โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

สตาร์ทอัพ แดนภูไท “ธนิสร จิตตะมา” รุกธุรกิจ “ไอศกรีมข้าวเม่า” ของดีเมืองยโสธร

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานที่มีผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย สินค้า OTOP ที่มีความหลากหลาย และที่เป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น หมอนขิด เครื่องจักสาน ปลาส้ม นอกจากนี้ สินค้าที่สร้างชื่อให้กับเมืองยโสธร ได้แก่ สินค้าเกษตรอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิ แตงโม พืชผักสมุนไพร

ทีมงาน เอสเอ็มอี ชี้ช่องรวย ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมงาน “คักอีหลีของดีเมืองยโสธร” ณ เจเจ มอลล์ สวนจตุจักร เมื่อช่วงก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา แล้วสายตาก็มาสะดุดกับบูธแสดงสินค้า “ไอศกรีมข้าวเม่า” และได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ไอศกรีมข้าวเม่า คุณธนิสร จิตตะมา หรือ คุณเอก ผู้บริหาร หจก.บ้านไร่รุ้งตะวัน อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร จึงไม่รอช้าที่จะเข้าไปพูดคุย

คุณเอกเล่าถึงความเป็นมาจากเด็กหนุ่มเมืองยโสธร เดินทางมาทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานด้านการขายที่กรุงเทพฯ ร่วม 20 ปี จนวันที่ได้กลับสู่บ้านเกิดได้ใช้ชีวิตในรูปแบบชาวชนบทจริงๆ ได้พบเจอถึงปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ สินค้าล้นตลาด และไม่รู้ว่าจะหาตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าอย่างไร จนในที่สุดก็หนีไม่พ้นต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางที่กดราคาสินค้าเกษตร จึงมีความคิดที่จะพัฒนาสินค้าเกษตรมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และเนื่องจากในหมู่บ้านของคุณเอก มีการปลูกข้าวหอมมะลิ จึงก่อเกิดแนวคิดที่จะนำข้าวนั้นมาแปรรูปเป็นสินค้าของชุมชน

“ผมมองว่า หากเรามีแนวคิดแบบใหม่ที่จะพัฒนาสินค้าในยุค 4.0 เราจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีการทำเกษตรโดยเปลี่ยนมาเป็น เกษตรอินทรีย์ เน้นการปลูกข้าวแบบไร้สารพิษ จึงรวบรวมเกษตรกรที่มีความสนใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ทำการศึกษาและวิจัยถึงความเป็นไปได้ จนในที่สุดมาลงเอยที่ “ข้าวเม่า” ซึ่งเป็นข้าวที่อยู่ในระยะหลังผลิตน้ำนมข้าว คนอีสานส่วนใหญ่นิยมนำมาทำเป็นของว่างทานเล่น แต่ก็มีปัญหาเรื่องการเก็บรักษาที่เก็บไม่ได้นาน และ 1 ปีจะผลิตได้เพียงครั้งเดียว ดังนั้น โอกาสที่จะได้บริโภคข้าวเม่าจึงมีเพียงระยะเวลาสั้นๆ จึงเกิดไอเดียการแปรรูปข้าวเม่ามาเป็นไอศกรีมเข้าเม่า ซึ่งสามารถช่วยยืดอายุผลผลิตข้าวเม่าได้นานขึ้น โดยใช้นวัตกรรมไม่ให้เสียคุณประโยชน์ของตัวข้าวเม่าออกไป เมื่อผสานกับกลิ่นของใบเตย และมีส่วนผสมของนมฮอกไกโดเกิดความลงตัวทั้งกลิ่นและรสชาติที่มีความหวานน้อย ไม่เลี่ยน มีความกลมกล่อมในตัวเนื้อไอศกรีม ก่อเกิดการรับซื้อข้าวเม่าออร์แกนิกจากเกษตรกรที่ให้ราคาสูง พร้อมทั้งหาตลาดเพื่อลงสินค้าให้ด้วย สำหรับราคาไอศกรีมข้าวเม่าขายอยู่ที่ถ้วยละ 50 บาท”

