โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

การบริโภคเนื้อสัตว์ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 ปี ผลจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินช่วงโรคระบาด

รายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผย การบริโภคเนื้อสัตว์ต่อจำนวนประชากร คาดการณ์ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 ปี ด้วยสถิติลดลงกว่า 3% จากปี 2019 เผยให้เห็นปริมาณการบริโภคที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่ปี 2000

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติย้ำว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วง COVID-19 ส่งผลกระทบสู่ปัญหาการขนส่งติดขัด เช่น ข้อจำกัดด้านการคมนาคม รวมถึงความต้องการของร้านอาหารที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการของเนื้อสัตว์ทั่วโลกลดลง นอกจากนี้ หัวใจสำคัญอีกข้อได้แก่ การขาดแรงงานเพื่อการบรรจุเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดการระบาดไวรัสร้ายแรงมากที่สุดในหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้งกรณีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในภูมิภาคเอเชียก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความต้องการเนื้อสัตว์ลดลงด้วย ส่งผลให้สุกรกว่าหนึ่งในสี่ทั่วโลกต้องตายหรือถูกเชือดจากการติดโรค

ในประเทศไทย ความต้องการผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลดลงตามกระแสโลก โดยรายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ระบุว่าการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ความต้องการเนื้อไก่ เนื้อหมู นมพร้อมดื่ม และผลิตภัณฑ์ประมงในประเทศลดลง สืบเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ซึ่งส่งผลกระทบถึงการปิดโรงแรม และธุรกิจการบริการอื่น ๆ รวมถึงการกำหนดมาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาลเกี่ยวกับการเว้นระยะห่างทางสังคม

ทว่า แม้ก่อนเกิดโรคระบาด สถาบัน Rabobank ได้ทำการคาดการณ์ว่า ความต้องการโปรตีนจากสัตว์และอาหารสัตว์จะลดลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเทรนด์การบริโภคใหม่ ๆ โดยการคาดการณ์ของสถาบันระบุว่า การบริโภคเนื้อวัวจะได้รับผลกระทบ ลดลง 9-13% เนื้อหมูจะลดลง 4-17% และปลาจะลดลง 6-11% ส่วนความต้องการของสัตว์ปีกในประเทศไทยจะลดลงถึง 1%-4%

จากรายงานขององค์กรสหประชาชาติ พบว่า 75% ของเชื้อโรคที่พบในทศวรรษที่ผ่านมา ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ รวมไปถึงเขื่อน การชลประทาน และ ฟาร์มปศุสัตว์มีความเชื่อโยงกับการติดเชื้อในมนุษย์ถึง 25% องค์กรสหประชาชาติได้เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างเชื้อไวรัสและการบริโภคเนื้อสัตว์ ตามที่โครงการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เผยว่า สัตว์จำพวกวัว หมู และไก่ เป็นปัจจัยของการแพร่กระจายเชื้อโรค เพราะสัตว์จำพวกนี้ มักถูกเลี้ยงในสภาพที่ “ไม่เหมาะสม” เพื่อให้ผลผลิตที่สูงกว่า อีกทั้งยังอยู่ในสถานที่ที่ขาดความหลากหลายทางสายพันธุ์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสถานที่ที่มีสัตว์หลากหลายสายพันธุ์อยู่รวมกัน ยิ่งไปกว่านั้น ฟาร์มปศุสัตว์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะถูกเลี้ยงอยู่ในระบบที่เรียกว่า ฟาร์มเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นระบบที่ขังสัตว์หลายพันชีวิตไว้ด้วยกัน และ ไม่มีโอกาสให้สัตว์ได้รักษาระยะห่างจากกันเลย

ความหนาแน่นของปศุสัตว์ส่งผลกระทบให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางสายพันธุ์ และทำให้สัตว์ รวมถึงโรคจากสัตว์ ใกล้ชิดกับมนุษย์ยิ่งขึ้น องค์ประกอบทั้งหมดนี้เป็นส่วนผลักดันให้เกิดการแพร่เชื้อของไวรัสสายพันธุ์ใหม่และอาจนำไปสู่การแพ่ระบาดในอนาคต

ในขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในโรงฆ่าและ ชำแหละสัตว์ในสหรัฐอเมริกา บราซิล รวมไปถึงเยอรมัน ส่งผลให้การแพร่เชื้ออย่างกว้างขวางในหมู่คนงานโรงแพ็คเนื้อสัตว์กลายเป็นข่าวใหญ่