ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

รวม 8 กลยุทธ์ตั้งราคาสินค้า กระตุ้นความอยากได้ ซื้อง่ายจ่ายคล่อง

ราคาสินค้า เป็นสิ่งที่พ่อค้าแม่ขายตั้งแต่รายย่อยไปจนถึงรายใหญ่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก เพราะราคาสินค้าจะแปรผันตรงกับต้นทุนของสินค้านั้น ๆ และราคาตลาดด้วย อีกทั้งยังมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าโดยตรง แพงไป ดูไม่คุ้มลูกค้าก็ไม่ซื้อ แทนที่จะขายได้ก็อาจกลายเป็นขายไม่ออก สินค้าจม ขาดสภาพคล่องก็ได้ แล้วจะมีกลยุทธ์อะไรที่นำไปใช้ได้บ้าง ลองดู!

1.ตั้งราคาตามกลไกตลาด

ราคาสินค้า

สินค้าทุกชนิดจะมีราคาพื้นฐานที่เป็นไปตามกลไกตลาดอยู่แล้ว ก็นำราคานั้นมาเป็นฐานในการตั้งราคาได้ แต่หลายร้านก็เลือกที่จะอัปราคาให้สูงขึ้นเพราะหวังกำไรที่มากขึ้น ก็ส่งผลลบสักหน่อยเพราะลูกค้าไม่ได้อยากได้ของแพง ถ้ามีร้านอื่นที่ถูกกว่าเขาก็ไปซื้อ ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็จะไม่ซื้อเลย ดังนั้นควรตั้งราคที่สมเหตุสมผล ไม่ถูกจนกำไรหดและไม่แพงเกินจนลูกค้าไม่เอา

2.บุกตลาดตัดราคา

ราคาสินค้า

ข้อนี้จะเป็นการตั้งราคาเวลาเจอกับคู่แข่ง คือตัดราคาเลย ขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ให้ดึงยอดลูกค้าให้มาสนใจมากยิ่งขึ้น แต่แนะนำว่าให้ทำกับสินค้าที่เป็นตัวทดลอง ให้ลูกค้าได้รู้ ได้เห็น ได้ลองใช้ก่อน เมื่อลูกค้าเริ่มสนใจ เนิ่มติดตลาดแล้ว ค่อยขยับราคาขึ้นมาเพื่อเอากำไร หรือจะใช้กับพวกสินค้าที่เพิ่งเริ่มเข้ามาในตลาด สินค้าที่ต้นทุนการเปลี่ยนต่ำ หรือสินค้าที่ทดแทนได้ง่ายก็ได้ สิ่งที่ต้องระวังคือการขาดทุนจากการลดราคา

3.ตั้งราคาแบบพรีเมียม

ราคาสินค้า

การที่จะตั้งราคาให้สูงได้ต้องมั่นใจว่า แบรนด์ตัวเองดูมีภาพลักษณ์น่าเชื่อถือ น่าไว้ใจ และสินค้านั้นเหมาะสมพอที่จะเป็นสินค้าราคาแพงหรือสินค้าหรูหราได้ อีกทั้งกลุ่มเป้าหมายยังจะต้องมีกำลังซื้อมากพอและยินดีที่จะจ่ายในราคาที่สูงโดยไม่ต้องไปโฟกัสเลยว่าต้นทุนจริง ๆ มันจะเท่าไร สินค้าเหล่านี้จะช่วยขับเน้นภาพลักษณ์ของผู้ซื้อได้ ส่งเสริมสถานะสังคมให้ดูพรีเมียมมากขึ้น  หากแบรนด์เราทำได้ก็จะได้กำไรที่สูงเป็นพิเศษ สบายใจเรื่องรายได้ได้ระดับหนึ่ง แต่หากสินค้า ราคา และกลุ่มเป้าหมายไม่สอดคล้องกันทั้งหมดก็ไม่สามารถใช้กลยุทธ์นี้ได้

