โอกาสของคนตัวเล็ก

Responsive image

กลยุทธ์กู้วิกฤตร้านอาหาร

          ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่าธุรกิจร้านอาหารมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทย เพราะกระจายรายได้ไปหลายภาคส่วน ทั้งการจ้างงาน การผลิตในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม มูลค่าในธุรกิจอาหารอยู่ที่ประมาณ 700,000 ล้านบาท มีร้านอาหารข้างทาง 300,000 ราย และร้านที่เปิดเป็นห้องแถวหรือร้านขนาดใหญ่อีก 100,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกของสมาคมอยู่ 30,000 ราย

          สมาชิกในสมาคมจึงได้หารือกันเพื่อวางกลยุทธ์ที่จะเข้ามาช่วยการลดต้นทุนโดยที่ไม่ผลักภาระให้ผู้บริโภค สามารถตรึงราคาได้ โดยไม่ลดปริมาณและคุณภาพของอาหารลง จึงได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อมองหาช่องทางในการทำธุรกิจ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริการ

           นโยบายแรกคือการใช้กลยุทธ์เรื่องการทำธุรกิจระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ B2B โดยสมาคมจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดความสะดวกในการเจรจาระหว่างผู้ผลิตกับร้านอาหาร สร้างโมเดลธุรกิจแบบ Online Matching โดยอาศัยความร่วมมือกับองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) ให้สามารถซื้อหาวัตถุดิบผ่านโครงการ อ.ต.ก. ออนไลน์ได้

          นอกจากนี้จะมีการพัฒนาเว็บไซต์ www.thaihoreca.com  ของสมาคม จากเดิมที่เป็นเพียงแหล่งข้อมูลให้แก่ผู้บริโภคค้นหาร้านอาหารของสมาคม ก็จะพัฒนาแฟลตฟอร์มใหม่ให้สมาชิกสามารถสั่งซื้อวัตถุดิบจากองค์การตลาดเพื่อการเกษตรได้โดยตรง ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าท้องตลาด 10% โดยซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาจัดการร้านอาหาร สมาคมได้ความร่วมมือจาก สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เป็นผู้พัฒนาให้

          ที่ผ่านมาสมาคมมีการซื้อขายซอฟต์แวร์ในกลุ่มของร้านอาหารขนาดใหญ่ที่ต้องการระบบจัดการหลังร้าน แต่สำหรับร้านอาหารขนาดเล็กอาจจะไม่มีเงินทุนพอและยังมองไม่เห็นว่าการนำซอฟต์แวร์มาใช้จัดการภายในมีข้อดีอย่างไร สำหรับแฟลตฟอร์ม Online Matching ที่จะพัฒนาขึ้นมานั้นจะเน้นเรื่องการเชื่อมเครือข่ายระหว่างร้านอาหารด้วยกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านอาหาร ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศ ข้อมูลการหาแหล่งวัตถุดิบ เป็นต้น

          “ซอฟต์แวร์ตัวนี้ก็จะมีราคาถูกลง เพราะมีกลุ่มลูกค้าจากสมาคมเป็นตัวรองรับอยู่แล้ว และเมื่อนำเทคโนโลยีเข้าไปก็จะช่วยทำให้ร้านอาหารมีการเติบโตอย่างเป็นระบบ” นายกสมาคมภัตตาคารไทยกล่าว

          ส่วนกลยุทธ์ที่ 2 สมาคมภัตตาคารไทยได้วางแผนที่จะยกระดับคุณภาพอาหารให้สูงขึ้น เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น อาหารต้องสดสะอาด ปลอดสารพิษ ถูกหลักอนามัย ยกระดับร้านอาหารไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผ่านโครงการ “Q Restaurant” ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าวัตถุดิบที่นำมาทำอาหารผ่านการคัดครองด้านสุขอนามัยแล้ว

            มกอช. ได้ทำโครงการมาตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันมีร้านค้าที่เป็น Q Restaurant แล้วกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ การที่มาร่วมมือกับสมาคมภัตตาคารไทยนี้ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ให้ร้านอาหารไทยเข้าร่วมโครงการมากขึ้น นอกจากการเข้าไปร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐแล้ว ทางสมาคมก็ได้วางนโยบายอื่นๆ เพื่อที่จะช่วยให้สมาชิกดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างแข็งแกร่ง

          เริ่มจากแผนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในรูปแบบของ “ทัวร์สุขภาพ” เพื่อเป็นการขยายตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ ปลอดภัยตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงการปรุง พร้อมทั้งมีการเพิ่มชื่อรายการอาหารเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาอื่นๆ เพื่อสอดรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากขึ้น

          “ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่อยากจะซื้ออาหารรับประทาน แต่สื่อสารกับคนขายไม่ได้ หากมีการทำชื่อเมนูเป็นภาษาอื่นๆ อีกเพิ่มเติม การสื่อสารก็จะง่ายขึ้น ระบุราคาที่ชัดเจน เพิ่มข้อความอธิบายเกี่ยวกับรายการอาหารชนิดนั้นๆ ว่ามีรสชาติเป็นอย่างไร” ฐนิวรรณกล่าวเสริม

          ในอนาคตจะมีการเปิดโครงการ “Restaurant Society” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของร้านอาหารในการซื้อวัตถุดิบด้านเกษตรเพื่อต้นทุนที่ต่ำลงสร้างอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ได้

          ทั้งหมดถือว่าเป็นการวางแผนและกลยุทธ์เพื่อกู้วิกฤติให้กับร้านอาหารไทย โดยอาศัยปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย สร้างเครือข่ายให้แข็งแกร่ง ไม่ช้าธุรกิจร้านอาหารก็กลับมารุ่งเรืองได้

 

Tags: