ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

สังเวียนSME เวทีนี้ต้องมี พันธมิตร


SME ไทยมีเยอะ GDP กลับน้อย

   ปัจจุบัน ประเทศไทยมี SME กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาลได้จำแนก SME ออกเป็นกลุ่มธุรกิจ 4 ประเภท ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ และภาคเกษตรกรรม ในปี 2557 ประเทศไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ทั้งหมด 2.47 ล้านราย คิดเป็น 98.5% ของวิสาหกิจทั้งหมด โดยจำนวนดังกล่าวทำให้เกิดการจ้างงานมากถึง 11.78 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 80.4 ของตัวเลขการจ้างงานรวมทั้งประเทศ แต่กลับมี GDP เพียง 37% ซึ่งต่างจากประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีสัดส่วน GDP เกินกว่า 50%

   ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นปัญหาของ SME ไทยอย่างชัดเจน โดยปัญหาของธุรกิจ SME ไทยมีสาเหตุมาจากทั้งปัจจัยภายใน เช่น จากตัวผู้ประกอบธุรกิจเอง และปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุมของผู้ประกอบการ

   ปัจจัยภายใน เริ่มตั้งแต่การบริหารงานของผู้ประกอบการ SME ที่ส่วนใหญ่เติบโตมาจากการทำธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียว เมื่อมีใบสั่งสินค้ามากขึ้น ก็จะจ้างพนักงานและสั่งวัตถุดิบเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ทำให้เงินทุนหมุนเวียนไปจมอยู่กับวัตถุดิบและสินค้าคงคลังที่มีปริมาณมากเกินไป รวมถึงสินค้าที่สั่งมาแล้วขายไม่ได้

   นอกจากนี้ ยังมีปัญหา ปัญหาขาดประสิทธิภาพในการควบคุมการผลิต เนื่องจากขาดความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการผลิตอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้ ทำให้สินค้าไม่ได้คุณภาพและมีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ ขาดความรู้ทางการตลาดอย่างลึกซึ้ง ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่มากที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์

 

SME ไทยไปไม่ถึงไหน เพราะ

   อีกปัญหาใหญ่ของธุรกิจ SME คือ “เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน” เนื่องจากผู้ประกอบการไม่กล้าเปิดเผยบัญชี ตัวธุรกิจไม่เข้าสู่ระบบของการจดทะเบียนหรือปฏิบัติตามกฎหมาย จึงทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์ ระบบบัญชีเป็นแบบครอบครัว ยังไม่ได้ทำแบบเป็นมาตรฐาน

ดังนั้น เมื่อจะนำข้อมูลไปประกอบการยื่นกู้ต่างๆ จึงเกิดปัญหา นอกจากนี้ยังขาดหลักทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกัน แม้ปัจจุบันจะมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยค้ำประกัน แต่ภาระค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น และยังต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับ บสย.อีกด้วย

   นอกจากนี้แล้ว SME ไทยยังประสบปัญหาด้าน “โลจิสติกส์” ภายนอก ด้วยสาเหตุน้ำมันแพง ทำให้ต้นทุนในการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ส่วนปัญหาโลจิสติกส์ ในสถานประกอบการแต่ละแห่ง คือ การบริหารสินค้าคงคลัง (stock) ปริมาณสินค้า การจัดซื้อ การผลิต จะต้องวางแผนให้เป็นระบบ

   ขณะที่ปัญหาด้าน “แรงงาน” ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบ เนื่องจากผู้ประกอบการ SME มักใช้แรงงานต่างด้าวซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแรงงานที่ขาดคุณภาพ จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งปัญหาด้าน “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ซึ่งผู้ประกอบการส่วนหนึ่งยังขาดการพัฒนาในด้านนี้ จึงส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของธุรกิจ หากได้รับการพัฒนาจะทำให้ธุรกิจมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น

   เช่นเดียวกับปัญหาด้านการ “ประชาสัมพันธ์” ที่ผู้ประกอบการ SME ส่วนหนึ่งยังใช้ช่องทางในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจไม่มากพอ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรใช้ช่องทางใหม่ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ เข้ามาทดแทนการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบเดิมๆ

   ปัญหาที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ เรื่อง “ความซ้ำซ้อน” ระหว่างส่วนราชการที่ให้การส่งเสริมธุรกิจ SME ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากที่อยู่เบื้องหลังของธุรกิจ SMEโดยหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้มีภารกิจ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่อธุรกิจ SMEs ในแต่ละด้านแตกต่างกันออกไป

   แม้ประเทศไทยจะมี 6 หน่วยงานหลัก และอีก 35 หน่วยงานสนับสนุน ที่มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SME แต่กลับไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ที่สำคัญ การที่ SME ไทยกำลังเดินอยู่บนเส้นทางการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ยิ่งต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบ ปัญหาคือ มีผู้ประกอบการเพียง 26.4% เท่านั้น ที่มีแนวทางในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาเซียนที่ชัดเจน แต่อีก 73.6% ยังไม่มีแนวทางว่าจะปรับตัวอย่างไร

   ที่ผ่านมา การปิดตัวของธุรกิจ SME ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรไทยที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดต่ำ ทำให้ในอนาคตจำนวนประชากรที่จะเข้าสู่วัยแรงงานลดลง

   ขณะเดียวกันผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีส่วนหนึ่งต้องทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาที่จบ เพราะคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน ส่วนแรงงานไร้ฝีมือในประเทศไทยก็ต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้าน การผลิตผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ

   ขณะที่เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทยอาจจะต้องพึ่งพาแรงงานที่ไร้ฝีมือและมีฝีมือจากต่างประเทศ ซึ่งปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมนี้ ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาวโดยตรง

   ผลสำรวจของธนาคารโลก พบว่า ธุรกิจในประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ประกอบไปด้วย มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยคิดเป็น 38.8% ของกลุ่มตัวอย่าง ขณะที่มาเลเซียมีปัญหานี้ 20.2% และอินโดนีเซียมีเพียง 4.5%

ปัญหาต่าง ๆ ข้างต้นย่อมส่งผลโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นโจทย์ที่ภาครัฐจะต้องนำมาขบคิด วางแผน เพื่อรองรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

   โดยสิ่งที่ควรทำในเบื้องต้น คือ การบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME ให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การบูรณาการหน่วยงานภาครัฐที่สนับสนุน ส่งเสริม SME ให้ดำเนินการในรูปแบบ One-Stop-Service เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่ก่อให้เกิดความสับสนเหมือนที่ผ่านมา

 

จับ ชีพจรSME ไทย บูรณาการ สู่ความสากล

 

หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุน ส่งเสริม SME ไทย ที่เปรียบเสมือน “เสาหลัก” ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้การส่งเสริม SME โดยเฉพาะ อันประกอบด้วย

 

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

   หน่วยงานนี้มีภารกิจในการจัดทำแผนการส่งเสริม และแผนปฏิบัติการส่งเสริม SME เพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ
ขนาดย่อม การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและ เอกชนทั้งในและต่างประเทศให้สัมฤทธิ์ผลตามแผนแม่บท และแผนปฏิบัติการรวมถึงการบริหารกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกิจกรรมหรือโครงการของ สสว.ที่ผ่านมา เช่น โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมในภูมิภาค โครงการชุบชีวิตธุรกิจไทย และโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ เป็นต้น

 

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

   หน้าที่หลักคือ วางหลักเกณฑ์ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งเสริมกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมให้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและกิจการตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยได้กำหนดประเภทกิจการและเงื่อนไขในการขอรับการส่งเสริม SME ไว้เฉพาะ

 

สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED)

   มีหน้าที่ในการสร้างผู้ประกอบการ SME รายใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเดิมให้เข้มแข็ง

 

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank)

   มีหน้าที่ในการพัฒนา ส่งเสริม ช่วยเหลือและสนับสนุนการจัดตั้ง การดำเนินงาน การขยายหรือการปรับปรุงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยการให้สินเชื่อ ค้ำประกัน ร่วมลงทุน ให้คำปรึกษา แนะนำ หรือให้บริการที่จำเป็นอื่นๆ

 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI)

   มีหน้าที่วางนโยบายหลักในการส่งเสริม SME โดยเป็นหน่วยงานประสานการส่งเสริมและสนับสนุน SME ร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานอื่น รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการ SME ในแนวทางที่เหมาะสม โดยได้ดำเนินการทางด้านการส่งเสริม SME ในส่วนที่เป็นโครงการต่างๆ หลายโครงการที่เป็นประโยชน์ เช่น โครงการจับคู่ธุรกิจ SME ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา หรือ โครงการเร่งรัดปรับปรุงประสิทธิภาพ SME เพื่อยกระดับปรับปรุงความสามารถและประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และมีความร่วมมือกับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องโดยพิจารณากลั่นกรองโครงการในเบื้องต้นก่อนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในระดับหนึ่ง

 

สภาหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

   มีหน้าที่ประสานนโยบายและการดำเนินงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้คำปรึกษาแก่ภาครัฐเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออก รวมทั้งเป็นหน่วยงานร่วมปฏิบัติงานในการส่งเสริม SME ภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ประจำปี และสนับสนุนการจัดทำข้อมูลผู้ประกอบการ SME ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลผู้ประกอบการในการวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนานโยบายการส่งเสริม SME ของประเทศ

   นอกจากหน่วยงานข้างต้นแล้ว หน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังของธุรกิจ SME ยังมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ศูนย์บริการนักลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ธนาคารพาณิชย์ อีกหลายแห่ง ฯลฯ ที่สนับสนุนด้านการลงทุน การเงิน การตลาด รวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีมาตรการในการสนับสนุนส่งเสริมที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละด้าน

   ยกตัวอย่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีหน้าที่เสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เสริมสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะวิสาหกิจแก่ SME และผู้ส่งออก กรมการค้าภายใน ส่งเสริม SME ในการพัฒนาระบบตลาดและการตลาดให้เกิดประสิทธิภาพ กรมการค้าต่างประเทศ มีหน้าที่ในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ได้ขอตรวจรับรองคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้า

   กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจบริการ สนับสนุนการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทางธุรกิจและการตลาด รวมทั้งเสริมสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจ เช่น โลจิสติกส์ การค้าส่ง ค้าปลีก เทคโนโลยีสารสนเทศ และยังเป็นส่วนส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจบริการอีกด้วย

   ส่วนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังมี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทำหน้าที่วิจัย พัฒนาด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีโครงการที่น่าสนใจ ได้แก่ โครงการจัดตั้งศูนย์ออกแบบและผลิตเครื่องจักรสำหรับ SME/ OTOP หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีหน้าที่บริการงานวิจัย พัฒนา สนับสนุนการให้บริการในการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ และยังช่วยผู้ประกอบการในการวิจัย พัฒนาและแก้ไขปัญหาในภาคการผลิตและบริการด้วย

   ในด้านการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีหน้าที่เตรียมความพร้อมให้กิจการ SME เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านนโยบายสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์

   ด้านการเงินก็มีธนาคารของรัฐบาลและธนาคารพาณิชย์อีกเป็นจำนวนมากที่นอกจากจะให้บริการด้านสินเชื่อแล้ว ธนาคารบางแห่ง เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกสิกรไทยยังจัดให้มีโครงการเสริมสร้างความรู้สำหรับผู้ประกอบการ SME ขณะที่ธนาคารออมสิน ก็มีสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SME โดยตรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย

   การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ SME จะช่วยให้ภาครัฐสามารถลดงบประมาณรายจ่ายที่เกิดจากการทำงานที่ซ้ำซ้อน ประหยัดทรัพยากรของรัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด ยิ่งกว่านั้น คือ การประหยัดเวลา

สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME จะได้รับ คือ การช่วยเหลือที่ถูกต้อง สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงและทันเวลา ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันในตลาดได้

ผลต่อมา คือ ระบบเศรษฐกิจของประเทศจะแข็งแรงขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการ SME สามารถดำเนินธุรกิจได้ตลอดรอดฝั่ง

นอกจากนี้ หน่วยงานราชการที่ให้การส่งเสริมกิจการ SME จะสามารถแบ่งงานกันตามความเชี่ยวชาญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอน และความซ้ำซ้อนของงาน

   One-Stop-Service คือ ทางออก และเป็นการตอบโจทย์ที่ชัดเจนว่า ทำไมประเทศไทยมีหน่วยงานที่ส่งเสริมและสนับสนุน SME อยู่อย่างมากมาย แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเทียบเท่าอีกหลายประเทศ

   ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้ว ที่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการ SME จะต้องเดินบน “ถนนเส้นเดียวกัน” “รวมพลังพันธมิตร” เพื่อร่วมยกระดับ SME ไทยในการก้าวสู่ความเป็นสากลตั้งแต่บัดนี้

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมวางงบพันล้าน ผลักดัน Digital SME

 

   ปัจจุบันนี้ประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลได้เร็วเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฉะนั้นประเทศไทยก็ต้องเริ่มขยับตัวเองเพื่อให้ทันเพื่อนบ้าน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ภายใต้การดูแลของ “อาทิตย์ วุฒิคะโร” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้ชายที่กล่าวหนักแน่นกับ SME ชี้ช่องรวยว่า “การส่งเสริม SME เป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดการทำงานของผม” ได้วางงบประมาณ 1,266 ล้านบาท ผลักดันโครงการ Digital SME

   งบประมาณที่มีอยู่ 1,266 ล้านบาท อธิบดี กรมฯ เปิดเผยว่า วางแผนในการนำมาใช้ส่งเสริมเตรียมความพร้อมในเชิงรุกเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรายเก่า และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในด้านการสร้างนวัตกรรม การออกแบบ เพื่อบุกตลาด AEC ส่วนแผนเชิงสนับสนุนนั้น จะนำมาเสริมใช้กับงาน Digital Economies เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็น Digital SME ในอนาคต

   สำหรับนโยบายด้านการผลักดัน Digital SME ในปี 2558 นี้ จะประกอบด้วยกัน 5 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือ สร้าง New Digital Entrepreneur โดยจะส่งเสริมนักศึกษาจบใหม่ หรือผู้ประกอบการกลุ่ม ICT ต่อยอดไปสู่ตลาดออนไลน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้ากลุ่ม New Digital Entrepreneur สร้างไว้ประมาณ 500 ราย

เรื่องที่สอง การสร้าง Smart SME ส่งเสริมผู้ประกอบการนำเครื่องมือดิจิตอลไปใช้ในการบริหารจัดการด้านธุรกิจมากขึ้น ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 480 ราย

   เรื่องที่สาม กลุ่ม OTOP กรมฯ จะทำการคัดเลือกสินค้า OTOP ที่มีศักยภาพระดับ 4 และ 5 ดาว ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงตลาดสินค้าออนไลน์ได้ มาให้ความรู้ด้านการใช้สื่อ Social Media เช่น การทำสื่อออนไลน์ ทำเว็บไซต์ เพื่อให้ขยายตลาดได้กว้างขึ้น เรียกอีกอย่างว่า Digital OTOP โดยกรมฯ ตั้งเป้าหมายบ่มเพาะ 70 ราย

   รื่องที่สี่ กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป เป็นกลุ่มที่กรมฯ ได้เคยจัดโครงการอบรมต่างๆ มาแล้ว และมีความรู้ความชำนาญในระดับหนึ่ง ซึ่งกรมฯ จะช่วยเสริมในเรื่องการใช้ระบบสื่อสารออนไลน์ให้กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของผู้ประกอบการกลุ่มนี้เข้าไปด้วย ให้มีเครือข่าย Social Media ที่สามารถสื่อสารภายในแวดวงสมาชิกของกรมฯ ได้ โดยไม่ต้องเดินทางมาขอคำปรึกษากันต่อหน้า เป็นการสร้าง Digital Knowledge Society ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 1,000 คน

   เรื่องที่ห้า Digital Service Provider หรือการสร้างกลุ่มวิทยากรที่ปรึกษา ที่มีความรู้เรื่องดิจิตอล ไว้คอยช่วยให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงการปรับปรุงระบบ Hardware, Software ของกรมฯ ให้ทันสมัยเพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค เช่น ห้องสมุดออนไลน์ สมาชิกออนไลน์ เป็นต้น

   สุดท้าย อธิบดี กสอ. เล่าถึงปัญหาที่แท้จริงของ SME ไทย ว่า “บางรายมีความเก่งทุกทาง มีความมุ่งมั่น มีการบริหารจัดการที่ดี แต่มีข้อบกพร่องในเรื่องการขาดมนุษยสัมพันธ์ที่ดี พูดจาสื่อสารกับลูกค้าไม่เป็น ความสำเร็จก็อาจจะมาเพียงแค่ในระดับหนึ่ง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การปลูกฝัง DNA ของการเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ และมีหัวใจของการเป็นนักธุรกิจ”

 

สสว. ภายใต้สังกัดใหม่ กับ 4 ยุทธศาสตร์ส่งเสริม SME

 

   ช่วงปลายปี 2557 เกิดความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ภายใน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ภายหลังมีบทสรุปให้หน่วยงานแห่งนี้ ย้ายจากกระทรวงอุตสาหกรรมมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี “ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ” ในฐานะรองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ สสว. ก็ไม่รอช้าที่จะชงเรื่องแก้ไขกฎหมายส่งเสริม SME ทันที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ประกอบการที่มีอยู่กว่า 2.7 ล้านรายทั่วประเทศ

   สอดคล้องกับแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการยกการพัฒนา SME เป็นวาระแห่งชาติ ด้วย 4ยุทธศาสตร์ส่งเสริม SME ประกอบด้วย บูรณาการการบริหารจัดการของภาครัฐเพื่อส่งเสริม SME ให้มีประสิทธิภาพ พัฒนา SME ตามวงจรธุรกิจ โดยจัดตั้งศูนย์ให้บริการครบวงจรใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการของ SME ผ่านโครงการ1 มหาวิทยาลัย: 100 SME และโครงการ 1 อาชีวะ: 100 SME สุดท้าย เชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ

   ทั้งนี้ กลุ่ม SME ที่ สสว.จะให้การส่งเสริมเป็นพิเศษ คือ SME กลุ่มอุตสาหกรรม นำเข้าและส่งออก ส่วนอีกกลุ่มเป็นกลุ่มธุรกิจ SME ที่มีการเติบโตร้อยละ 20 ติดต่อกัน 3 ปี มีทั้งหมด 12 กลุ่ม อาทิ ก่อสร้าง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม การศึกษา พลังาน ฯลฯ

   ยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้ก็เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดย สสว. ตั้งเป้าเพิ่มค่า GDP ของSME ในปี 2558 เป็น 38% และเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2568

   อย่างไรก็ดี ดร.วิมลกานต์ มองว่า SME ไทยยังต้องได้รับการส่งเสริมความรู้ด้านการใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์การทำแบรนดิ้ง และการส่งออกมากขึ้น เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ภารกิจของ สสว. ภายใต้สังกัดใหม่เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับธุรกิจ SME ในอนาคต

 

สถาบันอาหารบ่มเพาะ SME เป็น ครัวคุณภาพของโลก

 

   ภารกิจผลักดันนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” สำเร็จด้วยดี แต่บทบาทของสถาบันอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังคงดำเนินต่อเนื่องในการพัฒนาอาหารไทยให้เป็น “ครัวคุณภาพของโลก” พร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยในระดับ SME ที่มีอยู่ 80% ให้แข็งแรงขึ้น โดยนำระบบมาตรฐานระดับโลกมาช่วยยกระดับคุณภาพการผลิต และบริหารซัพพลายเชน

   ดร. เพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ให้ทัศนะว่า การจะเป็นครัวคุณภาพของโลกได้นั้น คงต้องย้อนมาพัฒนากันตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของสถาบันอาหาร ที่จะต้องเข้าไปบ่มเพาะและยกระดับคุณภาพการผลิตอาหารของกลุ่ม SME ซึ่งเกือบครึ่งเป็นกลุ่มที่ประกอบธุรกิจผลิตอาหารกันอยู่แล้ว ทั้งในระดับวิสาหกิจชุมชน โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง หน้าที่ของทางสถาบันอาหารคือช่วยพัฒนาให้ SME เติบโต และยกระดับความสามารถไปสู่การแข่งขันในระดับที่สูงขึ้นได้

