ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมือใหม่ เตรียมเฮ! เมื่อรัฐบาล โดย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน เมื่อวานนี้ (28 พ.ค.63) โดยชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการดูแลผู้ประกอบการ SMEs ตั้งแต่ วิสาหกิจชุมชน ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ไปจนถึงผู้ประกอบการซึ่งประกอบธุรกิจมานานแล้ว ซึ่งในแต่ละกลุ่มนั้นมีความต้องการที่แตกต่างกัน จึงต้องมีมาตรการดูที่แตกต่างกันด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังได้ทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ และผู้ประกอบการ เพื่อกำหนดมาตรการดูแลผู้ประกอบการ SMEs โดยได้นำเสนอในหลายมาตรการออกมาแล้วในปัจจุบัน แต่เมื่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก และจากการรับฟังความคิดเห็น ข้อชี้แนะ ทำให้ต้องมีมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้นำเสนอมาตรการเพื่อการดูแลผู้ประกอบการ SMEs ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดย ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการ โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลกลุ่ม SMEs ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินจากธนาคารพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่ เพิ่มเติมจากส่วนของมาตรการช่วยเหลือSMEsตาม พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ของธปท.
อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการใหม่จะเป็นมาตรการเพื่อ SMEs ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน หรือเป็นกลุ่มที่ยังไม่เข้มแข็งในเรื่องของเงินทุน มีขนาดของธุรกิจที่อยู่ในขั้นเริ่มต้น ที่เรียกว่า วิสาหกิจชุมชน ซึ่งในภาวะปกติสามารถที่จะเติบโตไปได้ แต่ในภาวะเช่นนี้ หากไม่รับผลกระทบจนกระทั่งเดินต่อไม่ได้ ก็จะทำให้ธุรกิจนั้นสิ้นสุดลง
“มาตรการนี้มีความเป็นไปได้ที่จะกำหนดให้เป็นรูปแบบของกองทุน ซึ่งจะแตกต่างจากการขอสินเชื่อ โดยเป็นกองทุนที่มีเงื่อนไขที่เหมาะสม ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุน พร้อมกับเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ SMEsกลุ่มนั้นๆ ไปในตัว” นายอุตตม กล่าว
ด้าน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการSMEs ในขณะนี้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินในธนาคารพาณิชย์มาก่อนนั้น สามารถยื่นผ่านโครงการสินเชื่อผู้ประกอบการใหม่ของสถาบันของรัฐและธนาคารกรุงไทยได้เกือบ 40 โครงการ
นอกจากนี้ ยังมีช่องทาง “ทางด่วนแก้หนี้” ของ ธปท. ที่สามารถให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถยื่นคำร้องขอแก้หนี้ธนาคารเจ้าของหนี้ได้ โดยธปท.จะรับติดตามความคืบหน้าของกระบวนการเจรจาแก้หนี้ให้ ขณะเดียวกันเนื่องจากผู้ประกอบSMEsรายย่อยบางราย ใช้สินเชื่อประเภทบุคคล และบัตรเครดิต ดังนั้นจึงได้มีมาตรการสำหรับกลุ่มนี้ โดยให้ขยายเวลาผ่อน พักเงินต้น พักดอกเบี้ย ตามเกณฑ์ของธปท.เช่นเดียวกับมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของมาตรการที่ ธปท.ได้ให้ความช่วยเหลือนั้น ปัจจุบันมียอดสินเชื่อรวมทั้งหมด 6.6 ล้านล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 15 ล้านราย คิดเป็นลูกหนี้รายย่อย 13.9 ล้านราย ยอดสินเชื่อรวม 3.8 ล้านล้านบาท ลูกหนี้ที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และSMEsมีจำนวน 1.1 ล้านราย ยอดรวมสินเชื่อ 2.8 ล้านล้านบาท
ที่มา : ThaiQoute