ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

“บุญส่ง มาตขาว” ปราชญ์เกษตรอินทรีย์บ้านโนนยาง ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อเกษตรกรรมที่ยั่งยืน


ปัจจุบันการทำเกษตรอินทรีย์ ด้วยการนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้เพื่อสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น ด้วยการคิดที่ว่า ระบบการเกษตรจะพัฒนาเดินหน้าต่อไปได้นั้น เกษตรกรจะต้องมีความรู้ และได้รับการอบรมเพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงหลักการทำการเกษตรแบบยั่งยืน

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ และได้ดำเนินโครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน ต่อมาในปีงบประมาณ 2561 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโครงการพัฒนาศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ แนวคิดและพฤติกรรมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ โดยการดำเนินชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเองได้อย่างเหมาะสม

สำหรับ โครงการพัฒนาศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน มีสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นเจ้าภาพหลัก โดยได้ดำเนินการ คัดเลือกศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อเข้าร่วมโครงการฯ และให้ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจัดการฝึกอบรมเกษตรกรทั้งภาคความรู้ และฝึกปฏิบัติตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านที่ต่างๆ โดยมีเป้าหมาย 76 จังหวัด หรือเกษตรกรจำนวน 12,300 ราย

จากการลงพื้นที่ติดตามในพื้นที่ จ.ยโสธร ของเกษตรกรที่เข้าร่วมอบรมศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านของ นายบุญส่ง มาตขาว บ้านโนนยาง ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร ซึ่งเป็นตัวอย่างปราชญ์เกษตรอินทรีย์ที่ประสบผลสำเร็จและเป็นแหล่งเรียนรู้แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน พบว่า ปี 2561 มีเกษตรกรที่ผ่านการอบรมจากศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านของนายบุญส่ง มาตขาว จำนวน 100 ราย สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ และพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในชุมชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเกษตรกรร้อยละ 73 นำความรู้เรื่องการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ประโยชน์ ร้อยละ 77 นำความรู้ที่ได้ไปทำบัญชีครัวเรือน

นอกจากนี้ เกษตรกรร้อยละ 80 มีการทำเกษตรผสมผสาน นำความรู้เรื่องการใช้ที่ดินและการจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเกษตรกร ร้อยละ 93 มีการผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพใช้เอง ส่งผลให้เกษตรกรลดต้นทุนจากการซื้อปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ย 940 บาท/เดือน และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าบริโภค 720 บาท/เดือน และเพิ่มมูลค่าจากการจำหน่ายสินค้าแปรรูปได้เฉลี่ย 1,080 บาท/เดือน

ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ของ นายบุญส่ง มาตขาว เป็นตัวอย่างปราชญ์เกษตรอินทรีย์ในการทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่ประสบผลสำเร็จ ได้เริ่มก่อตั้งเป็นเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 โดยการเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำเกษตรรูปแบบต่างๆ แต่ยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2544 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการทำโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย เกิดการรวมกลุ่ม องค์กร และเครือข่ายชาวบ้าน อีกทั้งได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จนเกิดการยอมรับแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหาความยากจน

ปัจจุบันมีการเปิดหลักสูตรการอบรมในด้านต่างๆ ได้แก่ การทำเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย วิถีชีวิตชาวนา วิถีชีวิตสู่การเกษตรพอเพียง การทำบัญชีครัวเรือน การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตรผสมผสาน การประกอบอาชีพโดยการพึ่งพาตนเอง การบริหารจัดการที่ดินเพื่อให้เกิดความพอเพียง การวางแผนการผลิต การทำเกษตรอินทรีย์ การใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด (1 ไร่ 1 แสน)

สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมอบรมสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ หรือสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดใกล้บ้าน และหากต้องการขอเข้ารับการอบรมหรือขอศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านของนายบุญส่ง มาตขาว สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 08 1300 0165