ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

แนะ 10 วิธี! ทำอย่างไรให้ “แฟรนไชส์” อยู่รอด ในยามเกิดวิกฤต


ในช่วงนี้ที่หลายธุรกิจจะต้องหาทางฝ่าฟันวิกฤต COVID-19 ไปให้ได้ โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้ผลกระทบลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้ ชี้ช่องรวย มีแนวทางการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดมาบอกกล่าว ดังนี้

1.รักษายอดขาย

เชื่อว่ายอดขายแฟรนไชส์หลากหลายค่ายจะต้องลดลงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะร้านค้าแฟรนไชส์ที่เปิดสาขาบนห้างสรรพสินค้า หรือ คอมมิตี้มอลล์ต่างๆ เนื่องจากลูกค้าไม่กล้าเสี่ยงไปเดินเพราะกลัวติดจะติดเชื้อ ดังนั้น จึงควรจะหาวิธีที่จะรักษายอดขายให้ได้ อาจจะลดลงบ้าง แต่อย่าให้เกินรับไหว หนทางแก้คือ การหาช่องทางอื่นๆ ในการนำเสนอสินค้าให้กับลูกค้าให้ได้ หรือ อาจใช้วิธีขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

2.รักษาตลาดให้แน่น

แม้จะขายของไม่ได้ แต่ก็ควรรักษาฐานกลุ่มลูกค้าเอาไว้ให้ถึงที่สุด เพราะเป็นฐานรายได้ที่สำคัญ โดยอาจมีการลดราคาสินค้าลงบ้าง หรือจัดโปรโมชั่นดึงดูดความสนใจ แม้จะได้กำไรไม่มากแต่ก็ถือว่ายังไม่ขาดทุน ที่สำคัญการบริการเป็นจุดหลักที่จะช่วยดึงลูกค้าเก่าของไว้ได้ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันยังคงใช้ได้ในทุกวิกฤตค่ะ

3.มุ่งหากลุ่มลูกค้าใหม่

เมื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้แล้ว ก็อย่าละเลยกับการหาลูกค้ารายใหม่เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าของเราด้วย อย่างเช่น ยอมเหนื่อยวิ่งหาลูกค้า หรือขยันออกงานเพิ่มขึ้น อาจจะใช้ช่องทางออนไลน์ขยายการสร้างการรับรู้สู่ตลาดต่างประเทศ ใช้ช่องทางด้านนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เมื่อวิกฤตผ่านพ้นไปแล้ว ผลพลอยได้ คือ จะทำให้คุณลุกขึ้นได้เร็วและง่ายขึ้นด้วยค่ะ

4.ขอลดค่าเช่าพื้นที่

เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้คุณอยู่รอดในช่วงวิกฤตได้ โดยคุณต้องอธิบายและชี้แจงให้ทางห้างสรรพสินค้ารู้ว่าเราได้รับผลกระทบอย่างไรจากปัญหาไม่มีลูกค้ามาเดินในห้าง ทำให้ขายของไม่ได้และไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งจากข่าวหลายสำนักจะเห็นว่า ในหลายๆ ห้างฯ ต่างก็ให้ความช่วยเหลือร้านค้าที่เช่าพื้นที่ในห้างอยู่แล้ว ดังนั้น คุณจึงควรไปพูดคุยนำเสนอปัญหาเพื่อขอลดค่าเช่าลง

5.Focus จุดแข็งของตัวเอง

ในฐานะที่คุณเป็นเจ้าของร้านหรือเจ้าของธุรกิจ ย่อมรู้ดีถึงจุดเด่นจุดด้อยของคุณเอง ฉะนั้น ในสภาวะที่หลายธุรกิจมียอดขายลดลง กำไรน้อยหรือขาดทุน หากจะอยู่ให้เป็นคุณก็ต้องลดขนาดของธุรกิจ และเลือกทำเฉพาะร้านหรือทำเลที่ทำเงินให้คุณได้มากที่สุด โดยพิจารณาถึงความถนัด ความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มของธุรกิจในอนาคตเป็นหลัก

6.เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

ในช่วงวิกฤติเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าทุกธุรกิจย่อมต้องมีขึ้นมีลง การทำธุรกิจจึงต้องมีความระมัดระวัง และเรียนรู้ถึงคุณค่าและโอกาสของวิกฤตนั้น การมองวิกฤติหรือเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส คือ การมองหาข้อดีในปัญหาที่เกิดขึ้น และใช้ข้อดีนั้นมาช่วยสร้างโอกาสของธุรกิจอีกครั้ง เช่น ยอดขายลดลง ลูกค้าหายไป จะทำให้ค้นพบช่องทางการตลาดใหม่ๆ ที่จะเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

7.ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของธุรกิจของคุณ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารและพนักงานควรร่วมมือร่วมใจดำเนินการ แต่ต้องไม่กระทบต่อคุณภาพของสินค้าหรือบริการและความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด

8.เดลิเวอรี่

การจับมือกับเดลิเวอรี่มากมายหลายแบรนด์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในยามวิกฤตเช่นนี้ ถือเป็นทางออกและทางเลือกที่ดีที่จะทำให้คุณยังคงรักษาฐานลูกค้าและเพิ่มยอดขายให้กับคุณได้ ที่สำคัญกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ในกลุ่มคนยุคใหม่ ลองปรับมาเป็นจัดส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

9.พัฒนาตัวเอง
ใช้โอกาสท่ามกลางวิกฤตนี้พัฒนาตัวคุณเอง พร้อมทั้งสำรวจตัวคุณเองว่ายังขาดความรู้ในเรื่องไหนบ้าง แล้วใช้เวลาในช่วงที่ลูกค้ามีน้อยนี้ไปหาความรู้เพิ่มเติม เมื่อสถานการณ์คลี่คลายกลับมาเหมือนเดิมแล้ว คุณจะได้นำเอาความรู้เหล่านั้นมาปรับปรุงร้านและระบบงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

10.หาพันธมิตรทางธุรกิจเสริมทัพ

ในยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกขณะ การที่คุณหาพันธมิตรทางธุรกิจจะยิ่งเสริมจุดแข็งให้คุณมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น การแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถระหว่างคุณกับพันธมิตร จะยิ่งช่วยต่อยอดความสำเร็จจนอาจนำไปสู่การผลิดอกออกผลไปสู่ธุรกิจอีกไลน์หนึ่งในอนาคตก็เป็นไปได้