เสรี ภักดี หัวหน้าฝ่ายก่อสร้างที่ 2 สํานักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 13 ประโยชน์สูงสุดของชาวบ้าน คือหัวใจหลักของงานก่อสร้างที่มั่นคง
การก่อสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ฯลฯ นั้น ตามหลักวิศวกรรม จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ยามจำเป็น และป้องกันปัญหาน้ำท่วมฉับพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดความผิดพลาดทางวิชาการ นายเสรี ภักดี หัวหน้าฝ่ายก่อสร้างที่ 2 สำนักงานก่อสร้างชลประทานทนาดกลางที่ 13 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง คือหนึ่งในวิศวกรมืออันดับต้น ๆ ของกรมชลประทาน ที่ควบคุมดูแลการก่อสร้าง ปราการเก็บกักน้ำโดยไม่มีขาดตกบกพร่องมานานกว่า 30 ปี ด้วยเหตุนี้เองวารสารข่าวชลประทานฉบับนี้จึงขอนำทุกท่านไปรู้จักกับชีวิตของเขาว่า เส้นทางที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และอะไรทำให้เงาคู่ควรกับคำว่า “บุคคลชลประทาน”
ชีวิตนี้เพื่อแทนคุณแผ่นดิน
เสรี ภักดี พื้นเพเป็นคนจังหวัดยะลา เป็นลูกชายคนโตในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 4 คน ครอบครัวของเขา เป็นครอบครัวเล็ก ๆ ไม่ได้ร่ำรวยอะไรและอาจไม่มีชีวิตที่สุขสบายเท่าไหร่เมื่อเทียบกับครอบครัวอื่น ๆ โดยคุณแม่ผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวป่วยเป็นโรคหัวใจ ทำให้ทุกคนในบ้านต้องปากกัดตีนถีบและสู้ชีวิตกันมาตั้งแต่เด็ก
แต่แล้วเมื่อเขาอายุได้ 12 ปี เสรีและครอบครัวมีโอกาส ได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่เสด็จมาทรงงาน ณ จังหวัดยะลา และด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นพระองค์ทรงรับคุณแม่ของเสรีไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมเหตุการณ์นั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทําให้เขาอยากเดินตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อยากทำงานตอบแทนบุญคุณพระองค์และทำประโยชน์ให้กับแผ่นดินนี้เท่าที่เขาพอจะสามารถทำได้
ไต่เต้าจากใต้หล้า
เมื่อตั้งเป้าว่าโตขึ้นไปอยากทำงานเพื่อประโยชน์ของมวลชน เขาจึงมุ่งมั่นอยากรับราชการได้เข้าศึกษาทางสายอาชีวะศึกษาวิทยาลัยเทคนิคยะลาก่อนศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หรือ “เทคโนสงขลา” ในสมัยนั้น เมื่อจบการศึกษาใน พ.ศ. 2527 เสรีได้งานเป็นลูกจ้างชั่วคราวประจำกรมทางหลวงที่กรุงเทพมหานครเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ 2 ปี ก็สอบ ก.พ. และได้บรรจุเป็นข้าราชการฝ่ายก่อสร้างชลประทานขนาดเล็กที่ 10 ต้องโยกย้ายไปประจําการที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งกลายเป็นบ้านหลังใหม่ของเขามาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อได้งานที่กรมชลประทานแล้ว เสรีเริ่มจากการเป็นผู้ช่วยผู้ควบคุมงานในสนามจนมาเป็นวิศวกร ผู้ควบคุมงานในพื้นที่ก่อสร้าง (Site Engineer) ก่อนเลื่อนขั้นมาจนถึงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายก่อสร้างในปัจจุบัน หน้าที่หลัก คือการกำกับดูแลวิศวกรในแต่ละพื้นที่ให้ดำเนินงานสำเร็จลุล่วงตามแผนที่วางไว้ โดยทุกคนถือเป็นลูกน้องที่เขาไว้เนื้อเชื่อใจและถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ ให้ด้วยตนเอง เมื่อมีลูกน้องเป็นกำลังสำคัญ จึงทำให้เขาไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่เองมากเท่าสมัยก่อน แต่ก็ไม่เคยละเลยหรือว่างเว้นที่จะลงไปกำกับดูแลในพื้นที่ด้วยตัวเองบ้างเป็นครั้งคราว
กุมหัวใจชาวบ้าน
