ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ชี้ช่องรวย แนะ หนี้ดี – หนี้เสีย คืออะไร พร้อมการจัดการหนี้เสียที่จะทำให้หลุดพ้นจากวงโคจร


หลายคนมักมองว่าการ “เป็นหนี้” ไม่ใช่เรื่องดี ในความเป็นจริงรู้หรือไม่ว่าการเป็นหนี้อาจเป็นหนทางสู่ความรวยก็ได้ นั่นขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นหนี้แบบไหน วันนี้ ชี้ช่องรวย จะมาบอกให้ทราบถึงความหมายของ หนี้ดี – หนี้เสีย ว่าแตกต่างกันอย่างไร พร้อมวิธีการจัดการหนี้เสีย มาดูกันเลยว่าจะมีอะไรบ้าง

“หนี้ดี” หมายถึง หนี้ที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้จากการลงทุนกู้ยืมเงินจากธนาคารมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เช่าแล้วได้ส่วนต่างเป็นกระแสเงินสด หรือ กู้เงินเพื่อลงทุนทำธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้และผลกำไร จนสามารถชำระหนี้ได้หมด และเหลือส่วนต่างของกำไร

“หนี้เสีย” หมายถึง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้ที่เกิดจากการซื้อของฟุ่มเฟือย หรือใช้จ่ายเกินตัว และไม่สามารถจัดการควบคุมได้จนส่งผลให้เกิดหนี้สินวนเวียนเป็นวงจรจนไม่อาจแก้ไขอะไรได้

หนี้เสียส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

  1. หนี้เสีย สร้างวินัยทางการเงินที่ไม่ดี กระทบการผ่อนจ่ายหนี้ก้อนอื่น ๆ ถ้ามี ตลอดจนกระทบต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในระยะยาว
  2. เครดิตทางการเงินเสียหาย ทำให้เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ต้องขอสินเชื่อครั้งต่อไป มีสิทธิสูงมากที่จะไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ ส่งผลเสียระยะยาว
  3. ถูกฟ้องร้อง ยึดทรัพย์ กรณีที่ผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ที่ก่อไว้ได้ เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องร้องลูกหนี้ และอาจถูกยึดทรัพย์สินได้

วิธีกำจัดหนี้เสีย

1.สำรวจภาระหนี้สินที่มี

บางครั้งการผิดนัดชำระหนี้จนกลายเป็นหนี้เสีย อาจเกิดขึ้นมาจากความละเลย และลืมหนี้ก้อนดังกล่าวไป อย่าลืมมั่นสำรวจภาระหนี้สินที่เราต้องรับผิดชอบอยู่เสมอ และพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ของเราว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพื่อที่จะได้หาวิธีการแก้ไขต่อไป

2.จัดสรรค่าใช้จ่าย และหารายได้เพิ่ม

เมื่อสำรวจภาระหนี้สินแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำก็คือ การจัดแจงค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้เหมาะสม เพื่อที่จะได้เหลือเงินไปชำระหนี้ที่ต้องรับผิดชอบ ในขณะเดียวกันหากมีโอกาสก็ควรมองหาการสร้างรายได้ทางอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรายรับให้มากขึ้น ทำให้มีความสามารถในการชำระหนี้ให้หมดได้เร็วขึ้นนั่นเอง

3.ปรับโครสร้างหนี้

ใช่แล้ว ! แม้ว่าการปรับโครงสร้างหนี้ อาจถูกบันทึกอยู่บนประวัติเครดิตบูโรของเรา แต่เชื่อเถอะว่า ประวัติการปรับโครงสร้างหนี้ ย่อมดีกว่าประวัติหนี้เสีย มากเลยทีเดียว เพราะหากเพื่อน ๆ ได้ทำการปรับโครงสร้างหนี้แล้วทำให้มีภาระการจ่ายหนี้ที่ลดลง หรือมีระยะเวลาในการชำระหนี้คืนมากขึ้น ทำให้สามารถสร้างประวัติการชำระหนี้ให้เป็นไปได้ตามเงื่อนไข และต่อเนื่อง แม้จะมีประวัติการปรับโครงสร้างหนี้ การขอสินเชื่อครั้งต่อไปย่อมมีโอกาสกว่าการติดแบล็คลิส หรือหนี้เสียในเครดิตบูโรอย่างแน่นอน

4.มีวินัยทางการเงิน

การสร้างวินัยทางการเงินที่ดี คือวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้เสียและปัญหาอื่น ๆ ทางการเงินได้ในระยะยยาว ลองวางแผนทางการเงิน ก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น หรือหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้น้อยที่สุด หาวิธีทางชำระหนี้ให้หมดเพื่อลดภาระทางการเงิน หมั่นติดตามประสิทธิภาพในการบริหารจัดการหนี้สิน เพื่อที่จะได้แก้ไขให้ทันสถานการณ์อยู่เสมอ