ปัญหาความขัดแย้ง แย่งชิงน้ำกัน ยังคงมีให้เห็นอยู่ในหลายพื้นที่ ซึ่งในบางพื้นที่ปัญหาเกิดจากการขาดแคลนน้ำ ในบางพื้นที่แม้จะมีน้ำใช้เพียงพอ แต่หากขาดระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดี ย่อมเกิดปัญหาในอนาคต ซึ่งด้วยบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำจึงมีรูปแบบที่แตกต่างกัน คอลัมน์เรื่องเล่าคนใช้น้ำฉบับนี้จึงขอหยิบยก กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำดอยงู อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อีกหนึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน
- จากปัญหาแย่งชิงน้ำ สู่การบริหารจัดการตามกฎ กติกา
นายศรีนวล สายใจ ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำดอยงู เล่าว่า อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่เพาะปลูกซึ่งอยู่บนที่ราบและมีความสูงที่เหมาะสมในการเพาะปลูกพืชหลายชนิด เกษตรกรจึงมีความต้องการน้ำมากโดยเฉพาะในฤดูแล้งในอดีตนั้นได้เคยเกิดเหตุความขัดแย้งเกษตรกรมีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันถึง 11,000 ไร่ แต่กลับมีพื้นที่ใช้น้ำได้เพียง 6,000-7,000 ไร่เท่านั้น ทำให้เกิดการเปรียบเทียบถึงสิทธิในการใช้น้ำที่ไม่เท่าเทียมกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำ ตำบลเวียงกาหลง ตำบลแม่เจดีย์ ตำบลป่างิ้ว และตำบลเวียงป่าเป้า อำเภอเวียงป่าเป้า เพราะต่างคนต่างมุ่งเอาน้ำ ซึ่งหากปล่อยให้เกิดปัญหาเช่นนี้ต่อไป ในอนาคตอาจเกิดการแย่งชิงน้ำที่ทวีความรุนแรงขึ้นในพื้นที่
“จากปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง แย่งชิงน้ำที่ดูจะหนักข้อขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานขึ้นในปี 2557 โดยจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกันหาวิธีบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืนในบริบทพื้นที่ของตนเอง”
- แก้ปัญหาไปทีละข้อ เปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความร่วมมือ
แม้ได้ทำการจัดตั้งเป็นกลุ่มบริหารการใช้น้ำแล้ว แต่สมาชิกทุกคนก็ยังต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ในการสืบค้นข้อมูลปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่โดยเน้นที่การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการจัดเวทีการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน แก้ปัญหาไปทีละข้อๆ ตั้งแต่การสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการบริหารจัดการน้ำที่ถูกวิธี การตั้งกฎ กติกา รวมถึงการสร้างวินัยให้สมาชิกในกลุ่มได้ปฏิบัติกัน เปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความร่วมมือ ปัญหาอุปสรรคต่างๆ จึงเริ่มคลี่คลายลง
- ชูเทคนิคจัดรอบเวรส่งน้ำตามรอบเวรสูตร 3-3-3
นายศรีนวล อธิบายถึงเทคนิคการบริหารจัดการน้ำที่ทางกลุ่มเลือกใช้ว่าเมื่อสมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความสามัคคี เป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว และมีความเห็นอกเห็นใจคนที่ขาดแคลนน้ำ จึงทำให้สามารถกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการน้ำตามบริบทพื้นที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสม
โดยรูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำดอยงูใช้คือ การบริหารการใช้น้ำตามรอบเวรสูตร 3-3-3 วิธีการคือการปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปให้สมาชิกที่อยู่ปลายน้ำได้ใช้ก่อน และจึงค่อยๆ ไล่ขึ้นมายังสมาชิกที่อยู่ต้นน้ำ โดยแบ่งออกเป็นปลายน้ำ 3 วัน กลางน้ำ 3 วันและต้นน้ำ 3 วัน รวมทั้งหมด 9 วันต่อหนึ่งรอบเวร ทำให้สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่ 4 ตำบลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากการแบ่งน้ำตามรอบเวรแล้ว กลุ่มยังมีการผลักดันให้สมาชิกปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าว “โดยใช้วิธีเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว” จากเดิมใช้น้ำ 1,400-1,500 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ เหลือเพียง 800 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ และยังส่งผลให้มีผลผลิตงอกงามเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนคือ จาก 700-800 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 900-1,000 กิโลกรัม/ไร่
“แรก ๆ การบริหารจัดการน้ำในลักษณะนี้ยังไม่ลงตัว เพราะทุกคนต่างก็อยากได้น้ำเร็ว ได้น้ำก่อน เวลาปลายน้ำได้ต้นน้ำไม่ได้ เขาก็ไม่อยากรอ มีการเถียงกันหลายต่อหลายครั้ง แต่พอทุกคนเริ่มเข้าใจแล้วว่าการบริหารจัดการน้ำในลักษณะนี้ทำให้ทุกคนได้รับน้ำทั่วถึงและเท่าเทียมกันถึงแม้จะต้องรอหน่อย แต่มั่นใจว่าได้น้ำแน่นอน ปัญหาความขัดแย้งจึงค่อย ๆ หมดไปจากพื้นที่ของเรา”
- รางวัลจากการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำ สู่การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
จากการบริหารจัดการน้ำซึ่งเห็นผลลัพธ์ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนส่งผลให้เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา กลุ่มได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ดีเด่น ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม : Effective Change โครงการอ่างเก็บน้ำดอยงู อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย (การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน)
“รู้สึกภูมิใจกับรางวัลที่ได้รับเนื่องจากทางกลุ่มเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมมาโดยตลอด แต่วันนี้กลุ่มของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมาก จากในช่วงแรกที่มีการทะเลาะเบาะแว้งรุนแรง แต่ตอนนี้ทุกคนเคารพกฎ กติกา ตระหนักถึงการมีส่วนร่วม ใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่าของน้ำ เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทำให้การบริหารจัดการน้ำของกลุ่มมีความยั่งยืน” นายศรีนวล กล่าวทิ้งท้าย