ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

พยากรณ์ไม้ผลภาคใต้ รอบแรก ‘ทุเรียน’ ออกผลมาก คาดผลผลิตรวมชุกกว่าปีก่อน


นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการบูรณาการจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผลเอกภาพ ครั้งที่ 1 ปี 2563 ซึ่ง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฏร์ธานี (สศท.8) ร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 (สสก.5) จังหวัดสงขลา ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท.9) สำนักงานเกษตรจังหวัดภาคใต้ 14 จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ในพื้นที่ เมื่อวันที่ 9-10 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุมสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา (นายสุพิท จิตรภักดี) เป็นประธานการประชุม ในการนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาผลพยากรณ์ไม้ผลภาคใต้ ครั้งที่ 1 ของสินค้า 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกองในพื้นที่ 14 จังหวัด เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ในการวางแผนบริหารจัดการผลไม้ตั้งแต่ต้นฤดู

สำหรับผลพยากรณ์ปี 2563 ครั้งที่ 1 (ข้อมูล ณ 10 มีนาคม 2563) พบว่า เนื้อที่ยืนต้น ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 1,018,651 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวน 1,002,587 ไร่ (เพิ่มขึ้น 16,064 ไร่ หรือร้อยละ 1.60) โดย ทุเรียน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.96 มังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.10 ส่วน เงาะ ลดลงร้อยละ 11.68 และ ลองกอง ลดลงร้อยละ 10.98

เนื้อที่ให้ผล ทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 855,815 ไร่ ลดลงจากปี 2562 ที่มีจำนวน 869,276 ไร่ (ลดลง 13,461 ไร่ หรือร้อยละ 1.55) โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.51 มังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.93 ส่วนเงาะ ลดลงร้อยละ 13.02 และลองกอง ลดลงร้อยละ 10.73

ผลผลิตรวม ทั้ง 4 สินค้า คาดว่าจะมีประมาณ 865,037 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวน 800,598 ตัน (เพิ่มขึ้น 64,439 ตัน หรือ ร้อยละ 8.05) โดยผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งคาดว่าผลผลิตรวมของทุเรียนจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 16.29 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและราคาดีต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นทุเรียนดี ส่วนมังคุด เงาะ และลองกอง คาดว่าผลผลิตรวมลดลง โดยมังคุดจะลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.01 เนื่องจากในแหล่งผลิตที่สำคัญ คือ จังหวัดชุมพร ฝนตกในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำให้ต้นมังคุดแตกยอดอ่อนแทน ส่วนเงาะ ลดลงร้อยละ 6.87 และลองกอง ลดลงร้อยละ 7.55 

ผลผลิตต่อไร่ ทั้ง 4 ชนิด ภาพรวมมีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพต้นสมบูรณ์ พร้อมต่อการออกดอกติดผล ประกอบกับสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้ไม้ผลออกดอกมากกว่าปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของทุเรียน มีปัจจัยเพิ่มเติมที่ส่งผลให้ ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น คือ ราคาทุเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาเพิ่มมากขึ้น มีการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในส่วนเพิ่มเติม และมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อผลิตทุเรียน GAP เพิ่มขึ้น

ด้าน นางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล ผู้อำนวยการ สศท.8 กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ ทุเรียนออกดอกแล้วประมาณร้อยละ 42 ผลผลิตที่ติดในช่วงแรกเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองและทุเรียนที่ใช้สารกระตุ้นการออกดอก โดยจะทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนสิงหาคม มังคุดออกดอกแล้วประมาณร้อยละ 9 โดยเฉพาะในจังหวัดชุมพรซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ มีฝนตกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำให้มังคุดแตกใบอ่อนแทนการออกดอก สามารถเก็บผลผลิตรุ่นแรกได้ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนสิงหาคม เงาะออกดอกแล้วประมาณร้อยละ 15 จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบแรกได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนสิงหาคม ส่วนลองกองสถานการณ์ขณะนี้ยังคาดการณ์การออกดอกไม่ชัดเจน เนื่องจากยังมีฝนประปราย ต้นลองกองยังไม่ขาดน้ำ ทำให้ต้น ใบยังไม่สลด แต่คาดว่าจะเริ่มมองเห็นการติดดอกที่ชัดเจนขึ้นในช่วงปลายมีนาคม-เมษายน

อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่แปรปรวนอาจทำให้ปริมาณผลผลิตไม้ผลเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อีก เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศที่มีฝนตกทิ้งช่วงไปเร็วกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งสภาพอากาศหนาวเย็น ส่งผลให้ทุเรียน มังคุด และเงาะ มีการติดดอกออกผลเร็วขึ้น และจะเริ่มเห็นพัฒนาการออกดอกได้ชัดเจนหลังกลางเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งหลังจากนี้ สศท.8 จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจะร่วมกับคณะทำงานฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ทันทีหลังจากสถานการณ์โรค COVID – 19 คลี่คลาย เพื่อวางแผนบริหารจัดการไม้ผลและรายงานผลพยากรณ์ ครั้งที่ 2 ให้คณะทำงานฯทราบโดยเร็วต่อไป

สำหรับท่านที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลไม้ผลภาคใต้เพิ่มเติมได้ที สศท.8 โทร. 0 7731 1641 Email: [email protected]