ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ครบรอบวันสถาปนา ‘ธรรมศาสตร์’ ก้าวสู่ปีที่ 90 ยืนหยัดเพื่อประชาชน


เฉลิมฉลองปีที่ 89 ก้าวเข้าสู่ปีที่ 90 อย่างเต็มภาคภูมิ “ธรรมศาสตร์” จัดงาน “วันสถาปนาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ตรงกับวันที่ 27 มิถุนายนของทุกปี พร้อมมอบรางวัลเข็มเกียรติยศ รางวัลอันทรงคุณค่าสูงสุดประจำปี 2565 ให้แก่ นายประกิต อภิสารธนรักษ์

 

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงาน “วันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบปีที่ 89” ขึ้น เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 เพื่อเฉลิมฉลองและเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทำคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศชาติ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีนักศึกษา คณาจารย์ ศิษย์เก่า และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 500 ราย

 

 

สำหรับกิจกรรมในงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตรงกับวันที่ 27มิถุนายนของทุกปี เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเช้าด้วยพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถัดจากนั้นเป็นพิธีมอบเข็มเกียรติยศ โล่เกียรติยศ โล่เกียรติคุณ ตลอดจนประกาศยกย่องผู้ประกอบคุณงามความดีให้เป็น “กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” “ครูดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และ “บุคลากรดีเด่น” ประจำปี 2565

 

 

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ธรรมศาสตร์ถือกำเนิดจากการให้โอกาส จากอุดมการณ์ที่หยิบยื่นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับคนไทย ซึ่งก็คือโอกาสทางการศึกษาสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม ธรรมศาสตร์มีโครงการต่างๆ ที่มีจุดมุ่งหมายให้กลุ่มคนที่ขาดโอกาสสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้ไม่ว่าจะเป็นโครงการนักศึกษาเรียนดีจากชนบท โครงการนักศึกษาพิการ โครงการช้างเผือก เป็นต้น ซึ่งธรรมศาสตร์ได้สนับสนุนทุนการศึกษาให้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ให้โอกาสแก่ผู้คนอยู่เสมอ

 

 

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กว่า 89 ปีของการเดินทางที่ยาวนานของธรรมศาสตร์ เราพร้อมแล้วที่จะก้าวไปให้ไกลขึ้น กับการยืนหยัดในวิถีและจิตวิญญาณในการรับใช้ประชาชนในระดับพลเมืองของโลก ในปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่พวกเราได้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตมาได้ โดยมีการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งยังพัฒนาสิ่งที่ยังขาด รักษาสิ่งที่ดีงาม ควบคู่กันไป เมื่อสถานการณ์อันหนักหน่วงผ่านพ้นไปแล้ว เราจึงมีหน้าที่ที่จะมุ่งไปข้างหน้าอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสร้างมหาวิทยาลัย สังคม และโลกใบนี้ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

 

 

นัสรี พุ่มเกื้อ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่กล่าวในวันนี้เกี่ยวข้องกับวาทกรรม 2 ประโยค คือธรรมศาสตร์เป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย และฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ซึ่งท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หน้าที่ของเราคือการทบทวนหลักการที่เราอ้างและวาทกรรมที่เราบอกว่าเป็นภาพสะท้อนของธรรมศาสตร์ว่าสิ่งนั้นยังคงเป็นจริงหรือไม่ การเฉลิมฉลองการสถาปนามิควรเป็นแค่การที่เราหันมองไปเพื่อแสดงความยินดีกับเรื่องราวในอดีต แต่ควรเป็นการตระหนัก ทบทวน และกำหนดถึงอนาคตว่าธรรมศาสตร์ควรเป็นอย่างไร และมีสถานะอย่างไรในสังคมไทย

 

 

คุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษา กล่าวว่า วันนี้ธรรมศาสตร์ไม่ใช่เพียงมหาวิทยาลัย ที่มีไว้เพียงเพื่อจะดับความกระหายใคร่รู้ของหมู่ราษฎร หากแต่ในสายตาของใครหลายคน ธรรมศาสตร์เปรียบเสมือนหลักชัยแห่งการต่อสู้ทางประชาธิปไตยของชนชั้นไพรในประเทศไทย ซึ่งในอนาคตมหาวิทยาลัยจะมีตึกใหญ่โต มีหลายศูนย์การศึกษา มีองค์ความรู้ทางวิชาการที่เข้มข้น แต่ทั้งหมดจะหมดสิ้นความหมายหากเราลืมรากเหง้าของตัวเราเอง

 

 

ทั้งนี้ ภายในงาน มธ. มีมติมอบเข็มเกียรติยศ ซึ่งถือเป็นรางวัลอันทรงคุณค่าสูงสุด ให้แก่ นายประกิต อภิสารธนรักษ์ ประธานกรรมการ บริษัท ประกิต โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ บริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล

 

 

พร้อมกันนี้ มธ. ยังได้มอบรางวัลอันทรงเกียรติในด้านต่างๆ แก่บุคลากรซึ่งได้สร้างสรรค์ผลงานและคุณงามความดี ควรค่าแก่การยกย่อง ประกอบด้วย รางวัลกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2565 ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ ศ.ดร.นุรักษ์ กฤษดานุรักษ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ ศ.นพ.ก้องเกียรติ กูณฑ์กันทรากร คณะแพทยศาสตร์

รางวัลครูดีเด่น ประจำปี 2565 มอบให้ผู้ที่มีความเสียสละ อุทิศตนให้แก่การสอน มีจริยธรรมและเมตตาธรรม เป็นแบบอย่างความเป็นครูที่ดี จำนวน 4 ท่าน 4 สาขา ได้แก่ รศ.ดร.ศุภกร ภู่เจริญศิลป์ สถาบันภาษา ครูดีเด่นสาขามนุษยศาสตร์ ศ.ดร.ศากุน บุญอิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ครูดีเด่นสาขาสังคมศาสตร์ ศ.ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ครูดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.นพ.อดิศัย บัวคำศรี คณะแพทยศาสตร์ ครูดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ในโอกาสนี้ ยังมีพิธีมอบ โล่เกียรติยศ ให้แก่ศิษย์เก่าดีเด่นและผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัย จำนวน 58 ท่าน สำหรับศิษย์เก่าดีเด่น ได้แก่ 1. นายกิตติศักดิ์ กล่อมจิตต์ 2. ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ 3. น.ส.ฉวีวรรณ อุทัยพิบูลย์ 4. นายชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์ 5. นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ 6. ผศ.ดร.ฐปน ชื่นบาล 7. นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ 8. น.ส.ณัฐกานต์ โนรี 9. นายเดชบุญ มาประเสริฐ 10. ร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ 11. นางทีนามารี (โชติรวี) ผลาดิกานนท์ 12. นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี 13. นายบัญชา เชาวรินทร์ 14. ดร.เบญจรัตน์ บรรเทิงสุข 15. พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ 16. นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ 17. น.ส.พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล 18. น.ส.พัชรี พุ่มพชาติ 19. นายพินิต พงษ์เพชร​ 20. นายภักดี จันทร์เกษ 21. พลเอกยศนันท์ หร่ายเจริญ 22. ดร.รุ่งโรจน์ โชคงามวงศ์ 23. นางวราลักษณ์ อภิกุลวณิช 24. นายวีระ แสงสมบูรณ์ 25. รศ.ศรีสุดา อาชวานันทกุล 26. ดร.ศุภเกียรติ คำบุทอง 27. นายศุภมิตร ชิณศรี 28. นายศุภวุฒิ จิรมนัสนาคร 29. นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ 30. ศ.ดร.สมเกียรติ วันทะนะ 31. รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ 32. รศ.สวาท แย้มวงษ์ศรี 33. นายสัมฤทธิ์ สำเนียง 34. ดร.สุนีย์ ศรไชยธนะสุข 35. ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร 36. นพ.อนุสรณ์ ศิริโชติ 37. นางอาริยา หยาง 38. นายอุเทน ชนะกุล

ในส่วน ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัย ได้แก่ 1. น.ส.กัลยาณี คงสมจิตร 2. ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ 3. นายนคร มุธุศรี 4. รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต 5. ผศ.ประภัสสร เลียวไพโรจน์ 6. พญ.พนิดา มุกดีพร้อม 7. นายไพบูลย์ นลินทรางกูร 8. นางมธุรดา วงศ์ไวโรจน์ 9. นายวิชิต ลือชัยประสิทธิ์ 10. พญ.ศิริวรรณ ฮุ่นตระกูล 11. น.ส.ศุกร์ศิริ อภิญญานุวัฒน์ 12. นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ 13. นายสุเทพ วงศ์รื่น 14. นายอรุณ ลีลาพัฒนภูติ 15. รศ.อัญชลี พิพัฒนเสริญ 16. Mr. TSANG KEUNG CHEUNG 17. มูลนิธิสิทธิอิสรา 18. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 19. สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 20. สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

อนึ่ง นับตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2477 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง 2 ปี ซึ่งเป็นยุคที่ประชาชนกระหายใคร่รู้และตื่นตัวกับประชาธิปไตย ขณะนั้นมีได้มีการสถาปนา “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง” (มธก.)ขึ้น โดยมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ประศาสน์การ อันมุ่งหมายสร้างสถาบันการศึกษา ให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องประชาธิปไตย นั่นทำให้ทุกวันที่ 27 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์