การจะสร้างเขื่อน ฝาย และอ่างเก็บน้ำในแต่ละพื้นที่ให้สำเร็จเป็นงานยาก กินระยะเวลานานและต้องรับมือกับปัญหามากมาย หนึ่งในนั้นคือการรับมือกับคนในพื้นที่ ที่บางครั้งอาจไม่เข้าใจว่าต้องสร้างเขื่อนไปทำไม หรือเพราะเหตุใดถึงต้องเลือกพื้นที่ตรงนี้ด้วย
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เสรีค้นพบว่าความสำเร็จ ของงานนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ลงไปทำความรู้จัก ผู้คนในพื้นที่อย่างจริงจัง “หัวใจหลักของคนก่อสร้างคือ ต้องเข้าในพื้นที่จะเข้าไปทําความรู้จักกับคนพื้นที่ให้ได้ ต้องมีความจริงใจในการทํางาน พูดคำไหนคำนั้น ถ้าเรายึดถือคตินี้ไว้จะทำให้งานสะดวกราบรื่น สิ่งไหน เป็นประโยชน์ของชาวบ้าน ถ้าสามารถทําได้โดยไม่ผิดกับระเบียบกติกา เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่งานได้รับประโยชน์ จากโครงการที่เข้าไปมากที่สุดก็จะทำ”
จงทำงานของอนาคต
นอกจากยึดหลักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา อีกคติที่เสรี ยึดมั่นมาตลอดก็คือ “อย่าทำงานวันนี้ ให้เอางานในอนาคตมาทำ” เพราะในสายงานนี้ การก่อสร้างในแต่ละพื้นที่มักใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีจึงจำเป็นต้องวางแผนทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อนจะลงมือจริง เพราะหากไม่เตรียมพร้อมวางแผนแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อถึงเวลาลงมือจริงจะต้องเสียเวลามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียวจนงานเสร็จช้ากว่าที่ควร
เสรีแบ่งโครงสร้างหน้าที่การทํางานในหน่วยงานของเขาชัดเจนว่าตัวเขาจะมองภาพในระยะเวลาเป็นปี ส่วนลูกน้องในบังคับบัญชาจะรับผิดชอบงานในส่วนที่กินระยะเวลาน้อยลดหลั่นกันลงมา “พนักงานทั่วไป ให้ทำงานวันนี้ ระดับหัวหน้าของงานให้ทํางานล่วงหน้าสัก 7 วันหากคนควบคุมงานในพื้นที่ต้องทำงานล่วงหน้าสักเดือนนึง ส่วนผมทำงานล่วงหน้า 1 ปี ถ้าทำแบบนี้ ปัญหาที่เกิดจะลดน้อยลง แล้วเราจะทำงานเสร็จตาม เป้าหมายที่วางไว้ครับ”
รางวัลของคนทุ่มเท
รับราชการมากว่า 30 ปี อาจเรียกได้ว่าไม่มีวันไหนที่เสรีไม่ตั้งใจและไม่ทุ่มเทให้กับงาน เขาเล่าว่าแทบทุกวันจะออกจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ และกลับถึงบ้านดึก ๆ ดื่น ๆ เสมอ “ในสายงานก่อสร้างไม่มีการทำงานแค่ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นไม่เคยคํานึงถึงเลย”
ผลจากการตรากตรำทำงานหนักมาโดยตลอดการได้รับรางวัล “ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ระดับกรม สายงาน ก่อสร้าง” จึงมีค่าต่อตัวเขามากๆ เพราะแสดงให้เห็นว่ามีคนมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำไม่น้อย “สิ่งเหล่านี้เราทำโดยตลอด เมื่อกรมชลประทานเห็นความสำคัญ ก็ดีใจและขอบคุณมากครับที่มอบรางวัลนี้ให้”
เหลือระยะเวลาอีกเพียงแค่ 4 ปี ที่เขาจะครบเกษียณราชการ เสรียอมรับว่าเขายังไม่ได้วางแผนว่า ชีวิตหลังเกษียณไว้เลยว่าจะทําอะไรจริง ๆ จัง ๆ บ้าง “ก็คงอยู่ใช้ชีวิตไปกับการทำไร่และท่องเที่ยวเติมเต็มประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต”
ช่วงเวลา 4 ปีที่เหลืออยู่นี้ เสรี ภักดี สัญญามั่นว่า เขาจะทำงานที่รักนี้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่องเช่นที่เคยทำมา เพื่อไม่ให้เสียชื่อที่ได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จมา และเพื่อเป็นการตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังเช่น ที่เคยปฏิญาณไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม เชื่อได้ว่าบุคคลชลประทานเช่นเขา แม้เมื่อวันที่จะครบเกษียณอายุราชการมาถึงวันใด จะไม่มีใครลืมผลงานและคุณงามความดีของเขาที่สร้างสมไว้ อย่างแน่นอน