วันที่ 19 มิถุนายน 2565 นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ ผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร Seamstress Training Course ณ โรงเรียนสอนตัดเสื้อเสริมสวยรุ่งรัตน์ อบรมเตรียมความพร้อมก่อนการประเมินสมรรถนะฯ อาชีพช่างเย็บเสื้อผ้า ระดับ 4 โดยวิทยากรที่มาให้ความรู้ คุณสุเทพ เรืองปราชญ์ ผู้บริหารโรงเรียนสอนตัดเสื้อเสริมสวยและห้องเสื้อรุ่งรัตน์ และคุณอาภรณ์ ขำแป้ง ผู้เชี่ยวชาญในอาชีพ
กิจกรรมการอบรมดังกล่าว เป็นโครงการที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เช่น มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า สภาคริสจักรในประเทศไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet) เป็นต้น ในการพัฒนาทักษะศักยภาพแรงงานข้ามชาติให้ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ จึงได้จัดอบรมหลักสูตรนี้ขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อม และพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งภายใต้โครงการดังกล่าว มุ่งหวังที่จะให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย ในภาคส่วนต่างๆ ทั้งแรงงานที่ทำงานในบ้าน (อาชีพแม่บ้าน) แรงงานที่ทำงานในสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม (เช่น อาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า) รวมถึงแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (เช่น อาชีพช่างก่ออิฐ เป็นต้น) ได้รับการพัฒนาสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ และเข้าสู่การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อประโยชน์ในการรับรองความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ทำงานของแรงงานที่ได้รับสั่งสมจากการทำงาน สามารถใช้เพื่อความก้าวหน้าในการทำงานได้ เป็นการสร้างความเข้มแข็งและสามารถให้แรงงานข้ามชาติได้โอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีกด้วย
อาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ สามารถสร้างรายได้หลัก หรือรายได้เสริม จึงได้จัดทำหลักสูตร “เตรียมความพร้อมก่อนการประเมินสมรรถนะฯ อาชีพ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ระดับ 4” ซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดเตรียมอุปกรณ์ และเทคโนโลยีการผลิตเสื้อผ้า ความรู้ด้านเทคนิคการตกแต่งใหม่และเทรน แฟชั่น ออกแบบตกแต่งเสื้อผ้าได้ตามความต้องการของผู้บริโภค แก้ไขปัญหาและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นและตัดเย็บเสื้อผ้าใหม่ได้ถ้าเสื้อผ้าไม่ตรงกับรูปแบบที่ผู้บริโภคต้องการ
สถาบันฯ เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงจัดการอบรมนี้ขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะในอาชีพที่ทำอยู่ในปัจจุบัน (Up-skill) และพัฒนาทักษะเสริม (Soft- skill) เพิ่มโอกาสให้กับแรงงานข้ามชาติที่ประกอบอาชีพในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย และเพิ่มผลิตภาพให้กับแรงงานสำหรับผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้การอบรมมีการ workshop ให้กับผู้เข้าอบรมได้ฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ที่สามารถนำไปพัฒนาสมรรถนะในอาชีพของตนเองได้ ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ไม่เพียงพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทยเท่านั้น ยังรวมถึงการต่อยอดสู่การประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ของสถาบันฯ อีกด้วย ซึ่งกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมโครงการ เป็นพนักงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า และเจ้าของกิจการร้านตัดเย็บเสื้อผ้าในเครือข่ายของมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) ซึ่งได้รับการพัฒนาศักยภาพเบื้องต้นมาจากกิจกรรมของมูลนิธิ และส่งต่อเข้าสู่การอบรมและรับรองคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาวิชาชีพสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อาชีพช่างเย็บเสื้อผ้าต่อไป
#สคช. สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต