ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เจาะใจ “ณพัชรนันท์ คงรักเกียรติยศ” นำ “สวนในเวียง” รุกแฟรนไชส์ร้านค้าเพื่อสุขภาพ เน้นสินค้า “ออร์แกนิก” ทั้งร้าน


ปัจจุบันผู้คนต่างหันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น สังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็น นิยมออกกำลังกายมากขึ้น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าก็ต้องปลอดสารพิษ ซึ่งปัจจุบันพบว่า สินค้าออร์แกนิกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และสำหรับสินค้าออร์แกนิกที่มาจากธรรมชาติและปลอดจากสารพิษจริงๆ นั้นแทบจะหาได้ยากยิ่งที่จะปลอดภัย 100 % อีกทั้งในเรื่องของราคายังถือว่าสูงอยู่ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ที่มองเห็นโอกาสนี้หันกลับมาฟื้นฟู และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าเชื่อถือและสามารถตีตลาดเข้าถึงกลุ่มผู้รักสุขภาพได้ทุกเพศวัย

ณพัชรนันท์ คงรักเกียรติยศ หรือ “คุณแพร์” ผู้จัดการ บริษัท ไฮเทค ไบโอ (ประเทศไทย) จำกัด คนรุ่นใหม่ที่มองเห็นโอกาสการเติบโตของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ บวกกับทางครอบครัวมีที่ดินเพาะปลูกลำไยและพืชพรรณออร์แกนิกหลากหลายชนิดในอาณาเขตมากถึง 100 ไร่ ที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งเป็นทำเลพื้นที่ที่เหมาะกับการทำเกษตรอินทรีย์ (ออร์แกนิก) เนื่องจากพื้นที่รอบข้างไม่มีการทำเกษตรเคมีอย่างหนักอย่างพื้นที่อื่น

“คุณแพร์” เล่าถึงความเป็นมาของที่ดินผืนนี้โดยคุณแม่ซื้อที่ดินไว้เพื่อจะได้มาใช้ชีวิตช่วงหลังเกษียณ ดังนั้น จึงต้องการให้พืชทุกชนิดต้องปราศจากสารเคมีทั้งหมด จากเดิมเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม (เป็นที่กรมพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมให้พัฒนาเพื่อการเกษตร) เมื่อซื้อแล้วจึงได้พัฒนาต่อยอดทำเกษตรอินทรีย์ เมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา และพัฒนาปรับปรุงให้เป็นแปลงปลูกออร์แกนิก 100 % ผลิตภัณฑ์ของสวนในเวียงเรียกว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้บริโภคยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของสินค้าออร์แกนิค รวมไปถึงข้อแตกต่างระหว่างเกษตรอินทรีย์และเกษตรทั่วไปว่าแตกต่างกันอย่างไร โดยทางคุณพ่อเองก็อยากจะให้ความรู้กับคนทั่วไปด้วย

“สวนในเวียงเป็นสวนลำไยออร์แกนิกที่มีขั้นตอนการปลูกและการผลิตที่ยุ่งยากหลายขั้นตอน เพราะต้องใช้องค์ประกอบจากสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ลม อากาศ ซึ่งไม่ใช่แค่ไม่ใช้สารเคมีเท่านั้น และคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าการปลูกออร์แกนิกจะทำให้ราคาผลผลิตถูกลงซึ่งมันไม่ใช่ เราทำแบบออร์แกนิค 100 % เริ่มตั้งแต่พื้นที่สวนลำไยกว่า 100 ไร่ ปลูกลำไยประมาณ 500-600 ต้น มีผลผลิตลำไยประมาณ 2-3 ตัน มีเป้าหมายที่จะทำการเพิ่มผลผลิตขึ้นมาเป็น 5-10 ตัน จุดเด่นของสวนในเวียง คือ ตั้งอยู่บนเชิงเขาต้นน้ำ มีการปลูกต้นไผ่โดยรอบพื้นที่เพื่อป้องกันสารพิษที่ลอยมากับลม นอกจากนี้เราเลี้ยงผึ้งและปล่อยให้ผึ้งเป็นตัวช่วยในการผสมเกสรดอกลำไย เราเลี้ยงวัวเพื่อช่วยกำจัดวัชพืชแทนการใช้สารเคมี และอื่นๆ เป็นต้น เรื่องการปลูกก็จะมีการเว้นระยะสับหว่างการปลูก และปลูกพืชที่สามารถช่วยในการไล่แมลง อย่าง ตะไคร้ พริกไทย เป็นต้น จากวิธีการขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อนทำให้ได้ผลผลิตน้อย และเกษตรกรไม่นิยมทำเพราะ 1 ปีจะให้ผลผลิตลำไยแค่ครั้งเดียว แต่ของเราแม้จะได้ผลผลิตที่น้อยแต่รับรองได้ว่าผลผลิตลำไยของไร่สวนในเวียงนั้นปลอดภัยจากสารพิษ 100 % อย่างแน่นอน”

