ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

“ไม้ยืนต้น” มีค่า ใช้ค้ำประกันสินเชื่อ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอสินเชื่อ กู้ได้ 5 หมื่น – แสนบาท/ราย


นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.61 ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ให้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้

ทำให้ เกษตรกร และประชาชนที่ต้องการใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อโดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเองเพื่อการออม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 30 มิ.ย.64) มีสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อย “พิโกไฟแนนซ์” รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้วจำนวน 119,498 ต้น มูลค่าสินเชื่อรวมกว่า 134 ล้านบาท

เฉพาะธุรกิจสินเชื่อ พิโกไฟแนนซ์ รับแล้วจำนวน 96,277 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 4.03 ล้านบาท โดยมีต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจส่วนใหญ่ ได้แก่ ยาง ยางพารา สัก เป็นต้น

ในส่วนของสถาบันการเงินอื่น รับแล้วจำนวน 23,221 ต้น มูลค่าสินเชื่อกว่า 130 ล้านบาท ต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ ได้แก่ สัก มะขาม มะกอกป่า สะเดา ตะโก แดง ประดู่ป่า เป็นต้น โดยเป็นสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 221 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 2.35 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก (1 มี.ค.63 – 30 มิ.ย.64) มีเกษตรกรนำไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน จำนวน 25,720 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 4.11 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินกับผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์ และ ธ.ก.ส. ซึ่งช่วยให้เกษตรกรโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย

ทั้งนี้ จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ นอกเหนือจาก บัญชีเงินฝาก รถจักรยานยนต์ รถยนต์ เป็นต้น แม้ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและเกษตรกรจะได้รับวงเงินสินเชื่อที่ไม่สูงมากนัก ประมาณ 50,000- 100,000บาท/ราย

แต่การที่สามารถใช้ต้นไม้ที่มีอยู่แล้วเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยที่ไม่มีทรัพย์สินในการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นได้มีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น รวมทั้งลดการกู้ยืมเงินนอกระบบที่ไม่เป็นธรรม ผิดกฎหมาย และสร้างภาระให้เกษตรกรในระยะยาว