จากแนวคิดที่ต้องการเพียงจะแปรรูปข้าวเม่าให้มีมูลค่าเพิ่ม แต่ผลที่ตามมาคือ การช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ และช่วยส่งเสริมการจ้างงานในกลุ่มผู้สูงอายุ และคนในชุมชน ทำให้เกิดความคิดที่อยากจะพัฒนาชุมชน การรวมกลุ่มกันเป็นเกษตรกรของชุมชน

“หลังจากนั้นมีกลุ่มเกษตรกรรวมตัวกันทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ปัจจุบันเรามีสมาชิกเกษตรกรรวมแล้วกว่า 150 คน ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ การที่เราใช้พื้นที่เพียงน้อยนิดมาทำสิ่งที่มีคุณภาพ จนสุดท้ายราคาก็มาพร้อมกับคุณภาพเอง ตอนนี้ข้าวเราแทบจะไม่ได้ขายให้กับโรงสีแล้ว เพราะเรามีกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนระดับมาตรฐานส่งออกเข้าไปสนับสนุน เราสามารถกำหนดราคาซื้อขายของเราได้เอง อีกทั้งยังมีตลาดรองรับ ข้าวเม่าบางส่วนก็นำมาแปรรูปทำเป็นไอศกรีมข้าวเม่า คือ มีความหลากหลายของภาคการผลิตแล้ว จุดมุ่งหมายต่อมาคือ การทำการประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น รสชาติ แพคเกจจิ้ง และรายละเอียดต่างๆ เราทำการแปรรูปข้าวเม่าได้ไม่ถึง 6 เดือนเท่านั้น นอกจากนี้เราก็ได้ทำการศึกษาตลาดไปในตัวว่า รสชาติแบบนี้ ความหอมแบบนี้ จะไปในทิศทางไหน จับกลุ่มลูกค้าแนวไหนอย่างไร ถือเป็นการวิจัยไปในตัว และเราจะพยายามจะทำให้สินค้าตัวนี้เป็นเจ้าแรกในเมืองไทย ข้าวเม่าของเราใช้กระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม ทั้งการฟัดข้าว คั่วข้าว โดยกลุ่มเกษตรกรของเราเอง โดยคนที่ทำจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้คนกลุ่มนี้มีงานทำ มีรายได้ ที่สำคัญกลุ่มคนที่มีแรงหน่อยก็ให้มาผลิตช่วย โดยเรามีค่าจ้างรายวันให้ก่อเกิดการสร้างงาน”

ปัจจุบันคุณเอกมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 24 ไร่ มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนๆ เพื่อแบ่งทำเป็นมุมร้านกาแฟออร์แกนิก มีแปลงสาธิตปลูกผักอินทรีย์ โดยเริ่มทำมาแล้วประมาณปีกว่าๆ คาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่จะถึงนี้

“เรามีแผนที่จะทำเป็นฟาร์มสเตย์ให้ความรู้กับชาวบ้านโดยมีกลุ่มนักวิชาการมาคอยให้ความรู้ด้วย โดยเราจะทำเป็นสะพานรอบสวนเกษตร ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรดึงดูดให้กลุ่มคนรุ่นใหม่หันมาสนใจทำการเกษตรอินทรีย์บน พื้นที่ 24 ไร่นี้ โดยแบ่งเป็นโซน เช่น โซนบ้านพัก โซนร้านกาแฟ ร้านอาหาร โซนพื้นที่เกษตร บ่อเลี้ยงปลา แปลงปลูกเมลอน สะพานไม้ไผ่ ทำแปลงผักอินทร์รอบสระ มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำ โดยไม่ลืมที่จะนำเอาสินค้าเกษตรแปรรูปมาวางขายด้วย”

ทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมในเมืองเริ่มทำร้ายเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง ลมฟ้าอากาศ ผมอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ถือเป็นความโชคดีของผมที่ปัจจุบันอายุ 38 ปี และมาอยู่ต่างจังหวัดได้เพียง 7 ปี อยู่ที่เราว่าจะสร้างธรรมชาติในบ้านเราให้เป็นอย่างไร จะใส่รายละเอียดอะไรให้เรารู้สึกว่าวันนี้เราไม่ต้องเดินทางไปสถานที่อื่นๆ แล้ว เราจะเป็นทั้งแหล่งพักผ่อน แหล่งงาน ทำอะไรที่สามารถจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและผู้อื่นได้ ซึ่งผมเริ่มลงมือทำมา 2 ปีแล้ว เมื่อเราทำสำเร็จ ก็จะมีคนเดินตามเรา ทำอย่างที่เราทำ ได้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างทุกวันนี้