4.ตั้งสูงไว้ก่อน ลดทีหลัง

กลยุทธ์นี้จะเริ่มตั้งราคาให้สูงไว้แต่แรก แล้วจะค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อย ๆ จนสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น วิธีนี้จะช่วยให้ได้กำไรและต้นทุนคืนมาไวมากขึ้น และเมื่อความนิยมสินค้านั้นลดลงก็ลดราคาลงตามปกติ แต่ต้องพิจารณาราคาให้ดี เพราะหากจั้งสูงไป ลูกค้าก็ไม่สนใจและเกิดสินค้าค้างจนอาจเสียเปล่าไปเลยก็ได้

5.ตั้งราคาแข่ง

ราคาสินค้า

Shop sale promotion advertisement badges vector set

ใช้คู่แข่งให้เป็นประโยชน์โดยอ้างอิงราคาขายจากร้านเขาเลย และสามารถตั้งราคาต่ำกว่าก็ได้ เท่ากันก็ได้ หรือสูงกว่าก็ได้ แต่ก็พ่วงมากับคุณภาพสินค้าที่ต้องดีด้วยเช่นกันเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าตัดสินใจหรือปันใจมาอุดหนุนสินค้าร้านเราด้วย

6.ราคายอดฮิตลงท้ายด้วย 9 หรือ 0

ราคาสินค้า

การตั้งราคาที่ลงท้ายด้วย 9 หรือ 99 คือ จิตวิทยาที่ส่งผลต่อใจลูกค้า เช่น 99 199 มันยังไม่ข้ามไปที่ 100 200 ทำให้รู้สึกคุ้มค่ามากขึ้นในการซื้อ ดูไม่แพงขนาดที่ข้ามหลัก แม้จะห่างแค่ 1 บาทก็ตาม

ส่วนการตั้งราคาที่ลงท้ายด้วย 0 จะมองว่าเป็นราคาเต็ม คิดง่าย สมมติสินค้าชิ้นละ 10 บาท ซื้อ 10 ชิ้นก็ 100 บาทพอดี ไม่ต้องทอน ลูกค้าหลายรายก็มองว่าจ่ายทีเดียวจบ ๆ ไป ไม่ต้องมีทอน 1 บาทให้รกกระเป่าจะดีกว่า

7.ราคาแบ่งตาม Size

การตั้งราคาลักษณะนี้จะอยู่ในร้านอาหารหรือร้านเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่ โดย 1 เมนูจะกำหนดราคามา 3 ขนาด

สมมติขนาดเล็ก 99 บาท

ขนาดกลาง 119 บาท

ขนาดใหญ่ 129 บาท

เมื่อลูกค้าเห็นแล้วจะรู้สึกว่า เพิ่มเงินอีกนิดหน่อย 30 บาทก็เปลี่ยนจากไซซ์เล็กไปไซซ์ใหญ่ได้เลย มันรู้สึกคุ้มค่ากว่า อิ่มกว่า จุใจกว่า ทำให้ลูกค้ายอมใจในราคาที่แพงมากขึ้น

8.ราคายกเซ็ต

การขายแบบเป็นเซ็ตก็สามารถตั้งราคาได้ดีทีเดียว เช่น กระดาษทิชชู 1 แพ็กราคา 20 บาท แต่หากซื้อยกเซ็ต 5 ชิ้นราคาอยู่ที่ 80 บาท กลายเป็นว่าต่อแพ็กจาก 20 บาท เหลือ 16 บาทเท่านั้น ทั้งที่ต้นทุนอาจน้อยกว่านี้ลงไปอีก แต่ลูกค้าก็มองว่าคุ้มกว่าเห็น ๆ ซื้อทีเดียวไปเลยจะง่ายกว่า

 

ติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่ : คลิก

ติดตามบทความ How to ที่น่าสนใจได้ที่ : คลิก