ครบรอบ 47 ปี กคช. พัฒนาที่อยู่อาศัยแล้ว 737,151 หน่วย พร้อมขับเคลื่อนโครงการสำคัญตอบสนองนโยบายรัฐบาล และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงนำนวัตกรรมเทคโนโลยีการก่อสร้างมาพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาประหยัด ตลอดจนจัดทำดัชนีการอยู่อาศัยของชุมชน เพื่อติดตามและประเมินผลการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรวมในระดับชุมชนและระดับครัวเรือนของผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติดำเนินงานมาครบรอบ 47 ปี ด้วยความภาคภูมิใจในภารกิจด้านพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยและปานกลางทั่วประเทศ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 รวมทั้งสิ้น จำนวน 737,151 หน่วย ประกอบด้วย โครงการบ้านเอื้ออาทร 279,977 หน่วย โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด (ปรับปรุงชุมชนในที่ดินเดิมและจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่) 233,964 หน่วย โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน 168,691 หน่วย โครงการเคหะข้าราชการ 50,708 หน่วย โครงการสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 2,374 หน่วย โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้ 845 หน่วย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 จำนวน 334 หน่วย และโครงการแก้ไขวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ 258 หน่วย
สำหรับการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติเดินตามกรอบแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เพื่อสนองตอบนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ของรัฐได้เป็นอย่างดี โดยมีผลงานเด่นหลายโครงการที่สามารถตอบโจทย์ของรัฐบาลและขับเคลื่อนต่อเนื่องในปี 2563 ได้แก่
1.โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม) ระยะที่ 2 – 4 รวมทั้งสิ้น 6,212 หน่วย ในเบื้องต้นจะดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ระยะที่ 2 จำนวน 1,247 หน่วย ประกอบด้วย อาคาร A1 สูง 32 ชั้น 1 อาคาร 635 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจากแฟลตที่ 9 – 17 และแฟลตที่ 63 – 64 และอาคาร D1 สูง 35 ชั้น 1 อาคาร 612 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจากแฟลตที่ 23 – 32 ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.) ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาก่อนดำเนินการรื้อถอนอาคารแฟลตเดิม แฟลตที่ 18 – 22 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนพฤษภาคม 2563
นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติยังได้จัดสร้าง โครงการอาคารเช่า เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เช่าที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและมีสภาพแวดล้อมที่ดี โดยในปี 2560 – 2562 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบจัดสร้างโครงการอาคารเช่าแล้ว 11,903 หน่วย ขณะนี้บางโครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง และบางโครงการอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง ขณะเดียวกันการเคหะแห่งชาติยังได้จัดโปรโมชั่น “เช่าทั่วไทย” บ้านเช่าราคาพิเศษให้กับประชาชน เริ่มต้นเพียง 999 บาท ซึ่งเป็น 1 ใน “ของขวัญปีใหม่ พม. สำหรับประชาชนปี 2563” โดยเปิดจองผ่านระบบออนไลน์ http://999.nha.co.th ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม – 30 มิถุนายน 2563 มีโครงการเข้าร่วม 10,000 หน่วย ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนแล้ว 15,451 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มกราคม 2563)
นอกจากการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแล้ว การเคหะแห่งชาติยังได้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยจัดทำ โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 เห็นชอบในหลักการให้การเคหะแห่งชาติจัดทำโครงการดังกล่าว วงเงิน 5,207 ล้านบาท มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินในตลาดปกติได้ และไม่มีประวัติทางการเงินเสียหาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยปีงบประมาณ 2563 สำนักงบประมาณได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้การเคหะแห่งชาติ จำนวน 346 ล้านบาท และคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อโครงการสินเชื่อฯ ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ
ขณะเดียวกันการเคหะแห่งชาติยังให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุตามนโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยจะดำเนินการจัดสร้าง โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ 4 มุมเมือง (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ โดยการเคหะแห่งชาติจะพัฒนาโครงการเอง หรือร่วมดำเนินการกับภาคเอกชน (Joint Operation) ซึ่งได้พิจารณาพื้นที่เป้าหมาย 4 พื้นที่ ได้แก่ โครงการบ้านกตัญญูคลองหลวง 1 และ 2 จังหวัดปทุมธานี 360 หน่วย โครงการบ้านผู้สูงอายุ จังหวัดนครปฐม (ทุ่งกระพังโหม) จำนวน 210 หน่วย โครงการบ้านผู้สูงอายุ สุวินทวงศ์ กรุงเทพฯ จำนวน 30 หน่วย และโครงการบ้านผู้สูงอายุ จังหวัดสมุทราปราการ (บ้านคลองสวน) จำนวน 530 หน่วย หรือเปิดโอกาสให้เอกชนสัมปทานโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ และนำอาคารมาปรับปรุงรองรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ รวมทั้งบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุแบบเบ็ดเสร็จ ภายใต้เงื่อนไขของการเคหะแห่งชาติกำหนดร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง
โครงการบ้านราคาประหยัดมาตรฐานสูง (Smart Home) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่การเคหะแห่งชาตินำนวัตกรรมการก่อสร้างที่อยู่อาศัยมาจัดสร้างบ้านที่มีคุณภาพดีเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยในสังคมยุคใหม่ โดยนำนวัตกรรมการก่อสร้างแบบชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จ หรือระบบ Precast มาใช้ เพื่อย่นระยะเวลาการก่อสร้างให้เร็วขึ้น ช่วยลดปัญหาด้านแรงงานไม่เพียงพอ และสามารถควบคุมต้นทุนและคุณภาพได้ดี ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้ออกแบบบ้านเดี่ยวชั้นเดียวในลักษณะ Universal Design อาศัยอยู่ร่วมกันได้ทุกช่วงวัย ขนาดเนื้อที่ 20 ตารางวา มี 3 รูปแบบ ได้แก่ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 22, 28 และ 36 ตารางเมตร ราคาขายอยู่ระหว่าง 350,000 – 550,000 บาท โดยจัดสร้างบ้านตัวอย่างที่บริเวณด้านหน้าสนามกีฬาคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในวันและเวลาราชการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างในอนาคต
การเคหะแห่งชาติพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย จึงได้จัดทำ ดัชนีการอยู่อาศัยของชุมชน (Community Housing Index : CHI) เพื่อติดตามและประเมินผลการเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยโดยรวมของครัวเรือนผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติ และเพื่อเปรียบเทียบการเติบโตด้านเศรษฐกิจกับชุมชนอื่นๆ โดยได้มีการสุ่มสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจากครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในชุมชนของการเคหะแห่งชาติจากทั่วประเทศกว่า 5,540 ครัวเรือน
สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นดัชนีการอยู่อาศัยของชุมชน Community Housing Index (CHI) ไตรมาสที่ 4 (เดือนตุลาคม – ธันวาคม) ประจำปี 2562 ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนและสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่า ครัวเรือนที่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติและครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในชุมชนอื่นๆ มีค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลางหรือค่ามาตรฐาน (ค่ากลาง = 50) โดยชุมชนของการเคหะแห่งชาติ มีค่าดัชนีเท่ากับ 57.6 ส่วนชุมชนอื่นๆ มีค่าดัชนีเท่ากับ 59.0 ซึ่งหมายความว่าครัวเรือนที่อาศัยในชุมชนทั้งสองมีความพึงพอใจต่อสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการอยู่อาศัยภายในชุมชนของตนเองในระดับปานกลาง โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า ครัวเรือนที่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติและครัวเรือนชุมชนอื่นๆ มีความพึงพอใจต่อภาพรวมของการอยู่อาศัยลดลงจากไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2562 ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปของทั้ง 3 ด้าน ดังนี้