“คุณแพร์” บอกว่า จุดเด่นของสวนในเวียง คือ พื้นที่ทำเลอยู่ในช่วงต้นน้ำ จึงใช้วิธีขุดหาแหล่งน้ำ ปัจจุบัน สวนในเวียง เป็นสวนเดียวที่ได้มาตราฐานออแกนิกสากล 100% ไม่ว่าจะเป็น ได้รับใบรับรองออแกนิกจากยุโรป แคนนาดา และ USDA (ของออร์แกนิกอเมริกา) และตอนนี้มีหน่วยงานภาครัฐอย่าง สสว.มาช่วยทำวิจัยเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนไข่หรือฮอร์โมนปลามาช่วยในการเพิ่มผลผลิต ซึ่งจะส่งผลในเรื่องของราคาที่จะปรับตัวสูงขึ้น เรียกว่าทุกกระบวนการขั้นตอนมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เช่น ลำไย 1 ต้น ส่วนใหญ่จะให้ผลผลิตราว 100 กิโลกรัม แต่สวนในเวียงจะได้ผลผลิตน้อยกว่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่ค่อยมีเกษตรกรคนใดอยากจะพลิกดินเริ่มต้นทำอย่างจริงจัง

“เราแบ่งสัดส่วนการขายผลลำไยสดในรูปแบบขายส่งเพื่อให้ปลายทางไปทำการอบเอง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20 % ที่เหลือ 80 % จะเป็นการแปรรูป เราไม่ต้องการขายผลสด เนื่องจากในปีหนึ่งเมื่อผลออกมาให้เก็บเกี่ยว เราก็จะเกณฑ์คนมาอบเพื่อให้ใช้ได้ตลอดทั้งปี เมื่อมีออเดอร์เข้ามาจึงนำเอาออกมาทำการสกัดผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป ฉะนั้น เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวเราจะใช้คนเยอะมาก และต้องพยายามอบให้หมด เนื่องจากลำไยเราเป็นออร์แกนิกทำให้เสียง่ายมาก เนื่องจากเราไม่ได้ใช้สารเคมี ซึ่งอายุของลำไยที่ใช้สารเคมีทั่วไปจะสามารถอยู่ได้ 2 อาทิตย์ บางรายอาจอยู่ได้เป็นเดือนโดยที่ไม่ต้องแช่ตู้เย็น ซึ่งของเราหากไม่ได้แช่ตู้เย็นก็จะเสียง่ายมาก เราจึงไม่ค่อยเน้นเจาะตลาดตามโมเดิร์นเทรด แต่หันมาเน้นเรื่องการแปรรูปมากขึ้นแทน”

เมื่อทีมงาน ชี้ช่องรวย ได้เอ่ยถามแผนดำเนินธุรกิจที่วางเป้าหมายว่าจะนำ สวนในเวียง เข้าสู่การบริหารในรูปแบบ “แฟรนไชส์” “คุณแพร์” ได้ให้เหตุผลว่า การนำธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ เป็นความตั้งใจด้วยเหตุผลที่ว่า ในจำนวนคน 1 ล้านคน จะต้องมี 1 คนที่สนใจทำธุรกิจเป็นร้านค้าขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่สามารถให้คำแนะนำลูกค้าได้ ซึ่งแฟรนไชส์ร้านค้าสวนในเวียง นอกจากมีมีผลิตภัณฑ์ของเธอเองวางขายแล้ว ยังเปิดรับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ มาวางขายด้วยเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภค

ตอนนี้เราเริ่มต้นการเป็น Future Food Cluster โดยแต่ละคนจะมีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เราพยายามจะให้มีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุม ทำให้ผู้บริโภคลดความเสี่ยงการเป็นโรค NCD อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด เป็นโรคที่ไม่ติดต่อต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มผู้คนเป็นโรคเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดล้วนมากจากพฤติกรรมที่ผิดๆ ดังนั้น หากเราเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ก็จะทำให้ไม่เกิดโรคดังกล่าว

“จุดเริ่มต้นของแนวคิดการทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ก็เริ่มมาจากกลุ่มคลัสเตอร์มาก่อนและมองว่าทุกคนมีศักยภาพในการขาย ถ้าเราหาคนที่มีศักยภาพได้ 20 คนเราก็มี 20 สาขาแล้ว การทำแฟรนไชส์ก็ต้องมีร้านต้นแบบ ซึ่งเราก็ได้มีการพูดคุยถึงไอเดียออกแบบร้าน หากเรามีการพูดคุยได้ขยายตลาดตามศักยภาพที่แต่ละคนมีก็จะสามารถขยายสาขาได้มากขึ้น ตอนนี้เราเปิดรับผู้ประกอบการที่มีความรู้และสนใจในธุรกิจนี้ เพราะมันเป็นสินค้าที่ต้องการคนที่มีความรู้มีความเอาใจใส่จริงๆ และสามารถให้ความรู้รายละเอียดกับลูกค้าได้จริง ดังนั้น ในช่วงแรกเราอาจจะต้องคัดเลือกก่อน”

นอกจากนี้ “คุณแพร์” ยังเป็นตัวแทนของกลุ่มคลัสเตอร์เข้าอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์จากกระทรวงพาณิชย์ โดยที่ยังไม่ได้กำหนดงบประมาณการลงทุนสำหรับผู้ที่สนใจ โดยเรื่องนี้เธอบอกว่า ต้องขอเวลาในการพูดคุยและเตรียมรูปแบบระบบแฟรนไชส์ในลงตัวก่อน เมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว ก็จะสามารถเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ทันที

สำหรับผลิตภัณฑ์ของ สวนในเวียง แบ่งออกเป็นกลุ่มหลักๆ ดังนี้

1.ผลิตภัณฑ์แปรรูป

-ผลิตภัณฑ์แปรูปเพื่อสุขภาพ ไปในทางรักษาโดยมีผลงานวิจัย

-กลุ่มแปรรูปสมุนไพร เช่น ขนมเพื่อสุขภาพ

-กลุ่มแปรรูปพร้อมดื่ม โดย 3 ตัวหลังเป็นตัวที่มาใหม่หมดเลย

2.ผลิตภัณฑ์เพื่อการรักษา เช่น ชาลำไย กับชาลิ้นจี่ซึ่งเป็นธุรกิจเริ่มต้นของสวนในเวียง

3.ผลิตภัณฑ์พร้อมดื่ม เช่น จิงจูฉ่าย ชาลำไย ชาลิ้นจี่ บรรจุขวดพร้อมดื่ม ที่มีความพิเศษโดยใช้ความหวานจากหญ้าหวานมาเป็นส่วนผสม

ในส่วนของสมุนไพรทางคุณพ่อของ “คุณแพร์” ได้ซื้อผลงานวิจัยเกี่ยวกับตัวผงโรยข้าวญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เป็นสูตรเฉพาะในเรื่องการใช้สมุนไพรเพื่อกระตุ้นลิ้นให้รับรู้รสอาหารโดยมีโซเดียมต่ำ น้ำตาลน้อย โดยมีผักสมุนไพรต้านมะเร็งอย่าง จิงจูฉ่าย เป็นตัวแรกที่มาเปิดตลาด ซึ่งปลูกระหว่างแปลงลำไย นอกจากนี้ยังปลูกพืชสมุนไพรต่างๆ รวมไปถึง โกโก้ กาแฟ ด้วย

“เราจับตลาดทำธุรกิจชาลำไย-ลิ้นจี่มาประมาณ 7-8 ปีแล้ว เดิมเราซื้อที่ตรงนี้เพื่อคุณแม่ต้องการจะไปอยู่เองหลังเกษียณ ดังนั้น ทุกอย่างจึงต้องออร์แกนิกทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีปลูกถั่วแมคคาเดเมีย หญ้าหวาน ซึ่งสามารถปลูกได้ในพื้นที่ 100 ไร่ ตัวแพร์จะดูด้านการตลาด ส่วนคุณพ่อจะดูแลเรื่องการผลิต สิ่งที่เราตั้งความหวังไว้ คือ ต้องการขยายแฟรนไชส์ในลักษณะตัวแทนซึ่งจะต้องมีการออกแบบร้านต้นแบบซึ่งต้องใช้ต้นทุนและตอนนี้ยังไม่ได้คำนวณต้นทุนว่าผู้สนใจจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณเท่าใด คาดว่าจะลงตัวแล้วเสร็จในช่วงปีหน้า 2563 เพราะตอนนี้เรายังอยู่ในระหว่างช่วงทดลองดำเนินการ คิดว่าจะเริ่มทำให้กลุ่มของคลัสเตอร์ 20 สาขา ซึ่งถือเป็นร้านต้นแบบ แล้วดำเนินการเก็บข้อมูล และต้องดำเนินการเรื่องภาพลักษณ์ในเรื่องของแบรนด์ จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายและลดสโคปงานให้ดูเล็กลง โดยอาจจะต้องทำการรีแบรนด์ใหม่”

สำหรับแผนการตลาดในขณะนี้ “คุณแพร์” บอกว่า ใช้ช่องทางการขายผ่านออนไลน์เป็นหลัก จากนั้นจึงเริ่มดำเนินแผนที่จะรุกตลาดในรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งขณะนี้ช่องทางออนไลน์ถือว่าขายดีและมีคนรู้จักมากที่สุด นอกจากนี้ ยังเปิดรับตัวแทนจำหน่ายด้วย โดยเปิดบิลเพียง 10 กล่อง ในราคา 2,500 บาท บวกค่าส่งสินค้า 80 บาท ซึ่งหากขยายตลาดในรูปแบบแฟรนไชส์คาดว่าจะทำให้ราคาสินค้าถูกลงด้วย ซึ่งปัจจุบันราคาขายปลีกจะอยู่ที่กล่องละ 390 บาท พร้อมทั้งมีโปรโมชั่นตามโอกาส โดยสินค้าชูธงยังคงเป็นชาลำไยและชาลิ้นจี่ นอกจากนี้ คุณแพร์” ยังผลิตกาแฟผสมหญ้าหวาน และกาแฟสกัดเย็น แบบซอง พร้อมอุปกรณ์การชงกาแฟ ซึ่งคาดว่าจะออกสู่ตลาดในช่วงปีหน้าอีกด้วย