ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

อย. แนะบริโภคผักและผลไม้ปลอดภัย ในช่วงเทศกาลกินเจ


อย. แนะผู้บริโภคในการเลือกซื้อ ผักและผลไม้อย่างไรให้ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพร้อมแนะนำวิธี การล้างผัก ผลไม้ที่สามารถลดปริมาณสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ในช่วงเทศกาลกินเจ

นพ. พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจของทุกปี ซึ่งปีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน ถึง 7 ตุลาคม 2562 ประชาชนจะรักษาศีล ปฏิบัติธรรม งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ และรับประทานผักผลไม้ โดยเชื่อว่า การกินเจเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ได้กุศล การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการให้ชีวิต แก่สัตว์ ถือเป็นการเสริมบุญบารมีและยังเป็นการรักษาสุขภาพอีกด้วย

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลอาหารทั้งก่อนและหลังออกสู่ตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัย ได้เก็บตัวอย่างอาหารประเภทผักและผลไม้ที่ประชาชนนิยมบริโภคในช่วงเทศกาลกินเจ จำนวน 10 ชนิด ได้แก่ กะหล่ำปลี คะน้า ผักบุ้ง เห็ดหอม เห็ดนางฟ้า ผักกวางตุ้ง แครอท ฝรั่ง กล้วย และส้ม จากตลาดค้าส่ง ตลาดไท เพื่อตรวจวิเคราะห์หายาฆ่าแมลงด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น (GT Test Kit) จำนวน 30 ตัวอย่าง พบตกมาตรฐาน 1 ตัวอย่าง ในส้มสายน้ำผึ้ง และ ในวันนี้ (25 กันยายน 2562) อย. ได้ลงพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้ในการล้างผักผลไม้ให้ปลอดภัยในการบริโภค แก่ผู้ที่มาจับจ่ายซื้อผักผลไม้ ณ ลานผัก ร่วมใจ ตลาดไท ด้วย

รองเลขาธิการ ฯ อย. กล่าวต่อไปว่า การเลือกซื้อผักต้องเลือกผักที่มีสภาพ สด ใหม่ สะอาด ไม่มีกลิ่นฉุนแสบจมูก ไม่มีเชื้อรา ไม่มีสีผิดจากธรรมชาติ ไม่มีเศษดินหรือสิ่งสกปรกเกาะเป็นคราบติดอยู่ ข้อสังเกตควรเลือกผักที่ใบมีรูพรุน จากการเจาะของแมลง ส่วนการเลือกซื้อผลไม้นั้น ต้องดูที่ผิว สด ใหม่ ขั้วหรือก้านยังเขียวและแข็ง เปลือกไม่ช้ำหรือดำ ที่สำคัญหลังการซื้อผักและผลไม้ ควรทำความสะอาดก่อนนำไปรับประทานหรือนำไปปรุงอาหารเพื่อลดการตกค้างของยาฆ่าแมลง โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

(1) นำผักใส่ตะแกรง เปิดน้ำไหลผ่านโดยเปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ใช้มือช่วยคลี่ใบผัก ล้างให้ทั่วนานประมาณ 2 นาที หรือกรณีผลไม้ที่มีเปลือกบางเช่น องุ่น ชมพู่ ให้แช่น้ำแล้วล้างทั้งพวงหรือผล ส่วนผลไม้ที่มีเปลือกแข็ง เช่น ส้ม แอปเปิ้ล ฝรั่ง ให้แช่น้ำแล้วถูที่บริเวณผิว จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างลงร้อยละ 25-65

(2) ใช้ผงฟูหรือเบคกิ้งโซดา 1/2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วนำไปล้างน้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างลงร้อยละ 90-95

(3) ใช้น้ำสมสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วนำไปล้างด้วยน้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างลง ร้อยละ 60-84 อย. ย้ำผู้บริโภคควรให้ความสำคัญในการเลือกซื้อและล้างผักผลไม้ ก่อนการบริโภคเพื่อความปลอดภัย หากผักและผลไม้มีการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากยาฆ่าแมลงทั้งแบบเฉียบพลันหรือสะสมในร่างกาย