1.ดัชนีด้านเศรษฐกิจ พบว่า ครัวเรือนที่อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ มีค่าดัชนีอยู่ในระดับ 57.0 ส่วนครัวเรือนที่อาศัยในชุมชนอื่นๆ มีค่าดัชนีเศรษฐกิจเท่ากับ 57.6 ซึ่งมีค่ามากกว่าค่ากลาง (ค่ากลาง = 50) เนื่องจากครัวเรือนทั้งสองชุมชนมีความพึงพอใจต่อการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวมภายในชุมชนตนเองค่อนข้างดี โดยประเมินได้จากความพึงพอใจต่อการจับจ่ายใช้สอย และการหารายได้ รวมถึงการใช้หนี้สินต่างๆ ที่ยังอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างดี
2.ดัชนีด้านสังคม พบว่า ครัวเรือนที่อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติมีค่าดัชนีอยู่ในระดับ 57.6 ส่วนครัวเรือนในชุมชนอื่นๆ มีค่าดัชนีเท่ากับ 59.6 ซึ่งมีค่ามากกว่าค่ากลาง (ค่ากลาง = 50) เนื่องจากครัวเรือนทั้งสองชุมชนมีความพึงพอใจต่อสภาพสังคมในชุมชนของตนเองโดยรวมในระดับที่ดี โดยประเมินได้จากความพึงพอใจต่อการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ความปลอดภัยในชุมชน การพึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชน และการแก้ปัญหาแหล่งมั่วสุมในชุมชนอยู่ในระดับที่ดีเกินกว่าค่ากลางทุกประเด็น
และ 3.ดัชนีด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม พบว่า ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในโครงการของการเคหะแห่งชาติมีค่าดัชนีอยู่ในระดับ 58.1 ซึ่งมีค่ามากกว่าค่ากลาง (ค่ากลาง = 50) ส่วนครัวเรือนในชุมชนอื่นๆ มีค่าดัชนีเท่ากับ 59.8 เนื่องจากทั้งสองชุมชนมีความพึงพอใจต่อการดูแลรักษาสภาพของชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรวม อยู่ในระดับที่ดี โดยครัวเรือนให้ความพึงพอใจต่อความสะอาด การดูแลเรื่องขยะ การกำจัดของเสีย และการดูแลสาธารณูปโภคภายในชุมชนในระดับที่เกินกว่าค่ากลาง
โดยเมื่อพิจารณาดัชนีการอยู่อาศัยในชุมชนกับดัชนีทางเศรษฐกิจกลุ่มอื่นๆ ในไตรมาสที่ 4 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค (CCI) ซึ่งเป็นภาพรวมของประเทศทุกกลุ่มรายได้ มีค่าเท่ากับ 57.1 ส่วนด้านดัชนี การอยู่อาศัยในชุมชน (CHI) ของการเคหะแห่งชาติ มีค่าเท่ากับ 57.6 และดัชนีการอยู่อาศัยของชุมชนอื่นๆ มีค่าเท่ากับ 59.0 ซึ่งค่าดัชนีทั้ง 3 กลุ่มมีค่าสูงกว่าค่ากลาง (ค่ากลาง =50) มีเพียงแค่ดัชนีเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ที่มีค่าต่ำกว่า ค่ากลาง โดยมีค่าเท่ากับ 45.9
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มทั้ง 4 ไตรมาส พบว่า ค่าดัชนีทั้ง 4 กลุ่ม มีแนวโน้มลดลงทั้งหมด โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค (CCI) ไตรมาสที่ 1 เท่ากับ 69.0 ลดลงเป็น 57.1 ในไตรมาสที่ 4 ส่วนดัชนีการอยู่อาศัยในชุมชน (CHI) ของการเคหะแห่งชาติ ไตรมาสที่ 1 เท่ากับ 59.0 ลดลงเป็น 57.6 ในไตรมาสที่ 4 และส่วนดัชนีการอยู่อาศัยในชุมชน (CHI) ของชุมชนอื่นๆ ไตรมาสที่ 1 เท่ากับ 60.0 ลดลงเป็น 59.0 ในไตรมาสที่ 4 และสุดท้ายดัชนีเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 4 มีค่าเท่ากัน 45.9 ซึ่งเป็นผลมาจากครัวเรือนส่วนใหญ่มีความกังวลต่อความ ไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องมาจากครัวเรือนมีรายได้คงที่หรือลดลง ซึ่งสวนทางกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถเก็บเงินออมสำหรับครอบครัวได้จึงทำให้เกิดการระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ดีครัวเรือนชุมชนของผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะของการเคหะแห่งชาติยังคงมีความพึงพอใจต่อเศรษฐกิจและการอยู่อาศัยภายในชุมชนค่อนข้างดี อันเนื่องมาจากการที่การเคหะแห่งชาติมีการบริหารและพัฒนาชุมชนอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานชุมชนมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเน้นให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน