โควิด-19 ถือเป็นยิ่งกว่าฝันร้ายของคนไทยและคนทั่วโลก กับการแพร่ระบาดที่เคยทำให้เราต้องลอคดาวน์ประเทศมาแล้ว ซึ่งมูลค่าความเสียหายต่อการลอคดาวน์ประเทศ1วัน คือ 15,000-16,000 ล้านบาท และในตอนนี้ สิ่งที่คนไทยกำลังประสบอีกครั้งคือ “การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19”
ซ้ำร้ายการระบาดระลอกใหม่นี้ ดูเหมือนจะมีผู้ติดเชื้อในแต่ละวันเพิ่มมากขึ้นกว่าในระลอกแรก ตัวเลขอัพเดตของวันที่ 3 มกราคม 2564 คือ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 541 คน ทำให้โอกาสของการลอคดาวน์จึงมีแนวโน้มจะกลับมาอีกครั้ง และหากเกิดขึ้นจริงธุรกิจร้านอาหารก็ถือเป็นธุรกิจแรกที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงอีกครั้ง
แต่การรับมือครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งใหม่ หากเพราะครั้งแรกด้วยความตระหนกตกใจ กับไวรัสที่เราไม่เคยรับมือมาก่อน ในวันนี้ธุรกิจร้านอาหารส่วนใหญ่ จึงใช้บทเรียนจากการระบาดรอบก่อนมาวางแผน เตรียมการรับมือได้เป็นอย่างดี
ร้านอาหารจะ “รอด” ได้อย่างไร หากเกิดการลอคดาวน์ประเทศอีกครั้ง
1.ต้องปรับตัวให้ทันเหตุการณ์และพฤติกรรมของผู้บริโภค
เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปหลังมีการปิดเมือง ร้านอาหารต้องปรับเปลี่ยนทั้งเวลาและรูปแบบการขาย เพื่อให้เข้ากับผู้บริโภค
เจ้าของร้านบะหมี่หมูแดงย่านวัชรพล กล่าวว่า ปกติร้านจะเปิดเวลา 19.00-03.00น. แต่เมื่อมีการปิดเมืองเมื่อต้นปี ทำให้ทางร้านปรับเปลี่ยนเวลาเปิดปิดเป็น15.00-21.00 น. จากที่เคยให้มีการทานหน้าร้าน ตอนนี้จะใช้วิธีรับบัตรคิวเพื่อสั่งกลับบ้าน หากมีการลอคดาวน์อีกครั้ง ก็ไม่น่าจะส่งผลการการขายมากนัก
2.ต้องสร้าง Promotion และแรงจูงใจที่เข้ากับสถานการณ์
เมื่อมีการปิดเมืองแต่ธุรกิจร้านอาหารต้องดำเนินต่อไป ร้านอาหารจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจในการซื้อของลูกค้า ตัวอย่างเช่น Penguin Eat Shabu เล่นใหญ่! ออกโปรโมชั่นใหม่ “ชาบูแถมหม้อ” เป็นกลยุทธ์ช่วง COVID 19 ที่นอกจากจะได้ใจลูกค้าแล้ว ยังพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสพิสูจน์ ให้เห็นว่า ทุกธุรกิจสามารถมองเห็นโอกาสได้เสมอ หากคิดอย่างเข้าใจว่าความต้องการของผู้บริโภคคืออะไร ได้อย่างตรงประเด็นและเข้ากับสถานการณ์
3.การสร้างประสิทธิภาพในองค์กร
การให้ความรู้และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคนในองค์กร กลายเป็นสิ่งสำคัญมากกว่ากำไรในเวลานี้
เจ้าของร้านสเต๊กแถวบางบอนกล่าวว่า ร้านตนตั้งอยู่บนพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังเนื่องจากเป็นพื้นที่สีแดง ลูกค้าส่วนใหญ่จะใช้วิธีสั่งกลับบ้าน ตนได้นำร้านเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ทำให้ถึงแม้ร้านจะอยู่ในพื้นที่สีแดง แต่ก็มีลูกค้ามาใช้สิทธิ์คนละครึ่งกันพอสมควร ในช่วงแรกมีลูกค้าหลายคนใช้สิทธิ์ไม่เป็น ตนจึงมีการอบรมลูกจ้างทุกคนที่อยู่ประจำร้าน ไม่ว่าใครก็ต้องสามารถให้ความสะดวกและอธิบายขั้นตอนการกดใช้สิทธิ์คนละครึ่งให้ลูกค้าที่เข้าร้านได้ ทำให้ตอนนี้ถือว่ารายได้ของทางร้านยังสามารถดำเนินต่อไปได้
4.การเพิ่มช่องทางการขายให้หลากหลาย
เพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ร้านค้าจำเป็นต้องหา ”New Normal” สำหรับเพิ่มยอดขายให้ตัวเองมากขึ้น
เจ้าของร้านข้าวแกงบุฟเฟต์ย่านลาดพร้าวกล่าวว่า นอกจากตนจะนำร้านเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งแล้ว ยังนำร้านเข้า Application สำหรับการส่งอาหารหลายแห่ง เพราะปกติร้านของตนเป็นร้านบุฟเฟต์คนส่วนใหญ่มานั่งทานหน้าร้าน ถ้ามีการลอคดาวน์ลุกค้าจะไม่สามารถมานั่งทานได้เหมือนเดิม ตนจึงใช้วิธีจัดส่งแบบ Delivery ส่วนราคาก็จะถูกกว่าทานหน้าร้านโดยลูกค้าสามารถเลือกกับข้าวได้ 2-3 อย่าง ทุกวันนี้รายได้ส่วนใหญ่มาจากการสั่งออนไลน์ผ่าน Application มากกว่าลูกค้า Walk In ถึง 80%
5.สุขอนามัยที่ดีคือวิธีที่ทำให้ร้านน่าเชื่อถือได้ดีทีสุด
วิธีการที่จะรับมือกับเชื้อโรคได้ดีที่สุดก็คือ ความสะอาดและสุขอนามัย ร้านที่มีระบบการป้องกันที่ดี จะสร้างความน่าเชื่อถือให้ลูกค้าและผู้ที่มาใช้บริการได้ดีที่สุด เช่น
- มีจุดล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ มีจุดวัดอุณหภูมิให้เรียบร้อยก่อนเข้าร้าน
- การเว้นระยะตามหลัก Social Distancing
- ต้องมีการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ทั้งผู้ให้บริการและผู้มาใช้บริการ
- การจัดคิวรับอาหารแบบมีระบบและมีระยะห่างที่ถูกต้อง