กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด เรื่องราวธุรกิจของ PPS ก็เริ่มที่อิฐก้อนแรกเช่นกัน ไม่ต่างจาก SME ทั่วไป จะต่างกันก็ตรงที่ “หัวใจ” ผู้ประกอบการของ “ดร.พงศ์ธร ธาราไชย” ผู้บริหาร PPS ที่ใช้องค์ความรู้ 27 ปีของเขาก่อร่างสร้างความยิ่งใหญ่ จากห้องแถวเล็กๆ PPS ใช้จุดขายประสบการณ์ความชำนาญทางด้านวิศวกรรมรับเป็นที่ปรึกษาให้กับงานยากๆ นอกจากจะท้าทายความสามารถตัวเองแล้ว ถ้างานสำเร็จผลงานจะสร้างชื่อให้บริษัทแบบทวีคูณ
“ถ้าเทียบกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง รายได้เราอาจจะไม่มากนัก เพราะถ้าเงินค่าโครงการ 100 บาท เงินค่าที่ปรึกษานั้นได้รับไม่เกิน 5 บาท แต่โปรเจ็กส์ที่เราได้รับล้วนมีมูลค่าโครงการมหาศาล และที่ผ่านมาบริษัทก็ไม่เคยขาดทุน มีแต่กำไรตลอด กระทั่งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 พิษเศรษฐกิจเกือบทำให้เราต้องสะดุดล้ม โชคดีว่าได้งานโครงการรถไฟใต้ดินเข้ามาพอดี ทำให้ไม่ต้อง เลย์ ออฟ ใครออก หลังจากผ่านพ้นวิกฤตมาได้ บริษัทก็ฟื้นตัวและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ PPS มีรายได้อยู่ที่ 180 ล้านบาท”
เปลี่ยนธุรกิจครอบครัว สู่นักบริหาร
ดร.พงศ์ธร เข้ามาบริหารธุรกิจของครอบครัวอย่างเต็มตัว หลังเรียนจบปริญญาตรี โท และเอก ด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยเริ่มต้นจากตำแหน่งวิศวกรโยธา ก่อนจะพิสูจน์ตัวเองเลื่อนขึ้นมาเป็นผู้จัดการโครงการ โดยโปรเจ็กส์เด่นๆ ของเขาจะอยู่ในสายงานวิศวกรรมโยธา เช่น งานสะพานข้ามแยก งานทางด่วน งานอุโมงค์ รวมทั้งงานรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน ก่อนจะขึ้นมานั่งตำแหน่งผู้บริหารในปี 2554 และมีโอกาสร่วมตัดสินใจนำบริษัทแปรสภาพเข้าตลาดหลักทรัพย์
1 ปีแล้วที่ PPS เป็นบริษัทมหาชน ดร.พงศ์ธร บอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะช่วยตอกย้ำความเป็นมืออาชีพของ PPS ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทก็เป็นรายแรกในอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน ISO และเข้าจดทะเบียนในตลาดทุน เงินทุนที่ได้จากการขายหุ้นระดมทุน เขานำมาขยายธุรกิจให้บริการคำปรึกษาด้านวิศวกรรมของ PPS ให้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน PPS Group มีบริษัทในเครือที่แตกแขนงความสามารถเฉพาะทางในด้านต่างๆ แบบครบวงจร เช่น PPS Design ออกแบบก่อสร้าง Swan & Maclaren ออกแบบงานสถาปัตยกรรม BUILK พัฒนางานไอทีที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง อย่างแอปพลิเคชั่น PPS SiteWalk ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้วิศวกรใช้ตรวจดูความคืบหน้าโครงการ แม้จะไม่ได้อยู่หน้าไซด์งานก็สามารถดำเนินโครงการได้อย่างราบรื่น
ทำธุรกิจบนพื้นฐานความไว้วางใจ
“การเข้าตลาดหลักทรัพย์ ข้อดีคือ มีคนช่วยสนับสนุนเราให้เติบโต และทำให้ PPS ดำรงอยู่ตลอดไป แต่เราก็จะสูญเสียความเป็นเจ้าของไปบางส่วน ไม่สามารถทำตามใจได้ทุกอย่าง เนื่องจากมีระเบียบอำนาจอนุมัติเท่าที่กำหนด แต่คนที่อยากเกษียณ ก็สามารถเลิกทำงานได้ โดยที่ความเป็นเจ้าของยังอยู่ ทั้งยังได้ปันผล เพราะหุ้นยังมีมูลค่า ถ้าลูกไม่ทำต่อก็ถ่ายโอนให้ผู้อื่นได้ นี่คือข้อดีที่รูปแบบกงสีทำไม่ได้”
