กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติ เตรียมลงพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง พบปะเกษตรกรและจัดสัมมนาชี้โอกาสเกษตรกรไทยสร้างรายได้จากเอฟทีเอต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 หลังจากการดำเนินงานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ ค้นพบสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพและอนาคตสดใส
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการหารือกับว่าที่ร้อยตรี สมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อประเมินผลการผนึกกำลังร่วมมือทำงานระหว่างกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ผ่านการจัดสัมมนาและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรมาแล้ว 4 ครั้ง
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (จังหวัดอุดรธานี) สินค้าสมุนไพร ขิง ข่า กระชาย ไม้ดอกไม้ประดับ ภาคตะวันออก (จังหวัดปราจีนบุรี) สินค้าสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ ภาคเหนือตอนบน (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) สินค้าชา กาแฟ สมุนไพร ธัญพืช และภาคเหนือตอนล่าง (จังหวัดสุโขทัย) สินค้ากาแฟ ส้ม ชาดอกกาแฟ ละมุด และใบตองตานี
ซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากเห็นว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการจัดเวทีวิเคราะห์สินค้าของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญเพื่อไปพัฒนาปรับปรุงผลผลิตการเกษตรให้ถูกใจผู้บริโภค และการพัฒนาผลผลิตให้มีความพร้อมส่งออกโดยใช้โอกาสที่ประเทศคู่ค้ายกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรจากไทยภายใต้เอฟทีเอ ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงมีการจับคู่ธุรกิจและสร้างเครือข่ายระหว่างกันด้วย
นางอรมน เสริมว่า จากความสำเร็จดังกล่าว กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและสภาเกษตรกรแห่งชาติจึงได้ร่วมกันจัดขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยเดือนพฤษภาคมนี้จะลงพื้นที่และจัดสัมมนาในภาคใต้ (จังหวัดสงขลา) โดยมีสินค้าเป้าหมายคือ มังคุด มะม่วงเบา เงาะ ลองกอง ผลไม้อบแห้ง ประมงแปรรูป และผ้าทอพื้นเมือง และในเดือนมิถุนายนจะลงพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จังหวัดศรีสะเกษ)
โดยมีสินค้าเป้าหมายคือ ทุเรียน เงาะ สมุนไพร และผ้าไหมมัดหมี่ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจและการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปประเทศคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น ซึ่งได้ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรจากไทยแล้ว ให้เกิดผลสำเร็จเหมือนการดำเนินการที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรกลุ่มกสิกรรม ปศุสัตว์และประมง (ไม่รวมสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร) สู่ตลาดโลกกว่า 23.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ 17 ประเทศมูลค่า 14.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 64 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด โดยประเทศคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรก คือ
1) จีน ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน มูลค่ากว่า 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 738 เมื่อเทียบกับปี 2545 (ก่อนที่จีนจะเริ่มลดภาษีสินค้าเกษตรให้ไทย)
2) อาเซียน ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปอาเซียนมูลค่ากว่า 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 667 เมื่อเทียบกับปี 2535 (ก่อนที่อาเซียนจะเริ่มลดภาษีสินค้าเกษตรให้ไทย)
3) ญี่ปุ่น ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปญี่ปุ่น มูลค่ากว่า 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับปี 2549 (ก่อนที่ญี่ปุ่นจะลดภาษีสินค้าเกษตรให้ไทย) และสินค้าเกษตรที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกอันดับต้น เช่น ยางพารา มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ผลไม้สดและแปรรูป ไก่สดแช่แข็ง เป็นต้น