นให้มากที่สุดแล้วได้ราคาที่ดีที่สุดด้วย

มุมมองพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน

ผู้บริโภคในปัจจุบันเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ข้อมูลอยู่เพียงแค่ปลายนิ้วมือของผู้บริโภคเท่านั้น ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าถึงข้อมูลก็มีเพียงสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ฉะนั้น ตอนนี้บริการอะไรที่จะช่วยให้เข้าถึงข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ คือ 1.ต้องรวดเร็ว 2.ต้องครอบคลุม 3.ต้องง่าย บริการเหล่านั้นจะช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ดี
ในปีที่ผ่านมา ไพรซ์ซ่า ประเทศไทยมีผู้เข้ามาใช้ประมาณ 10 ล้านคนต่อเดือน มีอัตราการซื้อเมื่อเดือนพฤศจิกายนเฉลี่ยประมาณ 3 % ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2016 จะอยู่ราวๆ 1 % ขึ้นมาเป็น 2 % ในปี 2017 แสดงว่าอัตราการซื้อเติบโตขึ้น ซึ่งบ่งบอกถึงพฤติกรรมคนที่แต่เดิมนั้นจะค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต แต่สุดท้ายก็จะไปซื้อที่ร้านค้า แต่ปัจจุบันอัตราการซื้อเติบโตมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า คนไทยเริ่มมีความมั่นใจในการช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้นด้วย

ในปีนี้ 2562 ในส่วนของแพลตฟอร์มของไพรซ์ซ่าเรามีสัดส่วนประมาณ 10 ล้านรายต่อเดือน ปีนี้จึงตั้งเป้าที่จะเติบโตขึ้นในแง่ของจำนวนผู้ใช้ และในแง่ของความครอบคลุมของสินค้าให้หลากหลายมากขึ้นด้วย เชื่อว่าจากปัจจุบันที่เรามีสินค้าครอบคลุม 60 ล้านตัว เชื่อว่าปลายปีนี้จะมีการเติบโตที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย จะไม่อยู่ที่ 60 ล้านตัวแน่นอน หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 20-30 % อย่างแน่นอน และจำนวนผู้ใช้คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว คาดว่าจะเติบโตประมาณ 20 % ในแพลตฟอร์มประเทศไทย

“สิ่งที่ไพรซ์ซ่ามีคือความครอบคลุมของสินค้าและร้านค้าที่หลากหลายที่สุดของประเทศไทย รวมทั้งราคาที่สดใหม่ในทุกๆ วัน รวมทั้งโปรโมชั่นสินค้าที่หลากหลายด้วย เราจะจับมือกับพันธมิตรเพื่อช่วยให้เราเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างได้มากขึ้นอีก และนี่คือโจทย์สำคัญของเราในปีนี้”

มุมมองการเป็น Market Place

เรามุ่งจุดมุ่งหมายไปที่ผู้บริโภคเป็นหลัก คือ ผู้ใช้ต้องการความหลากหลายและครอบคลุม มีตัวเลือกในการเปรียบเทียบและราคาที่ดีตามต้องการ มองว่าตอนนี้เราเป็นเหมือนตัวกลางและเป็นตัวเลือกที่ดีให้กับผู้บริโภค เราครอบคลุมทั้งร้านค้าที่เป็น Market Place เช่น ลาซาด้า Shopee และ เจดีเซ็นทรัล และรายที่ 4 คือ พีซี โฮม มาร์เก็ตเพลส นอกจากนี้ ยังมีร้านค้ากลุ่มใหญ่อีกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น พาวเวอร์บาย เซ็นทรัล โฮมโปร บิ๊กซี เทสโก้โลตัส ซูปเปอร์สปอร์ต โรบินสัน กลุ่มนี้เป็นอีกกลุ่มที่คนไทยเชื่อถือ และต้องการเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าเหล่านี้เยอะมาก ฉะนั้น ไพรซ์ซ่าเรามีความครอบคลุมที่มากกว่า