ดร.พงศ์ธร บอกว่า ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมนี้มีเพียงแค่ 2 คนก็ทำธุรกิจได้แล้ว ฉะนั้น การแข่งขันในเรื่องราคาอาจเสียเปรียบ แต่มองในอีกมุมหนึ่ง ผู้ประกอบการรายใหญ่กลับไว้วางใจมอบเมกะโปรเจ็กส์ให้อยู่ในมือ PPS เพราะมองว่าเป็นบริษัทมหาชน เท่ากับตัดปัญหาเรื่องการทิ้งงาน หรือไม่สามารถแบกรับความเสียหายของโครงการได้
“ความน่าเชื่อถือคือ Key Success ของเรา ลูกค้าของ PPS ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าเก่าทั้งนั้น อีกอย่างเราไม่ได้เป็นองค์กรที่หิวรายได้ แต่เรากระหายความสำเร็จของลูกค้า ยิ่งเมื่อมาอยู่ในตลาดทุน ก็ยิ่งทำให้องค์กรที่ดีอยู่แล้วสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็วยิ่งขึ้น สำหรับ SME ที่กำลังจะตัดสินใจว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ คุณต้องเข้าใจและรู้ความต้องการของตัวเองก่อนว่าอยากจะเข้าตลาดทุนเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ถ้าสิ่งที่ต้องการตรงกับสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ตอบโจทย์ คุณก็ควรจะเข้า”
สร้างแบรนด์ผ่านกิจกรรม CSR
หลังจากนำพาองค์กรเข้าตลาดหลักทรัพย์ ดร.พงศ์ธร ก็เกษียณตัวเองจากไซด์งาน แล้วผันมาทำงานด้านบริหาร รวมถึงใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาทำประโยชน์ด้านอื่นๆ เพื่อสังคม เรื่องหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้บริหารหนุ่ม คือ การพัฒนาความยั่งยืน บนพื้นฐานของ 3 แนวคิดหลักที่สร้างความเจริญเติบโตให้กับ PPS มาโดยตลอดนั่นคือ สร้างคน สร้างนวัตกรรม และสร้างงานที่ดี
“ความจริงงานของเรากับความรับผิดชอบต่อสังคม มันเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่สามารถแยกจากกันได้ แล้วการทำความดี หรือการทำ CSR ก็ไม่จำเป็นต้องมีเงินเยอะ อย่าง PPS มีองค์ความรู้ ซึ่งเป็นหัวใจในการทำธุรกิจ เราก็ให้ความรู้แก่สังคม ด้วยเหตุนี้ เราจึงให้ความสำคัญกับการจัดการองค์ความรู้อย่างมาก โดยเรามี PPS Training ซึ่งได้รับการรับรองจากสภาวิศวกร นอกจากอบรมวิศวกรภายใน เรายังให้ความรู้แก่วิศวกรภายนอกด้วย”
ตัวอย่างกิจกรรมทำดีของ PPS นั้นมีทั้งโครงการวิศวกรสีขาว ส่งเสริมให้วิศวกรมีความรักในวิชาชีพ และปฏิบัติงานอย่างมีจรรยาบรรณ โดยสร้างแฟนเพจเฟซบุ๊กให้ความรู้ทางด้านงานช่าง ด้านวิศวกรรม แก่ประชาชนผ่าน “เกร็ดความรู้กับลุงพี” รวมทั้งรายการช่างมันส์ ทาง FM 106 นอกจากนี้ ที่วัดทิพย์สุคนธาราม จ.กาญจนบุรี มีส่วนจัดสร้างพระพุทธรูปยืนที่สูงที่สุดในประเทศ มีการตั้งพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปที่มีความโดดเด่นทางด้านวิศวกรรม แก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจ
“เราคิดใหญ่ เพราะอยากจะเห็นวิชาชีพของเราได้รับการยอมรับ เราต้องการสร้างสังคมของวิศวกรที่ดี แม้อาจจะยาก แต่ก็จำเป็นต้องทำ เราพยายามปลูกฝังแนวคิดนี้ให้กับคนของเรา ทุกปีเราพาคนของเราไปวิ่งมาราธอน การวิ่งสอนให้รู้ว่าที่คิดว่าทำไม่ได้ ความจริงแล้วมันทำได้ ที่ทำไม่ได้เพราะยังไม่ได้เริ่มต้นต่างหาก ถ้าเราสตาร์ทแล้ว ต้องไปถึงเส้นชัยเสมอ”