   “เราทำตั้งแต่ส่งนักวิชาการเข้าไปที่โรงงานหรือแหล่งผลิต รวมทั้งแนะนำให้ซื้อเครื่องมือใหม่ๆ ด้วย ถ้ามีความจำเป็น บางกรณีต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตสินค้าอาหารใหม่เลย เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องราวของภูมิปัญญาไทยในสัดส่วน 1 ใน 3 เช่น การแปรรูปเส้นขนมจีน การทำถั่วตัด กระยาสารท สมัยก่อนทำแบบบ้านๆ แต่รสชาติดีอยู่แล้ว เรามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยยังคงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ คุณค่าทางโภชนาการ อายุของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ได้นานขึ้น ขนาดที่พอเหมาะ บรรจุภัณฑ์ที่ดูดีขึ้น”

   เท่าที่ได้สัมผัสกับกลุ่ม SME มา ดร.เพ็ชร พบว่า ปัจจุบัน SME ตื่นตัวขึ้นมาก เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้น หากยังคงทำแบบเดิมๆ ก็เหมือนรอวันอาหารหมดอายุ หรือเลวร้ายที่สุดคือรอวันธุรกิจปิดกิจการ ทุกวันนี้เราจึงเห็น SME เริ่มเดินเข้าหาหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอคำแนะนำปรึกษา ฝึกอบรมรับองค์ความรู้ต่างๆ รวมทั้งจับกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน แล้วทำงานในลักษณะรวมตัวช่วยกันทำดีกว่า

ผลที่ได้คือแต่ละกลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้น และเติบโตอย่างรวดเร็วพัฒนาขึ้นเป็นโรงงานขนาดเล็ก ขยับเป็นโรงงานขนาดกลาง และก้าวขึ้นไปเป็นเอนเตอร์ไพรส์ (Enterprise) ในอนาคต

 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยลดต้นทุน พลังงานเพิ่มขีดการแข่งขัน SME

 

   ภาคอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเป็นภาคที่ต้องใช้พลังงานสำหรับการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า ดังนั้นความมั่นคงด้านพลังงานและราคาของพลังงานที่สามารถแข่งขันได้จึงเป็นความจำเป็นของภาคอุตสาหกรรม

“สุพันธุ์ มงคลสุธี” ในฐานะ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอจุดยืนด้านพลังงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในปี 2558 ให้กับ SME ภาคการผลิต

   “ภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าถึง 44% ของไฟฟ้าทั้งหมดของการผลิตไฟฟ้าในประเทศ ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเพื่อนำผลิตไฟฟ้า โดยมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นและส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าสูงขึ้น มีผลกระทบโดยรวมกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

   ประธานสภา ส.อ.ท. มองว่าภาครัฐจะต้องลดอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ประมาณ 5-6% หรือคิดเป็นขั้นต่ำ 20 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

   “ราคาน้ำมันลดลง 40-50% แล้ว รัฐบาลน่าจะคืนความสุขให้กับประชาชนได้ทั้งค่าโลจิสติกส์ ค่าไฟฟ้า ที่ขณะนี้ตกอยู่กว่า 3 บาทต่อหน่วย น่าจะลดลง 5-6% ของค่าไฟ หรือขั้นต่ำคือ 20 สตางค์ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการภาคขนส่งควรจะเร่งปรับลดค่าโดยสารลงอีก 15-20% หลังจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกและราคาน้ำมันในประเทศมีการปรับลดลงไปมากแล้ว”

   สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่คาดว่าจะมีแนวโน้มดีในปี 2558 ประธานสภา ส.อ.ท. คาดว่าเป็นกลุ่มยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่งและมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ส่วนอุตสาหกรรมอาหารนั้น คาดว่ามูลค่าการส่งออกอาหารมีแนวโน้มทะลุ 1 ล้านล้านบาท ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 

ISMED พ่วงบทบาทผู้ติดตามการเติบโตของ SME

 

   ในยุคที่ “สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล” มานั่งเก้าอี้เป็น “ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” หรือ ISMED สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานแห่งนี้ก็รุกทำงานอย่างหนัก ซึ่งปีที่แล้ว ISMED เป็นผู้จุดพลุเรื่อง “6 เมกะเทรนด์” ปรากฏการณ์สำคัญต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2020

   “SME ลำพังจะประคองธุรกิจของตัวเองให้อยู่รอด ก็ยากลำบากแล้ว ISMED ตั้งใจจะรวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับ SME โดยให้บริการคำปรึกษาและแนะนำเชิงลึก รวมทั้งช่วยวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของตลาด ปลุกพวกเขาให้หันมามองเห็นแนวโน้ม และเห็นประโยชน์ของการปรับตัว และพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต”

   โดยเฉพาะเทรนด์ Digital Lifestyle ที่ ผอ. ISMED ต้องการผลักดันให้ SME ยุคใหม่ ไม่ว่าจะเพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจหรือทำธุรกิจอยู่แล้ว ต้องเท่าทันต่อเทคโนโลยี และใช้สื่อดิจิตอลในการพลิกโอกาสธุรกิจให้เป็น เช่น เพิ่มช่องทางขายผ่านออนไลน์ หรือสร้างคอนเทนต์เพื่อชิงความได้เปรียบทางการแข่งขัน “วันนี้ใครไม่ทำ คงไม่ได้แล้ว” ผอ.กล่าว

   เป้าหมายการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการของ ISMED ในวันนี้มีความเข้มข้นถึง 4 ระดับ คือ Start Up พัฒนาพื้นฐานธุรกิจ Level up พัฒนาสมรรถนะธุรกิจ Value Up เพิ่มมูลค่าผลผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ และ Market Up พัฒนาธุรกิจต่างประเทศและการตลาด ผ่านกิจกรรมโรดโชว์และเวิร์คช็อปไปตามภูมิภาคต่างๆ เปิดอบรมให้องค์ความรู้แก่ SME โดยทีมวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง

นอกจากจะมุ่งพัฒนา SME แล้ว ISMED ยังขยับบทบาทมาเป็น ผู้ติดตามการเติบโตของ SME

“ไหนๆ เราก็ส่ง SME ลงเรือ มอบอาวุธ มอบเสบียงเต็มลำเรือแล้ว ก็ไม่ควรปล่อยให้เรือนั้นลอยเคว้งคว้าง ฝ่าฟันกระแสน้ำและลมพายุเพียงลำพัง แต่เราต้องช่วยชี้ทิศนำทาง พาเรือของ SME ไปให้ถึงฝั่งความสำเร็จด้วย”

 

   

SME Bankพร้อมปล่อยสินเชื่อ SME 4 หมื่นล้าน

 

   ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) หน่วยงานหลักที่หนุน SME ด้านการเงิน ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา SME Bank จะมีตัวเลข NPLs สูงถึง 4 หมื่นล้านบาท!! แต่ ประธานกรรมการ SME Bank “สาลินิ วังตาล” ยังคงตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อในปี 2558 วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท

   จำแนกวงเงิน 20,000 ล้านบาท นำมาใช้ในส่วนของสินเชื่อเดิม คือ “สินเชื่อ 9 เมนู คืน ความสุข SME” โครงการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยเน้นไปที่ SME วงเงินไม่เกินรายละ 15 ล้านบาท และภายในไม่เกินครึ่งปี 2558 จะดำเนินงานได้ครบวงเงินที่ตั้งไว้