วางระบบอย่างไร

เราวางตัวเองให้เป็นเครื่องมือค้นหาการช้อปปิ้ง (Shopping Serge Engine) เพราะฉะนั้นผู้ใช้อยากจะซื้ออะไรก็เพียงแค่พิมพ์ตรงช่องค้นหาเท่านั้น หลังจากค้นหาแล้ว เราจะแสดงร้านค้าที่หลากหลายให้เขาเลือก มีลูกค้าแนะนำเข้ามาบ้างเกี่ยวกับการเพิ่มเติมร้านค้า หรือต้องการนำสินค้าเข้ามาลิฟต์ในไพรซ์ซ่าทำอย่างไร และสินค้าหมวดไหนที่เป็นที่นิยม ขณะนี้เรามีพนักงานที่ประเทศไทย 80 คน และพนักงานที่อินโดนีเซีย 4 คน บริหารรวมศูนย์กันที่นี่ ทีมงานอินโดนีเซียจะเป็นเหมือนทีมย่อยที่ทำงานร่วมกับทีมของที่นี่ จะเป็นในแง่ของฝั่ง Sale Marketing ที่ต้องมีการพูดคุยกับพันธมิตรของเราที่นั่น

“อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในภูมิภาคนี้ อัตราการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็มาก ประมาณการว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซียจะมีประมาณเกิน 50 % ของตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ ด้วยสถานการณ์ตลาดที่นั่นมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงและมากกว่าไทยซึ่งมีผู้เล่น Market Place ในไทยตอนนี้มีประมาณ 3 ราย แต่ที่อินโดนีเซียมีผู้เล่น Market Place ต่ำๆ อย่างน้อย เกือบ 10 ราย ตอนนี้ ไพร์ซซ่า มีให้บริการอยู่ 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และมีความเป็นไปได้ว่าเราจะนำเอาร้านค้าจากต่างประเทศเข้ามาในไทยด้วย”

ในแง่ของธุรกิจเอสเอ็มอี มีนโยบายที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างไร

ในแง่ของเอสเอ็มอี ตอนนี้ถือว่าเป็นโอกาส เพราะสามารถเข้าถึงสื่อโฆษณาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้เรื่อยๆ การที่เอสเอ็มอีมีโอกาสเข้าถึงสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยเทคโนโลยี ด้วยเทรนด์ ซึ่งไพรซ์ซ่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ ที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึง และสร้างยอดขายให้กับร้านค้าผู้ประกอบการได้ ปัจจุบันคนที่ช้อปปิ้งออนไลน์จะช้อปปิ้งจากหลากหลายช่องทาง

จากตัวเลขผู้ประกอบการที่สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยหรือ ไทยอีคอมเมิร์ซ ทำสถิติออกมาซึ่งรวมและอ้างอิงจากหลายๆ แหล่งข้อมูล พบว่าในปี 2017 คนไทยช้อปปิ้งจาก 3 ช่องทางหลัก คือ 1.E- Market Place 35 % 2.Online Reteler 25 % เช่น เทสโก้ออนไลน์ บิ๊กซีออนไลน์ 3.เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือ Social Commerce 40 %

ทำให้ทราบถึงพฤติกรรมคนไทยที่ไม่ได้ซื้อสินค้าจากช่องทางใดช่องทางหนึ่งเป็นหลัก หมายความว่า โซเชียลมีเดียยังเป็นช่องทางหลักที่ยังมีความสำคัญ แปลว่า ในแง่ของเอสเอ็มอีถ้าอยากจะขายของออนไลน์ควรใช้หลากหลายทั้ง 3 ช่องทาง ทั้ง E-Market Place ก็ควรจะเข้าไป การขายผ่านเว็บไซต์ของตนเอง และช่องทางโซเชียลมีเดีย เพราะสุดท้าย www.com กับโซเชียลมีเดียมันผูกกัน เพราะพฤติกรรมของคนไทยมักจะเสิร์จเข้าไปที่เว็บไซต์ เสร็จแล้วอาจจะทักไลน์ไปหรือทักเฟสบุ๊คเพื่อถามรายละเอียดสินค้า เป็นต้น สุดท้ายก็ปิดการขายบน Chat นั่นเอง เพราะฉะนั้นเว็บไซต์กับโซเชียลคอมเมิร์ซมันจะส่งเสริมกันและกัน เพราะฉะนั้นการแข่งขันบน E-Market Place ก็จะมีการแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

