เมียนมาเป็นอีกหนึ่งประเทศเนื้อหอมที่กำลังได้รับความสนใจ จากนักลงทุน เพราะประเทศเต็มไปด้วยทรัพยากร และโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ยิ่งหลังเปิดประเทศ ยิ่งเป็นโอกาสทองของนักธุรกิจที่ต้องการขยายตลาด
1. ธุรกิจท่องเที่ยวสดใส เห็นได้จากยอดนักท่องเที่ยวที่พุ่งสูงถึง 5 ล้านคน และตั้งเป้าเป็น 7.5 ล้านคนในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้บริษัทท่องเที่ยวยังเพิ่มขึ้นเกือบ 2,000 แห่ง จากเดิมที่มีเพียง 1,623 แห่งเมื่อปี 2557 แถมตอนนี้ ญี่ปุ่นและอังกฤษยังร่วมมือพัฒนา 3 เมืองสำคัญ อย่าง มัณฑะเลย์ ปะเตง มะละแหม่ง ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ตลอดจนการเปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในเขตมณฑลตะนาวศรี แต่ทุกวันนี้ เมืองใหญ่อย่างย่างกุ้งมีโรงแรมแค่ 300 กว่าแห่งนั้น ถ้ารวมที่พักแบบอื่นอย่างโฮสเทลด้วยทั้ง เมียนมาก็มีแค่ 1,000 กว่าแห่งเท่านั้น SME ไทยที่เชี่ยวชาญธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร หรือสปา มีโอกาสเติบโตอยู่แค่เอื้อม
2. ชนชั้นกลางมาแรง ในปี 2563 คาดว่าเมียนมาจะมีชนชั้นกลางที่รวยมากขึ้นถึง 10 ล้านคน และรัฐบาลยังเพิ่มเงินเดือนข้าราชการอีก 50%เพื่อให้ข้าราชการที่มีอยู่ 1.5 ล้านคนมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่จริงๆแล้วอาจจะไม่ต้องรอถึงปี 2563 เพราะทุกวันนี้เห็นชัดเจนว่าคนเมียนมามีกำลังซื้อสูงขึ้น เห็นได้จากสินค้าที่ตอบสนองความสบาย เช่น แอร์ ตู้เย็น มียอดขายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งสินค้า Life Style ยิ่งน่าจับตา เพราะสมัยก่อนการจะหากาแฟคาปูชิโน่สักแก้วในย่างกุ้งยังยาก แต่ตอนนี้มีร้านกาแฟสวยๆ ผุดขึ้นเกิน 20 แห่ง ขายกาแฟที่แพงกว่ากาแฟรถเข็น 10 เท่า หรือ KFC ที่มาเปิดวันแรกก็มีลูกค้าเป็นร้อยๆ คนมายืนต่อคิวรอหลายชั่วโมง เพื่อลองซื้อไก่ทอดที่แพงกว่าไก่ทอดทั่วไปถึง 3 เท่า ที่จริงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะวันนี้ ผู้บริโภคเมียนมามีลักษณะเปิดใจ กล้าลองสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น
3. ธุรกิจรถยนต์น่าจับตา ย่างกุ้งเป็นเมืองที่มีแต่รถยนต์ เพราะมีกฎห้ามใช้มอเตอร์ไซค์ บวกกับรัฐฯ เพิ่งอนุญาตให้นำเข้ารถยนต์ได้ หลังเคยมีข้อจำกัดในการขอใบอนุญาตนำเข้าในช่วงปิดประเทศ ทำให้จำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนในเมียนมาเพิ่มขึ้นจาก 200,000 คัน เป็น 400,000 คันภายในเวลา 2 ปี เมื่อรถยนต์เพิ่มขึ้น หลายธุรกิจที่จะเติบโตไปพร้อมกันกำลังตามมา เช่น ประกันภัยรถยนต์ อะไหล่รถยนต์ คาร์แคร์ ดังนั้น SME ที่มีธุรกิจนี้อยู่ พลาดโอกาสดีๆแบบนี้ไม่ได้เด็ดขาด
4. เรื่องสวยงามมองข้ามไม่ได้ ปี 2556 อุตสาหกรรมความงามในเมียนมามีมูลค่าตลาดมากถึง 11,000 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มเส้นผมโตมากสุด 97% รองลงมาคือกลุ่มผิวหน้า 70% คลินิกเสริมความงามก็ไปได้สวยเช่นกัน วันนี้ คลินิกความงามยักษ์ใหญ่สัญชาติไทยเปิดสาขาในเมียนมากันหมดแล้ว SME ไทยรายอื่นอย่าเพิ่งถอดใจเพราะยังมีที่ว่างอีกมากมายสำหรับทำธุรกิจสวยๆ งามๆ
5. ไอทีและออนไลน์แรงไม่หยุด ปัจจุบันเมืองสำคัญของเมียนมาใช้ 3G เกือบทั้งหมด แถมค่าซิมการ์ดก็เหลือแค่ 1500 จ๊าด หรือราวๆ 50 บาท จากที่แต่ก่อนราคาแพงถึง 60,000 บาท ทำให้ยอดขายซิมการ์ดแต่ละเดือนเลยเฉลี่ยสูงถึง 350,000 อัน ชาวเมียนมากว่า 14 ล้านคนมีมือถือใช้ และ 20% เริ่มหันมาใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ แถมชาวเมียนมาก็ใช้โซเชียลมีเดียไม่ต่างจากบ้านเรา แอพพลิเคชั่นฮิตสุดคือ ไวเบอร์ และ Facebook ดังนั้น SME อุปกรณ์ไอทีมีโอกาสดีๆรออยู่มากมายและที่สำคัญธุรกิจขายของออนไลน์ในเมียนมาเกิดขึ้นแน่นอนในไม่ช้านี้
6. Made in Thailand มีชัยไปกว่าครึ่ง สินค้าจากไทย อย่างไรก็ขายได้ เพราะชาวเมียนมาชื่นชอบสินค้าไทยมาก จนสินค้าจากบางประเทศใช้ภาษาไทยบนหีบห่อเพราะอยากให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นสินค้าจากประเทศไทยแต่ถ้าหาก SME อยากบุกตลาดจริงจังอาจต้องเข้าถึงผู้บริโภคให้ถูกทาง เช่น แจกสินค้าให้ลูกค้าทดลองใช้ฟรี นอกจากทำให้ลูกค้ารู้จักสินค้าแล้ว ยังเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าและแบรนด์ไปในตัว
7. เริ่มต้นจากตลาดค้าชายแดนก่อน SME ไทยอาจเริ่มจากเข้าไปค้าขายตามชายแดนก่อน โดยสินค้าที่ขายควรลงรายละเอียดสินค้าเป็นภาษาพม่า เช่น ฉลาก วิธีใช้ เหมือนอย่างมุกดา มาร์เก็ต โชห่วยไทยขวัญใจชาวเมียนมาประจำด่านแม่สอด ที่มีภาษาพม่าในร้าน และมีพนักงานชาวเมียนมาให้บริการ เพราะทุกวันจะมีพ่อค้าคนกลางจากเมียนมามาซื้อของไปขายต่อเยอะมาก อีกวิธีที่น่าลอง คือ การอาศัยตัวแทนจำหน่ายคนไทยที่เปิดร้านขายสินค้าไทยในเมียนมา ในการเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าไทยสู่เมียนมา นอกจากมีหน้าร้านขายสินค้าแล้วยังช่วยโปรโมตเป็นภาษาพม่า และทำหน้าที่ช่วยเจรจาระหว่าง SME ไทยกับชาวเมียนมาที่สนใจเป็นตัวแทนนำสินค้าไปขายต่อ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ SME ไทยขยายตลาดไปยังเมียนมาได้ง่ายขึ้น
8. สื่อทีวีเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย ทีวีคือสื่อหลักที่เข้าถึงชาวเมียนมาได้มากสุดถึง 94% ชาวเมียนมา 48% ตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการเพราะโฆษณาทีวี ซึ่งค่าโฆษณาทีวีช่วงไพรม์ไทม์ มีราคาประมาณ 48,000 บาท ต่อ 30 วินาทีเท่านั้น
9. ต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ รัฐบาลเมียนมาอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ 3 แบบ คือถือหุ้น 100% (Full Ownership) ร่วมทุนกับชาวเมียนมาหรือหน่วยงานภาครัฐเมียนมา (Joint Venture) และลงทุนในลักษณะหุ้นส่วน (Partnership) แต่ SME ต้องพิจารณาให้ดีเพราะแต่ละธุรกิจจะมีเงื่อนไขต่างกัน เช่น สนามกอล์ฟลงทุนแบบ Joint Venture ได้เท่านั้น ธุรกิจนิตยสารเฉพาะทางภาษาต่างประเทศ รัฐฯ กำหนดให้ชาวเมียนมาต้องถือหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 51หรือถ้าเป็นธุรกิจโรงแรม 4-5 ดาว จะสามารถลงทุนได้ 100% เพราะเมียนมายังมีโรงแรมน้อยมาก ถ้าอยากเข้าไปลงทุน ขอแนะนำว่า SME ควรหาพันธมิตรทางธุรกิจชาวเมียนมาให้ได้ก่อน
ผู้ประกอบการ SME ที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในเมียนมาจึงควรเดินทางไปสำรวจตลาดจริงให้เห็นสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และวิถีชีวิต ของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง เพื่อนำมาวางแผนธุรกิจบุกตลาดที่มีโอกาสมากมายให้ SME ไทยรีบคว้ามาครอบครอง
ขอขอบคุณข้อมูล : KSME Bank