ตามที่ทาง กนง. มีมติเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.00 % จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี และภัยแล้ง รวมถึงค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อปี 2020 และ 2021 ที่มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย
โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจจาก 3 สถาบัน ต่างวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกัน โดย อีไอซี มองว่า ยังมีโอกาส 30% ที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมได้ หากปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงยืดเยื้อ และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินปรับสูงขึ้นโดยเฉพาะในด้านความสามารถในการชำระหนี้
ทางด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ยังคงส่อเค้าความรุนแรงต่อเนื่อง คาดว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ต่อเศรษฐกิจจีนเบื้องต้นในกรอบระยะเวลา 1 เดือน อาจสูงถึง 3 แสนล้านหยวน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.3 ของ GDP จีนทั้งปี ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2563 อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.5-5.9 โดยมีผลกระทบหลักๆ ผ่านทางภาคค้าปลีก ภาคขนส่ง และภาคบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคและการท่องเที่ยว
ในขณะที่ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เผยว่าเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของงบประมาณปี 63 และภัยแล้งรุนแรง สร้างความเสียหายกว่า 2.8 แสนล้านบาท ฉุดเศรษฐกิจร่วงโตแค่ 1.7- 2.1% จากเดิมคาด 2.7%
ด้วยปัจจัยดังกล่าวซึ่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทางฝั่งรัฐบาลจึงได้มีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งภายหลังจากทาง กนง. ได้ประกาศให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.00 % เหล่าสถาบันการเงินจึงขานรับนโยบาย ดังนี้
ธ.กรุงเทพ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้า รับมือผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
โดยตั้งพักชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัด และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีตามโครงการ ‘สินเชื่อบัวหลวง SMEs บรรเทาทุกข์จากเชื้อไวรัสโคโรนา’ เพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนและเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยที่ธุรกิจได้รับผลกระทบ วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR -1% ต่อปี หรือพิจารณาความเหมาะสมแต่ละกรณี สำหรับลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ธนาคารพิจารณาสินเชื่อเพิ่มให้แก่ลูกค้าตามความเหมาะสมเป็นรายกรณี
ด้านลูกค้าสินเชื่อบุคคล ได้ช่วยเหลือในการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้สินเชื่อที่มีกับธนาคาร โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละราย มีทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากอัตราปกติสูงสุด 50% ลดจำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องชำระเหลือไม่เกิน 10% ยกเว้นดอกเบี้ยจากหนี้ที่ค้างชำระ ซึ่งเกิดจากสถานการณ์การเผยแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019
กรุงไทยร่วมรับมือผลกระทบไวรัสโคโรนา
โดยธนาคารได้ออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าที่ธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสดังกล่าว เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าไปยังจีน โดยพักชำระหนี้เงินต้นตามระดับผลกระทบ สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้สอดคล้องกับธุรกิจและการค้ำประกันออกไปได้อีก 5 ปี ตลอดจนสนับสนุนค่าธรรมเนียม บสย. ค้ำประกัน
สำหรับลูกค้าและประชาชน ธนาคารมี 2 ผลิตภัณฑ์ที่คุ้มครองครอบคลุมการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ได้แก่ ประกันสุขภาพ iHealthy หมดกังวลกับค่ารักษาโดยคุ้มครองครอบคลุมค่ารักษาแบบเหมาจ่ายสำหรับผู้ป่วยใน และให้ความคุ้มครองค่ารักษาแบบผู้ป่วยนอกทุกแผน ทั้งค่าตรวจ ค่ายา การเอกซเรย์ การตรวจในห้องปฏิบัติการ และกายภาพบำบัด ตามวงเงินสูงสุดของแต่ละแผน ทุกที่ทั่วโลกตามแผนที่เลือก เบี้ยประกันภัยเริ่มต้น 1,561 บาทต่อเดือน
รวมทั้งประกันสุขภาพ กรุงไทย สุขภาพสุขใจ ที่คุ้มครองครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งการรักษาแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก คุ้มครองแบบเหมาจ่ายทั้งผลประโยชน์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าแพทย์ผ่าตัดและหัตถการ ค่าแพทย์เยี่ยมไข้ และค่าบริการทั่วไป โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ทั้งนี้ เบี้ยประกันสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เบี้ยประกันภัยเริ่มต้นคุ้มค่าเพียง 450 บาทต่อเดือน โดยประกันทั้ง 2 รูปแบบ เงื่อนไขเป็นไปตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ Krungthai Call Center 02-111-1111 ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หรือเว็บไซต์ www.ktb.co.th
ไทยพาณิชย์ เพิ่มเติมจากมาตรการพักชำระเงินต้น ปรับลดดอกเบี้ย MLR ลง 0.25% มีผล 7 ก.พ.นี้
ไทยพาณิชย์ออกมาตรการต่อเนื่อง ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.25% จาก 6.025% เป็น 5.775% เพื่อช่วยลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกค้ารายย่อย รับมือผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หลังมาตรการเร่งด่วนพักชำระเงินต้นช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี
โดยในมาตรการเพิ่มเติมนี้ จะช่วยลูกค้าในการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าและสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นโดยเร็ว และเพื่อลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยแก่ลูกค้า ธนาคารจึงประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MLR ลง 0.25% มาอยู่ที่ 5.775 %
ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา แต่มีการปรับลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.15% – 0.25% และเงินฝากประจำลง 0.05%-0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ใหม่ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป
กสิกรไทยแบ่งเบาภาระลูกค้าบุคคล และลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% มีผล 6 ก.พ.นี้
กสิกรไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR สำหรับลูกค้าบุคคล และลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลง 0.25% จากเดิม 6.87% เป็น 6.62% เพื่อตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่มีความเปราะบางจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และลูกค้าบุคคล
สำหรับในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา แต่มีการปรับลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.10% – 0.12% และเงินฝากประจำลง 0.05%-0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป
ธอส.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125% – 0.250% ต่อปี คงความเป็นดอกเบี้ยเงินกู้บ้านที่ต่ำที่สุดในระบบสถาบันการเงิน
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. ก็ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.125% – 0.250% ต่อปี ยืนยันความเป็นสถาบันการเงินที่อัตราดอกเบี้ยเพื่อที่อยู่อาศัยที่ต่ำที่สุดในตลาด ประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ย MLR ลดลงเหลือ 5.875% ต่อปี อัตราดอกเบี้ย MRR ลดลงเหลือ 6.375% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ย MOR ลดลงเหลือ 6.500% ต่อปี
ออมสิน ลดดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก 0.25% แต่ไม่ลดดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียกและสลากออมสิน
ทางด้าน ธนาคารออมสิน ก็ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ดอกเบี้ย MRR และ MOR เหลือ 6.495% ต่อปี ขณะเดียวกันได้บรรเทาผลกระทบผู้ฝากเงิน คงอัตราดอกเบี้ยสลากออมสินทุกประเภท รวมถึงเงินฝากเผื่อเรียกสำหรับลูกค้ารายย่อย โดยลดดอกเบี้ยเงินฝาก 0.25% เฉพาะกลุ่มเงินฝากประจำ และเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ เท่านั้น มีผลวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563
ทั้งนี้ ธนาคารมีลูกค้ารายย่อยจนถึงระดับ SMEs เป็นจำนวนมาก จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราเท่ากัน 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR (Minimum Retail Rate) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือ MOR (Minimum Overdraft Rate) ลดลงจาก 6.745% เหลือ 6.495% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไปเช่นกัน
ด้านดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารฯ ได้ปรับลดในอัตรา 0.25% ในประเภทเงินฝากประจำ เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ โดยยังคงภารกิจหลักส่งเสริมการออม ไม่ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประเภทเผื่อเรียก เงินฝากกระแสรายวันพิเศษ ซึ่งมีลูกค้ารายย่อยฝากเงินและใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเงินฝากสลากออมสินทุกประเภท ซึ่งมีผู้ฝากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 60% ของยอดเงินฝากรวม ยังคงดอกเบี้ยในอัตราเดิมต่อไป