“ร้านค้าหลายร้านมีการปรับตัวได้ดีมาก เปิดบน E-Market Place เสร็จแล้วยังเปิดเว็บไซต์ และเปิดโซเชียลคอมเมิร์ซของตัวเองเพื่อสร้างตัวตนและสร้างการจดจำให้กับลูกค้า การสร้าง www.com เป็นการสร้างฐานลูกค้าชั้นดีเอาไว้เป็นสิ่งที่สำคัญ ทำอย่างไรที่จะทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ ทำอย่างไรที่จะทำให้ลูกค้าจำได้ว่าซื้อสินค้ากับเรา ฉะนั้น ไพรซ์ซ่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เขาเข้าถึงลูกค้าที่มีความสนใจซื้อโดยตรงได้”

มีพันธมิตรที่เป็นหน่วยงานภาครัฐหรือไม่ มีการประสานงานกันอย่างไร

ตอนนี้มีคุยอยู่กับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ซึ่งเรามีแผนที่จะจับมือในการจัดทำโครงการ SME GO ONLINE โดยไพรซ์ซ่าจะช่วยผลักดันเอสเอ็มอีให้เข้ามาสู่ธุรกิจบนโลกออนไลน์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองและเริ่มขายของออนไลน์แล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ไพรซ์ซ่าจะช่วยสนับสนุนได้ทันที 2.เป็นกลุ่มที่ขายดีมีความพร้อมในเรื่องของการลงทุน และต้องการจะขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเราสามารถช่วยเหลือการเชื่อมโยงไปสู่ปลายทางที่เรามีเครือข่ายอยู่อย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือทั้ง 6 ประเทศ

นอกจากนี้ยังมีการร่วมจับมือกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA ในแง่ของข้อมูลเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ โดยเรามีฐานข้อมูลขนาดใหญ่พร้อมที่จะทำงานด้านสถิติงานวิจัยต่างๆ เป็นต้น

เกี่ยวกับบทบาทการเป็นนายกสมาคมฯ

ภารกิจสมาคมฯ เรามี 3 ข้อหลักๆ คือ 1.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเครื่องมือความรู้ทางด้านอีคอมเมิร์ซเข้ามาช่วยผลักดันให้ธุรกิจมีการเติบโตมากขึ้น 2.สำหรับกลุ่มที่มีความพร้อมแล้ว สามารถเดินหน้าเรื่องขายของออนไลน์ได้แล้ว ก็ช่วยส่งเสริมให้เขาเดินออกไปสู่ตลาดโลกได้แล้ว เพราะอีคอมเมิร์ซไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพียงแค่ในประเทศไทย เรายังมีพันธมิตรมากมายที่มีกำลังซื้อมากกว่าคนไทยอีกมาก ถ้าเทียบแล้วไทยมีสัดส่วนเพียงแค่ 2 % ของมูลค่าอีคอมเมิร์ซเมื่อเทียบกับมูลค่าค้าปลีกทั้งประเทศ ซึ่งเมื่อเทียบกับจีนที่มี 20 % อเมริกา 13 % ซึ่งเมื่อเอา 13 % ไปคูณกับกำลังซื้อของคนอเมริกันทั้งประเทศถือว่าใหญ่มาก เพราะฉะนั้นโอกาสของอีคอมเมิร์ซเราควรจะผลักดันออกนอกประเทศด้วย 3.ช่วยสร้างมาตรฐานในการแข่งขันของผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศให้อยู่ในระดับที่ดีและยุติธรรมมากขึ้น