ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

แนะรูปแบบ และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับของ “ประกันสังคม” เหมาะแบบไหน ทำอาชีพอะไร วางแผนไว้ ไปทำกัน


สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ที่จะต้องมีการจ่ายประกันสังคมกันทุกเดือน ซึ่งรูปแบบและประเภทของประกันสังคมนั้นก็มีอยู่ 3 แบบด้วยกัน สำหรับใครที่ยังไม่รู้รายละเอียด หรือสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับ ชี้ช่องรวย มีรายละเอียดมาบอกเล่าเก้าสิบกันดังนี้ค่ะ

กองทุนประกันสังคม คือ กองทุนที่ให้หลักประกันแก่ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ได้รับประโยชน์ทดแทน เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, หรือเสียชีวิต ซึ่งไม่เกิดจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคมหลักๆมีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ผู้ประกันตน(เรา), นายจ้าง(บริษัท) และรัฐบาลนั่นเอง

1.ประกันสังคมมาตรา 33 สิทธิที่จะได้รับ

กรณีเจ็บป่วย

เงื่อนไข: ต้องจ่ายสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน

-ในกรณีเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

-ในกรณีที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่นโดยที่ได้สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน สามารถเบิกคืนได้

-สถานพยาบาลของรัฐ สามารถเข้ารับการรักษาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น และในกรณีเป็นผู้ป่วยใน เบิกได้ตามที่จ่ายจริง ยกเว้น ค่าห้องและค่าอาหาร เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท

-สถานพยาบาลเอกชน กรณีผู้ป่วยนอกเบิกค่ารักษาได้ไม่เกิน 1,000 บาท กรณีผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลกรณีไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท ค่าห้องค่าอาหารไม่เกินวันละ 700 บาท ค่าห้องกรณีรักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท กรณีต้องผ่าตัดใหญ่เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000 – 16,000 บาท

-กรณีทันตกรรม เข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม ไม่เกิน 900 บาทต่อปี

กรณีคลอดบุตร

เงื่อนไข: ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร

-สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาทต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)

-ผู้ประกันตนหญิงได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอดเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้สิทธิได้เฉพาะบุตรคนที่ 1 และ 2 เท่านั้น)
-กรณีสามีและภรรยาสามารถเลือกใช้สิทธิได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

กรณีทุพพลภาพ

เงื่อนไข: ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน

-รับเงินทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิตในกรณีทุพพลภาพร้ายแรง

-ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเมื่อมีมติให้เป็นผู้ทุพพลภาพ

-ได้รับเงินสงเคราะห์เสียชีวิต

-หากผู้ทุพพลภาพจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน แต่หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน

กรณีเสียชีวิต

เงื่อนไข: สาเหตุการเสียชีวิตต้องไม่เกิดจากการทำงาน และจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือนขึ้นไป

-ค่าทำศพ 40,000 บาท และ ทายาทสามารถขอรับคืนเงินกรณีชราภาพได้ภายใน 2 ปี

กรณีสงเคราะห์บุตร

เงื่อนไข: จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน

-เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรม หรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น

-ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 600 บาท ตั้งแต่บุตรอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ สามารถขอใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 3 คน

กรณีชราภาพ

กรณีบำนาญชราภาพ

เงื่อนไข: ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (ไม่จำเป็นต้องจ่าย 180 เดือนติดต่อกัน)

-มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
สิทธิประโยชน์

-ถ้าจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

-ถ้าจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้รับการปรับเพิ่มบำนาญชราภาพอีกร้อยละ 1.5 สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนทุกๆ 12 เดือนที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนนั้น

กรณีบำเหน็จชราภาพ

เงื่อนไข: จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน

-มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย

-ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
สิทธิประโยชน์

-ถ้าจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ

-ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด

-กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่ได้สิทธิบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

กรณีว่างงาน

เงื่อนไข: จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือนขึ้นไป

-มีระยะเวลาว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป

-ในกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามระยะเวลา จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

2.ประกันสังคมมาตรา 39 สิทธิที่จะได้รับ

สำหรับคนที่ออกจากงานประจำ ออกมาทำธุรกิจส่วนตัวหรือทำอาชีพอิสระ แต่ยังต้องการรักษาสิทธิ์ตรงนี้อยู่

-จากที่สมทบเดือนละ 750 บาทจะเหลือเดือนละ 432 บาท โดยนายจ้างไม่ได้ช่วยเราสมทบแล้ว แต่รัฐบาลยังสมทบให้เราเดือนละ 120 บาท

-สวัสดิการตรงนี้เราจะยังได้เหมือนมาตรา 33 แต่สวัสดิการที่หายไปเลย คือการว่างงาน อีกส่วนหนึ่งที่กระทบจะเป็นกรณีชราภาพ บำเหน็จ/บำนาญเราอาจจะได้น้อยลง โดยต้องดูเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น แอดขอยกตัวอย่างตามนี้

สมมติว่าเราส่งเงินสมทบมาเป็นเวลา 180 เดือนพอดี ประกันสังคมกำหนดอัตราเงินบำนาญของ 15 ปีแรกไว้ที่ 20% ดังนั้น

-กรณีที่ 1 หากเราทำงานประจำมาตลอดจนถึงอายุ 55 ปี หรือลาออกก่อนแต่ไม่ได้สมัครประกันตนตามมาตรา 39 ฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนย้อนหลังของเราก็จะอยู่ที่ 15,000 บาท เมื่อนำมาคูณกับอัตราเงินบำนาญที่ 20% ก็เท่ากับว่าเงินบำนาญรายเดือนที่เราจะได้รับก็เท่ากับ 15,000 x 20% = 3,000 บาทต่อเดือน

-กรณีที่ 2 หากเราทำงานประจำแล้วลาออก จากนั้นสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ฐานเฉลี่ยเงินเดือนย้อนหลัง 60 เดือนจะคิดจากจำนวนเดือนที่เราส่งประกันสังคมในมาตรา 39 และจำนวนเดือนที่เราส่งประกันสังคมตอนที่เป็นพนักงานประจำนำมาหารเฉลี่ยกัน เช่น สมมติว่าเราส่งประกันสังคมตามมาตรา 39 ไป 30 เดือน ฐานเงินเดือนเฉลี่ยที่จะคิดเงินบำนาญก็จะคิดจาก 4,800 บาท 30 เดือน มาเฉลี่ยกับ 15,000 บาทตอนทำงานประจำ ตามจำนวนเดือนที่เหลือ คือ 60-30 = 30 เดือน ฐานเงินเดือนเฉลี่ยที่ได้ก็จะเท่ากับ

[(4,800×30)+(15,000×30)] / 60 = 9,900 บาท

เงินบำนาญรายเดือนที่จะได้รับก็จะเท่ากับ 9,900 x 20% = 1,980 บาทต่อเดือน

-กรณีที่ 3 หากเราลาออกจากการเป็นพนักงานประจำ สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และส่งเงินสมทบตามมาตรา 39 ครบ 60 เดือน ก็เท่ากับว่าฐานเงินเดือนเฉลี่ยที่จะนำมาคิดเงินบำนาญรายเดือน ก็คือ 4,800 บาท เงินบำนาญรายเดือนที่ได้ก็คือ

4,800 x 20% = 960 บาท เท่านั้น!!

3.ประกันสังคมมาตรา 40 ฉบับ Freelance เข้าร่วมโดยสมัครใจ

-คุณสมบัติของผู้ประกันตน อายุ 15-60 ปี และไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 และ 39

มี 3 แพคเกจเลือกได้ ดังนี้ 

แพคเกจที่ 1 : 70 บาทต่อเดือน

1.1 กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รับค่าทดแทนขาดรายได้ รับสิทธิ ผู้ป่วยในและนอกรวมกันไม่เกิน 30 วัน/ปี

-ผู้ป่วยใน วันละ 300 บาท

-ผู้ป่วยนอก หยุดเกิน 3 วัน ชดเชยวันละ 200 บาท / หยุดไม่เกิน 3 วัน ชดเชยวันละ 50 บาท

1.2 กรณีทุพพลภาพ รับค่าทดแทนขาดรายได้ เป็นระยะเวลา 15 ปี

-ได้รับค่าทดแทนรายเดือน 500-1,000 บาท (ขึ้นกับระยะเวลาส่งเงินสมทบ)

-เสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพ ได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท

1.3 กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท ถ้าจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิตได้รับเงินเพิ่ม 3,000 บาท

แพคเกจที่ 2 : 100 บาทต่อเดือน

2.1 กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รับค่าทดแทนขาดรายได้ รับสิทธิ ผู้ป่วยในและนอกรวมกันไม่เกิน 30 วัน/ปี

-ผู้ป่วยใน วันละ 300 บาท

-ผู้ป่วยนอก หยุดเกิน 3 วัน ชดเชยวันละ 200 บาท / หยุดไม่เกิน 3 วัน ชดเชยวันละ 50 บาท

2.2 กรณีทุพพลภาพ รับค่าทดแทนขาดรายได้ เป็นระยะเวลา 15 ปี

-ได้รับค่าทดแทนรายเดือน 500-1,000 บาท (ขึ้นกับระยะเวลาส่งเงินสมทบ)

-เสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพ ได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท

2.3 กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท ถ้าจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิตได้รับเงินเพิ่ม 3,000 บาท

2.4 กรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล 50 บาท x จำนวนเดือนที่ส่ง x ดอกเบี้ยรายปี (ต้องรอติดตามประกาศ)

แพคเกจที่ 3 : 300 บาทต่อเดือน

3.1 กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รับค่าทดแทนขาดรายได้ รับสิทธิ ผู้ป่วยในและนอกรวมกันไม่เกิน 30 วัน/ปี

-ผู้ป่วยใน วันละ 300 บาท

-ผู้ป่วยนอก หยุดเกิน 3 วัน ชดเชยวันละ 200 บาท / หยุดไม่เกิน 3 วัน ชดเชยวันละ 50 บาท

3.2 กรณีทุพพลภาพ รับค่าทดแทนขาดรายได้ตลอดชีวิต

-ได้รับค่าทดแทนรายเดือน 500-1,000 บาท (ขึ้นกับระยะเวลาส่งเงินสมทบ)

-เสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพ ได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท

3.3 กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท

3.4 กรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล 150 บาท x จำนวนเดือนที่ส่ง x ดอกเบี้ยรายปี (รอติดตามประกาศ)

3.5 กรณีสงเคราะห์บุตร ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร โดยรับเงินรายเดือนตั้งแต่เด็กแรกเกิด ถึง 6 ปีบริบูรณ์ คนละ 200 บาท ได้ครั้งละไม่เกิน 2 คน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Facebook Page : Friendnancial