“ที่ผ่านมาผมมีปรึกษาจากอาจารย์ที่คณะในมหาวิทยาลัยบ้าง รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆ เพื่อปรึกษาหาแนวทางการเริ่มต้นทำธุรกิจ โดยมีแผนที่จะสร้างมูลค่าให้กับสิ่งที่มี ปัจจุบันผลผลิตบ้านไร่รุ้งตะวันนอกจากข้าวเม่าแล้ว ยังมีเมลอนที่นำมาผลิตแปรรูปเป็นเจลลี่ ปลูกในพื้นที่น้อยๆ แต่เน้นในเรื่องคุณภาพได้มาตรฐาน ลูกสดคุณภาพดีเราก็ขาย ส่วนลูกที่มีตำหนิเราก็เอามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน โดยว่าจ้างกลุ่มที่ชาวบ้านเกษตรกรที่เรามีอยู่ ช่วยสร้างงานให้คนในพื้นที่มีรายได้โดยไม่ต้องเดินทางไปทำงานในกรุงเทพฯ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้นด้วย”

ในการทำธุรกิจสักอย่าง อย่าเพิ่งมองว่าทำแล้วจะต้องประสบความสำเร็จ ต้องร่ำรวย เราควรจะทำสิ่งที่เรียกว่าขั้นพื้นฐานก่อน ถ้าพื้นฐานเราแน่น ทุกสิ่งทุกอย่างลงตัว แล้วทุกอย่างที่ต้องการจะตามมาเอง ทุกอย่างคุณต้องลงแรงและทุ่มเทให้มันก่อน เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งความสำเร็จก็จะเข้ามาหาเราโดยที่เราไม่ต้องเดินเข้าไปหามันเลย ถ้าวันหนึ่งผมทำสำเร็จ ผมจะนำความสำเร็จนี้ไปถ่ายทอดให้กับกลุ่มเยาวชน ในการทำการเกษตรและทิศทางการทำธุรกิจการเกษตร เรียนรู้กระบวนการและวิธีการแล้วนำเอาความรู้กลับไปทำเองที่บ้าน นอกจากนี้ เรายังมีพันธมิตรหน่วยงานภาครัฐที่คอยให้การสนับสนุน ตอนนี้เรามีพันธมิตรสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมีอาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญงานด้านวิจัยการแปรรูปผลผลิตการเกษตร นอกจากนี้ยังมี อุตสาหกรรม ภาค 7 ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีษะเกษ

“มันไม่มีคำว่า ทางตัน หรอกครับ กับแวดวงการเกษตร เพียงแต่คุณจะหยุด หยุดที่จะคิด ที่จะทำ ท้อแท้ล้มเลิกไปเสียก่อน เมื่อเป้าหมายเราชัดเจน รู้แล้วว่าจะมุ่งไปทางไหน เราก็เขียนแผนการทำงานเรียงลำดับว่าจะต้องทำอะไรบ้างตามลำดับก่อนหลัง การที่ทำอะไรด้วยใจรัก เราจะไม่รู้สึกเหนื่อยหรือท้อแท้ ทุกสิ่งอย่างขึ้นอยู่กับทัศนคติ เมื่อก่อนผมก็ไม่ชอบการเกษตร เพราะที่ผ่านมาผมทำงานการขายมาโดยตลอด เมื่อได้มาจับวิถีเกษตรแล้วนำเอาความรู้และประสบการณ์ด้านการตลาดที่มีสามารถนำมาพลิกแพลงแก้ปัญหาโจทย์เดิม แล้วมองหาทิศทางเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เราต้องรู้ตัวเราว่ากำลังทำอะไรอยู่ แล้วเดินหน้าสู้ก็จะช่วยสร้างมูลค่า”