ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

“บ้านแพ้วกรุ๊ป” โลจิสติกส์ 500 ล้านบาท เกี่ยว 3 ธุรกิจขนส่ง กินรวบอีสานใต้


คุณศักรินทร์ นุติพรรณ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ้านแพ้วกรุ๊ป เล่าว่า เส้นทางแห่งความสำเร็จนี้ ถ้ามัวแต่เป็นฝ่ายรอลูกค้าให้วิ่งเข้ามาหาอย่างเดียวก็คงมีคิวขนส่งสินค้าที่น้อยเหมือนเดิม แต่ถ้าวิ่งเข้าหาลูกค้าน่าจะสร้างรายได้เพิ่มได้อีกทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเดินสายเข้าหาโรงสีข้าวต่างๆ เพื่อรับจ้างขนข้าวสารจากเกษตรกรมาส่งโรงสี พอโรงสีข้าวและเกษตรกรรู้จักเขาเพิ่มขึ้น ก็ทำให้คิววิ่งรถแน่นขึ้นเรื่อยๆ

 

เมื่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2545 เขาจึงจดเป็นนิติบุคคลเพื่อขยายธุรกิจ โดยมีอีกแนวคิดที่ว่า “รถ” เป็นสิ่งที่สร้างรายได้หลากหลายช่องทาง จึงติดต่อบริษัทใหญ่ๆ เพื่อเป็นตัวแทนขายสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ดัง โดยใช้รถไปซื้อสินค้าจากผู้ผลิตมาขายส่งที่อุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งขณะนั้นยังมีเงินทุนน้อยจึงต้องใช้วิธีซื้อมาขายไป จนเริ่มมียอดสั่งซื้อมากขึ้น ทางบริษัทเลยให้สิทธิ์เป็นดิสทริบิวเตอร์ (Distributor) รายเดียวที่ดูแลในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง

 

การได้รับโอกาสดังกล่าว ถือเป็นบันไดขั้นแรกช่วยให้บ้านแพ้วกรุ๊ป แจ้งเกิดสำเร็จโดยเหตุผลสำคัญที่ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ยักษ์ระดับประเทศ เลือกใช้บริการดิสทริบิวเตอร์ภูธรแทนบริษัทผู้กระจายสินค้าเจ้าใหญ่ในเมืองนั้นมาจากค่าบริการถูกกว่ารวมถึงความคุ้นเคยในพื้นที่สูง และสามารถบริการส่งสินค้าเข้าถึงลูกค้ายี่ปั๊ว ซาปั๊ว ไล่ไปถึงโชห่วย ตามตรอก ซอก ซอยได้ทั่วถึงกว่าบริษัทใหญ่จากกรุงเทพฯ

 

ปัจจุบันธุรกิจในเครือบ้านแพ้วกรุ๊ป แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ บริการโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า ตัวแทนขายสินค้าของแบรนด์ใหญ่ และศูนย์กระจายสินค้า โดยมีบริการรถขนส่งสินค้าครบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถสิบล้อขนตู้คอนเทรนเนอร์ รถสิบล้อพ่วง รถห้องเย็น ประมาณ 90 คัน ผลประกอบการรวมทั้ง 3 กิจการ เมื่อปีที่แล้ว (2556) ประมาณ 480 ล้านบาท ปีนี้ (2557) คาดอยู่ที่ 530 ล้านบาท และตั้งเป้าจะถึง 1,000 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

“สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้นั้นคือ ห้ามวิ่งรถเปล่าเด็ดขาดเพราะเท่ากับว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายฟรีๆ ไม่ว่าจะวิ่งขาไปหรือขากลับ ภายในรถต้องมีสินค้าบรรทุกหารายได้เสมอ โดยจะต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดี ควบคู่กับมีฐานลูกค้ามากเพียงพอที่จะป้อนงานให้ครอบคลุมได้ตลอดเวลา เพราะผลตอบแทนจากราคาที่รับซื้อสินค้าจากผู้ผลิตเพื่อมาส่งต่อให้ลูกค้านั้น อยู่ที่ 7-15% ต่อหน่วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ชนิดสินค้า เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วจะเหลือกำไรสุทธิจากการวิ่งรถต่อเที่ยวเพียง 2% เท่านั้น ดังนั้นการบริหารต้นทุนจึงเป็นตัวแปรสำคัญว่าธุรกิจโลจิสติกส์นั้นๆ จะรุ่งหรือร่วง”

 

คุณศักรินทร์ ทิ้งท้ายว่า แม้ธุรกิจจะขับเคลื่อนได้ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีจุดเสี่ยงตรงที่เป็นธุรกิจใช้สภาพคล่องทางการเงินสูงมาก เฉพาะแค่สินค้าในสต็อกหมุนเวียนกว่า 40 – 50 ล้านบาทต่อเดือนแล้ว ยังบวกกับต้นทุนพลังงานที่นับวันจะเพิ่มขึ้นอีก การหาแหล่งทุนเสริมสภาพคล่องเป็นสิ่งสำคัญมาก แม้เศรษฐกิจโดยรวมในปัจจุบันจะชะลอตัวแต่สำหรับ “บ้านแพ้วกรุ๊ป” เชื่อว่าเติบโตได้อีก เพราะการทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว สำหรับแผนการตลาดที่เตรียมไว้เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ.2558 นั้น บ้านแพ้วกรุ๊ปจะขยายธุรกิจใหม่บนพื้นฐานความพร้อมที่มีทั้งสายการส่ง และฐานลูกค้ากว่า 8,000 ราย โดยจะผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคภายใต้แบรนด์ของบ้านแพ้วกรุ๊ป เอง ซึ่งจะไม่ซ้ำกับสินค้าของบริษัทที่ทำการขนส่งสินค้าให้อย่างแน่นอน