   ส่วนวงเงินอีก 20,000 ล้านบาท จัดไปอยู่ในสินเชื่อใหม่ คือ “สินเชื่อ SME คนดี” สินเชื่อนี้สำหรับลูกค้ารายเดิมของทางธนาคารที่มีคุณภาพดีและต้องการเงินเพิ่ม ซึ่งเงื่อนไขมีความยืดหยุ่นในเรื่องของหลักประกัน เช่น ไม่มีการเรียกหลักประกันเพิ่ม หากมีหลักประกันเดิมที่อยู่ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ซึ่งการดำเนินงานสินเชื่อส่วนนี้ทางธนาคารมีนโยบายไม่ให้สินเชื่อเข้มงวดเกินไป แต่ธนาคารยังคงมีคุณภาพและไม่อยู่ในความเสี่ยง

   จากแผนการดำเนินงานทั้งหมด ประธานกรรมการ SME Bank กล่าวว่า ในที่สุดแล้วหากแผนการดำเนินงานทั้งหมดนี้สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี สัดส่วนของสินเชื่อจะกลับเข้าสู่ วงเงินรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท 80 เปอร์เซ็นต์ และส่วนวงเงินเกิน 15 ล้านบาท 20 เปอร์เซ็นต์ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ โดยคาดว่าจะประสบผลสำเร็จภายในสิ้นปี 2558

   นอกเหนือจากแผนการดำเนินงานที่จะปล่อยสินเชื่อ ทางธนาคารยังมีการดำเนินงานในเรื่องของ “เวนเจอร์ แคปปิตอล” คือ การเริ่มลงทุนโดยการคัดสรร SME ที่มีนวัตกรรม หรือ OTOP พื้นบ้าน เพื่อร่วมลงทุนด้วย

“ปัจจุบันสถานะของธนาคารได้มีการปรับตัวไปยังทิศทางที่ดีเป็นที่น่าพอใจ NPLs มีการปรับลดลง และสิ่งสำคัญธนาคารได้กลับมามีกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่อง เพราะธนาคารผลักดันให้มีสินเชื่อรายใหม่มากขึ้น ในอนาคต เราจะมุ่งการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้รายย่อย เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างหรือแรงจูงใจที่จะเข้าไปแทรกแซง อีกทั้งเป็นการกระจายความเสี่ยงของธนาคาร”

 

iTAP พันธมิตร SMEไต่ระดับด้านเทคโนโลยีการผลิต

 

   โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ iTAP ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME ให้เข้มแข็ง ทั้งการถ่ายทอดความรู้เพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิต และด้านการเงิน โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี มี SME เข้ามาขอคำแนะนำกว่า 2,000 บริษัท เพราะต้องการให้ทาง สวทช. ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และลดต้นทุนการผลิต

   อย่างไรก็ดี “ทวีศักดิ์ กออนันตกูล” ในฐานะผู้อำนวยการ สวทช. ได้ทำแผนของบประมาณปี 2558 ในการทำโครงการ iTAP เพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท โดยหวังว่าจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ธุรกิจ SME แข็งแรงเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1,000 บริษัทต่อปี

   ขณะเดียวกันก็พยายามขยายขอบเขตการให้บริการ SME อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ผ่านทาง iTAP เครือข่ายภูมิภาค ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ที่พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึกถึงสถานประกอบการ และทำให้การสนับสนุน SME ไทยในภาคอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

   ที่ผ่านมาโครงการ iTAP ของ สวทช.ให้บริการคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการรายย่อยในภาคอุตสาหกรรมแบบใกล้ชิดโดยที่ปรึกษาเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เน้นนำผลงานวิจัยและองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้สร้างประโยชน์ได้จริงในภาคธุรกิจ เช่น เพิ่มผลผลิต พัฒนาสินค้า ลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าสินค้า

   เมื่อประกอบกับการที่ สวทช. มีเครือข่ายความรู้ และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็สามารถช่วยพัฒนา SME ให้ประสบความสำเร็จ เพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีให้สูงขึ้นมากกว่า 100 รายต่อปี ภายใต้งบประมาณ 180 ล้านบาทต่อปี

 

ETDA สร้าง Thaiemarket.comเกตเวย์แห่งชาติของ SME Online

 

   สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ถือเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อน “ดิจิตอล อีโคโนมี” ตามนโยบายของรัฐบาล ภารกิจของ ETDA หลังเปิดตัวเว็บไซต์ Thaiemarket.com คือการกระตุ้นผู้ประกอบการ SME ให้ตื่นตัว พัฒนาความรู้ด้านการทำ อี-มาร์เก็ตติ้ง และส่งเสริมให้ทำ E-commerce มากขึ้น

   แม้ปัจจุบันการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยจะมีอัตราสูงมากจนติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ปัญหาคือตัวเลขการเติบโตของธุรกิจ E-commerce กลับไม่สูงตามไปด้วย เนื่องจากผู้ซื้อและผู้ขายขาดความมั่นใจในการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์

   ETDA ภายใต้การนำของ “สุรางคณา วายุภาพ” ได้พัฒนาเว็บไซต์ Thaiemarket.com ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนผู้ประกอบการบนโลกออนไลน์ และแหล่งรวมผู้ประกอบการ E-commerce ที่น่าเชื่อถือของประเทศ โดยผู้ประกอบการ OTOP และ SME ของไทย สามารถเชื่อมต่อเว็บไซต์ของตัวเองกับ Thaiemarket.com ได้ หลังผ่านการคัดกรองเรียบร้อยแล้วว่ามีตัวตนอยู่จริง

    ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการทุกรายจะต้องได้รับการพัฒนาจนมีคุณภาพ ได้มาตรฐานด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยในการซื้อ-ขายสินค้าผ่านทางออนไลน์

   ขณะเดียวกัน Thaiemarket.com ยังจะเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานภาครัฐใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพของไทยออกไปสู่ตลาดโลก นอกจากส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม ยังสร้างโอกาสทางการตลาด และสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการด้าน E-commerce

   นอกจากนี้ ETDA ยังพัฒนาส่วนงานศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ขึ้น เพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ประสบปัญหาในการซื้อ-ขายออนไลน์ และลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ เหล่านี้

   ถือเป็นมิติใหม่ของวงการ E-commerce ในบ้านเรา ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล หรืออย่างน้อยก็สร้างความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

 

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย SME Center เพื่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่

 

   สถาบันการศึกษา ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการ SME ให้มีศักยภาพทางการแข่งขัน และมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ศูนย์เอสเอ็มอี (SME Center) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้เช่นกัน และ ดร.ลัดดาวัลย์ เลขมาศ ผู้อำนวยการ SME Center มองไกลถึงขั้นพัฒนา SME สู่ระดับสากล สามารถดำเนินธุรกิจและแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ

“SME Center จะให้คำปรึกษาและวินิจฉัยตัวธุรกิจ SME จุดแข็งของเราคือ องค์ความรู้ที่ค่อนข้างแน่นและหลากหลายในเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจ เรามีข้อมูลงานวิจัย มีหลักสูตรต่างๆ พร้อมสำหรับการจัดอบรมกลยุทธ์ต่างๆ ให้ SME ทุกกลุ่มธุรกิจสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ตั้งแต่ศูนย์บ่มเพาะช่วยปูทางให้กับ Startup และเติบโตจากขนาดเล็ก เป็นขนาดกลาง และขนาดใหญ่ในอนาคต”

   ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยนั้น มีความเชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจการค้าเป็นทุนเดิม ยิ่งมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุน ยิ่งทำให้ SME Center ของ ดร.ลัดดาวัลย์ ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับบริการคำแนะนำปรึกษา สามารถติดต่อได้ที่ SME Center ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งธุรกิจ SME ในรายที่น่าสนใจก็จะถูกยกมาเป็นกรณีศึกษาในชั้นเรียนต่อไป

“ตอนนี้ปัญหาของ SME คือ เรื่องการตลาด มีสินค้าดี แต่ไม่รู้จะทำการตลาดอย่างไรให้เป็นที่รู้จัก ขาดเงินทุนที่จะต่อยอด ขาดความรู้เรื่องระบบบัญชี ทำให้มีปัญหาเวลาทำแผนธุรกิจขอกู้เงินธนาคาร พอธุรกิจโตไปได้ระดับหนึ่ง ก็จะมีปัญหาเรื่องการบริหารที่เป็นระบบ พวกนี้เป็นปัญหาหลัก เราก็จะใช้องค์ความรู้หรือมุมมองใหม่ๆ เสริมเพิ่มเข้าไปในส่วนที่ SME ขาด”

   ในฐานะผู้อำนวยการ SME Center ดร.ลัดดาวัลย์ มองว่าการช่วยเหลือ SME ไทยเป็นวาระแห่งชาติ ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงมีความมุ่งมั่นเต็มที่ที่จะพัฒนา SME โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งทางสถาบันได้ผลักดันนิสิตนักศึกษาที่มีความพร้อมให้ออกไปประกอบธุรกิจเป็นของตนเองด้วยหลักสูตรผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสังคม ในขณะที่ SME รุ่นพี่สถาบันก็ส่งเสริมความกล้าที่จะพัฒนาตัวเองตลอดเวลา

 

สมาคม ATSME สร้างเครือข่าย SME เข้มแข็ง

 

   การพัฒนาผู้ประกอบการ SME ให้เข้มแข็งนั้น หากจะรอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว ธุรกิจอาจไม่สามารถพัฒนาได้อย่างทันท่วงที “ผู้ประกอบการ” จึงพยายามผลักดันให้เกิดการรวมตัวเป็น “สมาคม” และสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการรายเล็ก ยกระดับมาตรฐานการดำเนินงาน และมีการขยายตลาดไปสู่สากล

   สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สสวท.) หรือ ATSME ถืออีกหนึ่งสมาคมที่ทำหน้าที่พัฒนา SME ไทยอย่างโดดเด่น และเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ เพื่อให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมการประกอบธุรกิจของ SME

“เพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด” หญิงแกร่งที่มานั่งบริหารในฐานะ นายกสมาคม ATSME เธอเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการสะท้อนปัญหาที่แท้จริงของ SME รวมทั้งประสานนโยบายร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อการพัฒนา SME ที่ปัจจุบัน ATSME มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 9,116 ราย จากทั่วประเทศ ทั้งกลุ่ม Startup ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ทายาทธุรกิจ และกลุ่มที่ต้องฟื้นฟูธุรกิจ

   ATSME จะให้ความสำคัญกับการดูแล SME กลุ่ม Startup และขนาดเล็กเป็นพิเศษ พัฒนาให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเติบโตขึ้นมาให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้ต่อไป ส่วนกลุ่มขนาดกลางและขนาดใหญ่ จะเน้นส่งเสริมการขยายเครือข่ายและขยายตลาด เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“ในช่วงที่ผ่านมา ATSME ใช้กลไก ‘การสร้างเครือข่าย’ เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ เพราะจุดอ่อนของธุรกิจขนาดเล็กคือ การมีทุนที่เล็กกว่า มีตลาดที่เล็กกว่า มีศักยภาพในการแข่งขันที่น้อยกว่า การทำให้ธุรกิจขนาดเล็กเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ จึงเป็นการแก้จุดอ่อนของธุรกิจขนาดเล็ก เมื่อเครือข่ายเข้มแข็งก็จะมีการช่วยเหลือกันระหว่างพี่น้อง

   เราจึงได้สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SME ขึ้นมาในทุกจังหวัด เพื่อประสานความช่วยเหลือทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และในระดับประเทศ เพื่อร่วมกำหนดนโยบายการพัฒนา SME มีการจัดงานแสดงสินค้าเพื่อส่งเสริมการค้า และการขยายตลาดในหลายจังหวัด มีกิจกรรมรุ่นพี่พบรุ่นน้อง เพื่อทำความรู้จักและสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือระหว่างกันเป็นประจำทุกปี”

   ผลงานที่ผ่าน สิ่งที่ นายกสมาคม ATSME ภาคภูมิใจที่สุดคือ การช่วยให้ SME สามารถฟื้นฟูกิจการได้อย่างรวดเร็ว หลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อช่วงปลายปี 2554 เวลานั้นความช่วยเหลือของภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า และเข้าไม่ถึง ATSME จึงได้จัดตั้ง “โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน” ขึ้น เพื่อระดมทุนจาก SME ที่มีความพร้อมไปช่วย SME ที่ประสบอุทกภัย เป็นเงินให้กู้ยืมรายละ 100,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย โครงการนี้ช่วยให้ SME หลายรายสามารถผ่านพ้นวิกฤติมาได้ในที่สุด

 

ผู้ดูแลเว็บไทย หนุนจริยธรรมอีคอมเมิร์ซ SME

 

   สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเสาหลักของวงการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็นระหว่างสมาชิกทุกกลุ่ม ตั้งแต่ผู้ดูแลและพัฒนาเว็บไซต์ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงกลุ่มผู้บริโภคเทคโนโลยี สมาคมนี้ยังเป็นตัวกลางประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมออนไลน์ให้เกิดผลด้วย

“เรามีสมาชิกที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SME ประมาณ 100 ราย บางบริษัทมีธุรกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์โดยตรง แต่บางบริษัทอาจเป็นธุรกิจค้าปลีก แต่มีเว็บไซต์เป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภค เราก็จะให้การสนับสนุนด้วยเช่นกัน”

