“Revenue Sharing model” โมเดลธุรกิจที่ใช้วิธีร่วมมือกับสำนักพิมพ์ต่างๆ และแบ่งรายได้จากการขายหนังสือ ถือเป็นโมเดลที่ win winกันทุกฝ่าย ตั้งแต่สำนักพิมพ์ ผู้บริโภค และ Ookbeeด้วยโมเดลที่ชาญฉลาดนี้ ทำให้ Ookbeeก้าวเดินไปบนเส้นทางการเติบโตได้อย่างมั่นคงและมีอนาคต
และด้วยความเชื่อมั่นใน Ookbeeว่าเป็นธุรกิจที่มีเส้นทางสดใสนี่เอง ทำให้ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช ยอมควักกระเป๋าซื้อหุ้น 25% มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจที่กำลังขยายตัวอย่างก้าวกระโดดนี้
ณัฐวุฒิ บอกว่า เขาจำเป็นต้องขายหุ้นเพื่อนำเงินมาลงทุนในการขยาย Ookbeeเพราะการรอให้บริษัททำกำไร แล้วนำกำไรมาขยายธุรกิจ ต้องใช้เวลาพอสมควร โดยเฉพาะการขยาย Ookbeeไปยังต่างประเทศ ต้องใช้เงินมหาศาล ด้วยความที่ช่วงนี้เป็นช่วงของการลงทุนและขยายตัวของธุรกิจ เขาจึงจำเป็นต้องระดมทุน
เป้าหมายของณัฐวุฒิ ยังคงชัดเจนว่า ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2555 จะต้องมียอดขาย 1 พันล้านบาท พร้อมๆ กับการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ณัฐวุฒิมองว่า ยังมีอัตราการใช้งานอีบุ๊กไม่มาก และยังสามารถเติบโตได้อีก โดยปัจจุบัน Ookbeeมีสาขาอยู่ในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย และกำลังจะมีสาขาในอินโดนีเซียเร็วๆ นี้
ซีอีโอแห่ง Ookbeeยอมรับว่า Digital Content เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการเจริญเติบโต เหมือนกับหนังหรือเพลงดิจิตอล ที่ปัจจุบันได้
กลายเป็น Digital Download ทั้งหมด
“ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่การใช้งานในสิ่งเหล่านี้ (หนัง เพลง หนังสือ) จะเป็นดิจิตอล การใช้งานแบบนี้จะเพิ่มขึ้น อีบุ๊กอาจจะไม่ได้มาแทนกระดาษ คนที่เคยชินกับกระดาษ เขาก็ยังมองในแง่ความสะดวก แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ๆ เขาอาจจะข้ามกระดาษมาเป็นแบบนี้เลย เพราะเด็กสมัยนี้เติบโตมากับ ไอแพด ไอโฟน แท็บเล็ต เพียงแต่อาจต้องใช้เวลา แต่มันหนีไม่พ้นอยู่แล้ว มันเป็นอนาคตของรูปแบบการใช้งานที่ก้าวข้ามข้อจำกัดของการเป็นกระดาษที่ต้องพิมพ์จำนวนมากๆ แต่สำหรับอีบุ๊ก ทำแล้วยังแจกฟรีได้เลย เพราะแทบไม่มีต้นทุน”
ณัฐวุฒิ บอกว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จ เพราะโมเดลธุรกิจอยู่บนความพอใจของทุกๆ ฝ่าย แม้ระยะแรก เขาต้องวิ่งเข้าออกสำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่ออธิบายแผนธุรกิจให้สำนักพิมพ์เข้าใจ ซึ่งก็สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง
แต่ผลจากความพยายามดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันมีสำนักพิมพ์ และนักเขียนอิสระเข้าร่วมงานกับ Ookbeeจำนวนมาก เพราะความชัดเจนในการแบ่งผลประโยชน์ระหว่าง Ookbeeและสำนักพิมพ์ รวมถึงผู้บริโภคหรือลูกค้า ที่สามารถใช้เงินจำนวนน้อยนิด แลกกับการอ่านหนังสือได้อย่างหลากหลายและไม่จำกัด
ที่สำคัญผลจากความมุ่งมั่นตั้งใจของณัฐวุฒิและทีมงาน ยังทำให้ Ookbeeได้รับการคัดเลือกจากสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ให้เป็นSoftware ที่ประสบความสำเร็จอีกด้วย
ในแง่ธุรกิจ ณัฐวุฒิ มองว่า เขายังไม่ได้ประสบความสำเร็จในระดับที่คาดหวัง ส่วนหนึ่งมาจากผู้ใช้งานในปัจจุบันที่ยังมีไม่ถึง 10% ซึ่งเขาหวังว่า จะสามารถขยายตัวได้มากกว่านี้
“ความสำเร็จอยู่ที่ว่าเรามองจากตรงไหน ถ้าเป็น 2-3 ปีที่แล้ว เรามองว่าเป็นธุรกิจที่ขยายไปได้ แต่ถ้ามอง ณ ปัจจุบัน ยังพูดไม่ได้ว่า ประสบความสำเร็จในระดับที่พอใจ ผมมองว่าเป็นก้าวแรกๆ ของธุรกิจ เรายังไม่ได้เป็นบริษัทที่มีผู้ใช้งานอ่านหนังสือ อีบุ๊ก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากมาย เพราะมันเป็นของใหม่ เป็นทางเลือกของคนอ่าน Digital Content แต่ยังไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกในตลาด”
ซีอีโอหนุ่ม ยังบอกอีกว่า รูปแบบการใช้งานของอีบุ๊ก ยากที่จะเปรียบเทียบกับโลกของกระดาษ แต่ Ookbeeใช้วิธีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ เช่น บุฟเฟ่ต์ จ่ายเดือนละ 199 บาท อ่านได้ไม่อั้น ถือเป็นความตั้งใจของเจ้าตัวที่อยากเปลี่ยนรูปแบบหนังสือเป็น “ระบบสมาชิก” ซึ่งเขามองว่าเป็นก้าวเล็กๆ ที่สามารถเดินต่อไปได้
นอกจากความสำเร็จของ Ookbeeที่ก้าวเดินได้อย่างมั่นคง ณ เวลานี้แล้ว สิ่งที่ทำให้ ณัฐวุฒิและทีมงานได้รับคำชมเชย และเป็นที่กล่าวขวัญในวงการไอที คือ การเป็น Start Up ที่ประสบความสำเร็จแบบชั่วข้ามคืน
ณัฐวุฒิ ไม่เคยทำงานเป็นลูกจ้างใคร เขาเปิดบริษัท ไอทีเวิร์ค จำกัด ทำธุรกิจด้านไอที เป็น Outsource ให้แก่บริษัทต่างๆ จนกระทั่งวันนี้ เขาให้กำเนิด Ookbeeที่ถือว่าเป็นดาวโรจน์ของวงการไอที ซึ่งความสำเร็จของเขาในวันนี้ มาจากการมีเป้าหมายที่ชัดเจน และลงมือทำ
“ผมมีเป้าหมาย และลงมือทำจริงๆ ผมคิดว่าการเป็น Start Up หรือการทำธุรกิจขึ้นมาจากศูนย์ มันยาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่เรามีความตั้งใจทำจริง และอีกอย่าง คือ เรามีทีมงานที่ช่วยกัน แล้วสามารถพาเราไปถึงตรงนั้นได้ Key Success ของผม คือ เราตั้งเป้าหมายชัดเจน สามารถสื่อสารให้คนในทีมเข้าใจ ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น Business Model การเพิ่มทุน การขยายกิจการ ผมว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา” ซีอีโอหนุ่มเล่า
นอกจากนี้ ณัฐวุฒิ ยังให้ข้อแนะนำสำหรับ Start Up รุ่นใหม่ๆ ว่า การเป็น Start Up ต้องกล้า และมั่นใจว่ามีตลาดใหญ่พอ เพราะ Start Up ต้องปฏิวัติสิ่งที่มีอยู่เดิม ถ้าตลาดเล็ก ผลกระทบกับคนจะน้อยเกินไป ถ้ามั่นใจว่า สิ่งที่ทำมีผลกับคนหลายร้อยหลายล้านคน อย่างน้อยในแง่ไอเดียก็น่าทดลองและลงมือทำ
ณัฐวุฒิ บอกอีกว่า เขาเป็นคนทำงานหนัก และชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวของเขาเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก ในแต่ละวันเขาใช้ชีวิตอยู่กับไอทีตลอดเวลา ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงไม่จำกัดเวลา สมองของเขาทำงานอยู่ตลอดเวลา และ Ookbeeก็เป็นเพียงหนึ่งในไอเดียในหลายสิบไอเดียที่เขาคิดจะทำ
ความสำเร็จของ Start Up หนุ่มคนนี้ จึงเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น