ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

พาณิชย์’ ดันเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น ใช้เป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันเงินยามจำเป็น


‘พาณิชย์’ ดันเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นสร้างหลักประกันให้ครอบครัว พร้อมแจงรายละเอียด ‘คาร์บอนเครดิต’ แหล่งซื้อขายออกซิเจนในอนาคต

กระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ จ.อ่างทอง กระตุ้นเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าบนที่ดินของตนเอง ใช้เป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันเงินยามจำเป็น พร้อมแจง..โลกต้องการแหล่งออกซิเจนมากขึ้น เตรียมซื้อขายกันในอนาคต

โดยอาศัยผืนป่าเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนขนาดใหญ่ ภายใต้ชื่อ ‘คาร์บอนเครดิต’ ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ย้ำ!! ปลูกไม้ยืนต้นมีแต่ได้กับได้ …เพิ่มมูลค่าต้นไม้ เพิ่มแหล่งออกซิเจน สร้างรายได้ในอนาคต เป็นมรดกให้ลูกหลาน นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ

นางสาวปัทมาวดี บุญโญภาส รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้ (วันอังคารที่ 1 กันยายน 2563) กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่บ้านคลองคต หมู่ 2. ต.หลักแก้ว อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าบนที่ดินของตนเองมากขึ้น พร้อมกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งการปลูกไม้ยืนต้นนำมาซึ่งประโยชน์หลายด้าน เช่น เป็นการเพิ่มมูลค่าต้นไม้ เพิ่มแหล่งออกซิเจนให้พื้นที่ป่าและประเทศ เป็นการออมและสร้างรายได้ในอนาคต เป็นมรดกให้ลูกหลาน และสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ

การลงพื้นที่ฯ ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 ต่อจาก จ.สุพรรณบุรี อุทัยธานี และพิษณุโลก โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับตัวแทนเกษตรกรและผู้นำชุมชนเกี่ยวกับการปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าบนที่ดินของตนเอง และรายละเอียดการนำไม้ยืนต้นนั้นมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ

รวมทั้ง ได้มีการสาธิตการตรวจวัดและประเมินมูลค่าไม้ยืนต้นของเกษตรกรในพื้นที่ตามหลักมาตรฐานสากล และในโอกาสนี้ ได้มอบวุฒิบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมการตรวจวัดและประเมินมูลค่าต้นไม้ จำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่และเป็นสมาชิกโครงการธนาคารต้นไม้ของ ธ.ก.ส.

ทั้งนี้ การมีคนในพื้นที่สามารถตรวจวัดและประเมินมูลค่าต้นไม้ได้ตามหลักวิชาการ จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองมากขึ้น เนื่องจากมีที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำถึงประเภทต้นไม้ และประโยชน์ที่จะได้รับจากการปลูกไม้ยืนต้น

รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนั้น กรมฯ ได้ให้คำแนะนำการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น โดยให้นำไม้ที่มีอยู่อย่างมากมายในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ของใช้ในครัวเรือน ของที่ระลึก และของตกแต่งบ้าน ฯลฯ เพื่อสร้างรายได้เสริมและเพิ่มมูลค่าให้แก่ไม้

โดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเป็นหลัก พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัยสวยงามดึงดูดใจลูกค้า รวมทั้ง ขยายช่องทางการตลาดผ่านทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่

ทั้งนี้ กรมฯ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยพัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าและอบรมการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยหลังจากที่ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว กรมฯ จะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ผู้แทนจำหน่าย ซัพพลายเออร์ มาคัดสรรเพื่อขึ้นจำหน่ายบนสนามบิน ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ฯลฯ เป็นการขยายช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลาย เพิ่มรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นมากขึ้น

นายอดิเรก วงษ์คงคำ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาชนบท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชี้แจงว่า ประโยชน์ของการปลูกไม้ยืนต้นอีกอย่างหนึ่งคือการเพิ่ม คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่อาศัยผืนป่าเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนขนาดใหญ่

เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย เช่น อุณหภูมิโลกสูงขึ้น น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว น้ำท่วม ดินถล่ม แห้งแล้ง และมลพิษทางอากาศ เป็นต้น ดังนั้น ธ.ก.ส. และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

จึงต้องการส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรและประชาชนปลูกไม้ยืนต้นเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ป่า และให้เป็นแหล่ง คาร์บอนเครดิต ของโลกเพื่อการซื้อขายในอนาคต โดย คาร์บอนเครดิต เป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่สามารถตีราคาเป็นเงินและสามารถซื้อขายกันได้ในตลาดเฉพาะที่เรียกว่า ตลาดคาร์บอน โดยในอนาคตคาดว่าจะเป็นสินค้าที่มีความสำคัญและมีการซื้อขายกันมากยิ่งขึ้น เพื่อทดแทนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซต์) ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมหรือจากการคมนาคม

รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมฯ และ ธ.ก.ส. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปเห็นถึงความสำคัญของการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสร้างแหล่งออกซิเจนขนาดใหญ่ให้กับประเทศ

โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2563) มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 109,007 ต้น มูลค่ารวม 132,014,509.02 บาท

เกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4944 สายด่วน 1570 www.dbd.go.th และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