   ปกรณ์ สันติสุนทรกุล อุปนายกสมาคม ผู้ดูแลเว็บไทยกล่าวว่า เครื่องมือหลักๆ ที่สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยใช้ในการพัฒนา SME มีอยู่ 2 ส่วนคือ หนึ่ง การจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆ เช่น การใช้ Social Network ให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ SME การทำการตลาดออนไลน์เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มจำนวนลูกค้า และสร้างรายได้เพิ่ม สอง คือ Business Matching นำผู้ประกอบการ SME ในโลกออนไลน์มาพบกัน เจรจาธุรกิจกันว่าผู้ประกอบการแต่ละรายจะสามารถเติมเต็มหรือต่อยอดธุรกิจร่วมกันได้อย่างไรบ้าง

“สำหรับ SME ที่คิดจะเข้าสู่วงการออนไลน์ โดยใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือสื่อสาร หรือพัฒนาเป็นธุรกิจ E-commerce แต่ไม่มีพื้นฐานความรู้มาก่อน ในเบื้องต้นเราพร้อมให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลความรู้ว่าผู้ประกอบการจะต้องเตรียมตัวอย่างไร มีเทคนิคอย่างไรที่จะทำธุรกิจออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน”

 

Thai E-commerce เตรียม SME รับ Digital Economy

 

   สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย หรือ Thai E-commerce ก่อตั้งมาได้ครบ 10 ปีในปี 2558 และกำลังมีวาระแห่งชาติ “Digital Economy” เป็นงานช้างระดับกึ่งนโยบายรออยู่ข้างหน้า อย่างไรก็ดี ภารกิจที่ยังคงต้องดำเนินต่อเนื่องคือการร่วมมือกับภาครัฐ พัฒนาผู้ประกอบการ SME ให้เป็นตัวจริง และประสบความสำเร็จกับการใช้ E-commerce เป็นเครื่องมือในการทำเงิน

   บุรินทร์ เกล็ดมณี อุปนายกสมาคม กล่าวเสริมว่าปัจจุบันเริ่มเห็นการซื้อ-ขายและชำระเงินผ่านทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็มีการใช้ Social network ในการโปรโมตเว็บไซต์ โดยกลุ่มสินค้าที่ยังคงสร้างรายได้ ทำยอดขายอันดับต้นๆ ให้กับกลุ่ม SME ออนไลน์ ยังคงเป็นกลุ่มแก็ดเจ็ต กลุ่มความงามและสุขภาพ

“เราแบ่งงานด้านการพัฒนา SME เป็น 3 ส่วน หนึ่ง พัฒนาผู้ประกอบการใหม่ เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จัดอบรมให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่เป็นประจำ โครงการ E-commerce ที่นอกจากจะอบรมให้ความรู้ ยังเปิดโอกาสให้ SME ได้ทดลองใช้งานเว็บไซต์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในช่วงปีแรก

   สอง พัฒนาผู้ประกอบการทั้งรายใหม่และรายเก่าให้มีช่องทางขายมากขึ้น ผ่านโครงการ Thailand Online Mega Sales และโครงการ Thai E-market สุดท้ายเป็นงานสร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยร่วมกับภาครัฐจัดตั้งศูนย์ร้องเรียน และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการติดป้าย Certified สร้างความน่าเชื่อถือให้กับเว็บไซต์”

 

Biz Club Thailand พัฒนา SME เจาะลึกระดับจังหวัด

 

   กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจไทยทั่วประเทศ จึงได้จัดตั้งศูนย์เครือข่ายธุรกิจ หรือ Biz Club Thailand ขึ้น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจ

   ปัจจุบันมีการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายธุรกิจ Biz Club จำนวน 21 แห่ง ได้แก่ ส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) 1 แห่ง และส่วนภูมิภาค 20 แห่ง โดยในปี 2558 ดร.กรัณย์ สุทธารมณ์ ประธานเครือข่ายธุรกิจ Biz Club Thailand คนแรก มีแผนจะตั้งศูนย์เครือข่ายธุรกิจ Biz Club ส่วนภูมิภาคเพิ่มอีก 15 แห่ง และคาดว่าจะตั้งศูนย์ฯ ครบทั่วทั้งประเทศภายในปี 2559

“เราเป็นโมเดลรูปแบบใหม่ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างแท้จริง การทำงานค่อนข้างอิสระ ขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชนที่เป็นกลุ่ม SME ภายใต้การสนับสนุนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ความตั้งใจของเราคือ เชื่อมโยงเครือข่าย พัฒนาธุรกิจไทย ก้าวไกลสู่สากล เครือข่าย Biz Club เปิดกว้างให้ SME สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยไม่จำกัดอายุธุรกิจและประเภทธุรกิจ โดยสมัครเป็นสมาชิกได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าของแต่ละจังหวัด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

   เรามุ่งหวังจะเป็นพลังหนึ่งในการสร้างเครือข่ายของ SME ทุกระดับ ทุกภูมิภาค ให้มีความเข้มแข็ง เชื่อมโยงสินค้า บริการ การตลาด และทรัพยากรทางธุรกิจระหว่างกัน พร้อมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจในแต่ละพื้นที่สู่มาตรฐานสากล เพื่อให้เศรษฐกิจระดับภูมิภาคช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ และยกระดับสู่เวทีโลกต่อไป”

 

เครือข่ายโอทอประดับประเทศ มุ่งหาตลาดใหม่ให้สินค้าท้องถิ่น

 

   SME รายใดที่ลงทะเบียนเป็นผู้ผลิตและผู้ประกอบการโอทอป จะเข้าสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายโอทอประดับประเทศ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ไปโดยปริยาย “พรพล เอกอรรถพร” ประธานเครือข่ายโอทอประดับประเทศ กล่าวว่า เครือข่ายตั้งใจจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการโอทอปกว่า 30,000 ราย โดยเสริมจุดแข็ง ปรับปรุงจุดอ่อน ซึ่งจุดอ่อนส่วนใหญ่หนีไม่พ้นการมุ่งหาตลาดเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าโอทอปไทย

“ที่ผ่านมาเราใช้วิธีจัดงานแสดงสินค้าพาผู้ประกอบการโอทอปไปออกบูธที่ห้างเทอร์มินอล เวนตี้วัน ผลตอบรับดีได้ค่อนข้างดีทีเดียว โดยพิจารณาจากยอดขายสินค้าโดยรวม เหนืออื่นใดคือกลยุทธ์ในการเลือกสินค้าให้ถูกต้องกับตลาด ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของการที่ภาคเอกชนจัดงานกันเอง

   ต้องยอมรับว่าเวลาภาครัฐมีงบในการจัดงานแสดงสินค้า จะเลือกที่รักมักที่ชังไม่ได้ ต้องเปิดโอกาสให้กับทุกคน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีคนสมหวัง และผิดหวัง แต่การที่ภาคเอกชนจัดงานเอง เราจะรู้ว่าสินค้าประเภทนี้ควรขายตลาดไหน หรือตลาดตรงนี้ต้องการสินค้าใด แล้วเลือกสินค้าให้ถูกกับตลาด จะทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าและต่อยอดธุรกิจได้ กลยุทธ์ดังกล่าวจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการโอทอปพยายามพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ เพื่อก้าวไปสู่ตลาดใหม่ที่เต็มไปด้วยโอกาส”

 

สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ เสริมศักยภาพธุรกิจ ฮาลาล

 

   สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกทั้งสิ้น 160 ราย โดยเป็นการรวมตัวกันแฟรนไชซอร์จาก 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มการศึกษา กลุ่มซัพพลายเชน กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสปาและความงาม และกลุ่มฮาลาล เพื่อเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือ การส่งเสริมสมาชิกให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง พร้อมนำระบบธุรกิจไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย และสามารถขยายธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในตอนนี้คือ กลุ่มธุรกิจฮาลาล เพราะแค่ในอาเซียนก็มีชาวมุสลิมมากถึง 300-400 ล้านคน ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ต้องการสินค้าภายใต้เครื่องหมายฮาลาลที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามที่สังคมโลกยอมรับ ล่าสุดทางสมาคมเพิ่งจะเซ็น MOU กับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย SME ที่ต้องการเครื่องหมายฮาลาล และเป็นสมาชิกของสมาคม สามารถรับคำปรึกษาและยื่นขอเครื่องหมายฮาลาลแบบ Fast Tract ได้แล้ว”

   คุณสวาสดิ์ มิตรอารี นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ กล่าวว่าหนึ่งในช่องทางหลักที่สมาคมใช้ติดต่อกันคือ ไลน์ มีผู้เข้าร่วมในไลน์กรุ๊ปประมาณ 600-700 คน เพราะนอกจากสมาชิก ยังมีกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสมาชิกด้วย โดยจะแบ่งไลน์กลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อให้แต่ละกลุ่มได้อัพเดตข่าวสารให้ทุกคนรับรู้ความเคลื่อนไหวกันตลอด

 

สมาคมการค้า SME ไทย วางจุดยืน One Stop, Non Stop

 

   หลังการเข้าอบรมในหลักสูตรผู้บริหาร SME ระดับสูง (SMEs Advance) ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แทนที่ผู้บริหาร SME ระดับหัวกะทิจะแยกย้ายกันไปทำธุรกิจ แต่กลับรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมการค้า SME ไทย ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ

   สุรวัช อัครวรมาศ นายกสมาคมการค้า SME ไทย บอกว่า เป้าหมายที่สำคัญของสมาคม คือ การเป็น One Stop SME ติดขัดเรื่องอะไรมาได้ที่นี่พร้อมช่วยกันแบบ Non Stop

“แต่สิ่งที่พูดนั้นไม่ง่าย เพราะมันเป็นงานใหญ่ แต่เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง และมองหาโอกาสใหม่ๆ หาเน็ตเวิร์คที่จะเป็นแขนขาสร้างประโยชน์ให้กับ SME และทำให้งานของสมาคมก้าวเดินไปบนเส้นทางได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

   เราจะทำในสิ่งที่แตกต่าง แทนที่จะอบรมให้ความรู้แบบเดิมๆ เราดึงความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ของกรรมการแต่ละคน มาพัฒนา SME กลุ่มที่มีศักยภาพอยู่แล้ว แต่ยังขาดการเติมเต็มในบางจุด เช่น การวางกลยุทธ์ เทคโนโลยี แหล่งเงินทุน กรรมการของเราที่มาจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ จะช่วยให้ข้อมูล ชี้แนะกลยุทธ์ที่ SME สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจได้จริง ที่เคยติดขัดก็จะสามารถเดินไปข้างหน้าต่อได้”

 

สมาคมการค้า ไทย สมาร์ท เอสเอ็มอี สปริงบอร์ด ของ SME ขนาดกลาง

 

   ในฐานะผู้ประกอบการด้วยกัน สมบูรณ์ พิทยรังสฤษฏ์ รู้ดีว่า SME มีความต้องการเช่นไร แต่การจะก้าวขึ้นบันไดไปสู่ความสำเร็จเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องมีเงินทุน มีความรู้ มีช่องทางการตลาด รวมทั้งมีตัวช่วยที่จะพาไปถึงฝั่งฝัน ซึ่งสมาคมการค้าไทยสมาร์ท เอสเอ็มอี ก็ยินดีที่จะเป็น “โซลูชั่น” ให้กับ SME ไทย

   นายกสมาคม การค้าไทยสมาร์ท เอสเอ็มอี กล่าวว่า SME ระดับกลางที่มีคุณภาพ และมีอายุธุรกิจมากกว่า 3 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มเป้าหมายของสมาคม ซึ่งต้องการคำชี้แนะในบางจุด ด้วยมุมมองใหม่ๆ หรือสามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ เพื่อจะได้เป็นซัพพลายเชนที่มีคุณภาพ เป็นแกนหลักในการทำคลัสเตอร์ แล้วผลักดันให้ SME ขนาดเล็กแจ้งเกิดและเติบโตต่อไป สมาคมยังตั้งใจจะเป็นสปริงบอร์ดพา SME กลุ่มนี้ไปสู่ตลาดสากลด้วย

“SME บางรายไม่ต้องการการรักษา เพราะเขาไม่ได้ป่วยอะไร แต่เราไปฟิตแอนด์เฟิร์มให้เขา ทำให้เป็น ‘สมาร์ทเอสเอ็มอี’ ที่ใช้หัวสมอง ฉลาดที่จะทำธุรกิจ SME ไทยต้องไม่แข่งกันตาย แต่ต้องแข่งกันโต เป้าหมายของสมาคมคือทำให้ GDP ของสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างน้อยต้องสูงกว่า GDP ของประเทศ และผลักดันให้สมาชิกเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ปีละ 1 ราย”

 

สมาคมภัตตาคารไทย พัฒนาร้านต้นแบบ SME

   ธุรกิจร้านอาหารถือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจุบันมูลค่าของอุตสาหกรรมธุรกิจร้านอาหารไทยอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ยิ่งใกล้จะถึงเวลาเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 การพัฒนา SME ให้รับมือกับโอกาสและความเสี่ยงที่จะเข้ามา ถือเป็นอีกภารกิจที่สำคัญของสมาคมภัตตาคารไทยในเวลานี้

   ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย จึงได้จัดทำ “คู่มือเกณฑ์มาตรฐานระบบคุณภาพร้านอาหารไทย และแผงลอยมาตรฐานต้นแบบ” ขึ้น สำหรับสมาชิกสมาคมภัตตาคารไทยทั่วประเทศ มีการจัดอบรมพัฒนากลุ่ม SME ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้าง “ร้านต้นแบบ” ที่ได้รับการพัฒนาและผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากล

   นอกจากนี้ ทางสมาคมยังมีนโยบายส่งเสริมให้ SME ที่ประกอบการร้านอาหารเพิ่มชื่อรายการอาหารเป็นภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 ลงไปด้วย เช่น ภาษาจีน เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ต้องการซื้ออาหาร แต่ไม่สามารถสื่อสารกับผู้ขายได้ หากมีการทำป้ายชื่อบอกรายการอาหาร มีราคาที่ชัดเจน ก็จะอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว และเพิ่มรายได้ให้ SME มากขึ้นในท้ายที่สุด