ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ชี้ช่องรวย แนะวิธีสร้าง “แฟรนไชส์” ให้ปัง มัดใจนักลงทุน


ก่อนอื่นต้องขอต้อนรับ พี่ๆน้องๆ ชาวชี้ช่องรวย เข้าสู่คอลัมน์ รวยร้อยเท่าด้วยแฟรนไชส์ บทความดี ๆ ที่จะมาให้ความรู้ในเรื่องธุรกิจแฟรนไชส์ กับ เอ ยุวดี ซุ้มกอทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์ ที่มีประสบการณ์สร้างแฟรนไชส์ ภายใน 1 เดือน จนประสบความสำเร็จมีสาขามากกว่า 30 สาขาทั่วประเทศ โดยในคอลัมน์นี้ เราจะมาบอกวิธีและ ความรู้ ไอเดีย และการต่อยอด เมื่อ SME อยากก้าวสู่ธุรกิจแฟรนไชส์แล้วปัง และรวยในยุคโควิด

เอาเป็นว่าในบทความนี้เพื่อนๆSME ได้เข้ามาถามในFB: ชี้ช่องรวย เรา ว่าอยากพัฒนาธุรกิจเป็นแฟรนไชส์นั้นต้องทำอย่างไร วันนี้ เรามีแนวคิดก่อนจะเป็นแฟรนไชส์นั้น เราต้องรู้อะไรบ้าง รวมถึงเทคนิคมัดใจนักลงทุนมาฝากกันด้วยคะ

“ บนโลกธุรกิจ ไม่มีพื้นที่ให้เบอร์ 2 “

คติที่คนทำธุรกิจต้องท่องไว้ให้ขึ้นใจ คุณต้องพึ่งจำไว้เสมอว่า ไอเดียที่สด ไอเดียที่ใหม่ มันคือ ไม้เด็ดในการเคาะประตูหัวใจของลูกค้า ความสด ความใหม่ ใครๆก็อยากลอง ถ้าให้ยกตัวอย่าง พ่อค้าขายฝรั่งสีเขียว กับพ่อค้าขายฝรั่งสีทอง เร่ขายพร้อมกัน ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ผ่านไปมา จะเลือกหยุดและหันมามองฝรั่งสีทองจากการที่ไม่เคยเห็น มากกว่าฝรั่งสีเขียวที่มีเต็มท้องตลาดทำให้มองผ่านไปเพราะความเคยชิน ฉะนั้นในเมื่อคุณคิดธุรกิจสักอย่าง อยากให้คุณเริ่มจากสำรวจตลาด วิเคราะห์ตลาด ว่า คู่แข่งเป็นใคร เขาทำอะไร แล้วอย่าลอก แต่จงทำให้แตกต่าง
ให้เราคือความโดดเด่นของตลาดนั้น

ขายแพงได้ ถ้าขายเป็น

ของถูกไม่ใช่ปัจจัยในการตัดสินใจของคนในปัจจุบันอีกต่อไป แต่ความคุ้มค่า คือหัวใจหลักในการลงทุนของธุรกิจสมัยนี้ ฉะนั้นในการสื่อสารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เจ้าของแฟรนไชส์เองต้องสื่อสารถึงความคุ้มค่า ชี้ให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่ลงทุนแล้วจะได้กำไร หรือ ระยะเวลาที่คืนทุนนั้นเมื่อไหร่ หากระยะเวลาคืนทุนสั้น ความสนใจธุรกิจจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าอยากขายแพง ตัวคุณต้องนำเสนอให้ได้ว่า แพงจากอะไร จะมาจากไอเดีย ดีไซน์ หรือ ความล้ำสมัยในเรื่องไหน ก็ต้องตอบให้ได้ ซึ่งส่วนมาก แฟรนไชส์ที่มีราคาสูงมักมีดีไซน์ที่หาไม่ได้ตามท้องตลาด มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นต้น

ความสะดวก พร้อมเสิร์ฟ เอาง่ายที่สุด

นักลงทุนสมัยนี้ไม่ชอบความยุ่งยาก การจะทำให้แฟรนไชส์ของเรามีเสน่ห์ได้นั้น ควรต้องตอบโจทย์กับนักลงทุนในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น การขายแฟรนไชส์พร้อมพื้นที่ขาย การขายแฟรนไชส์พร้อมแหล่งเงินทุน อาจจะเป็นการผ่อน หรือ การกู้ที่สามารถรวมกับธนาคารไว้แล้ว ก็จะทำให้นักลงทุนนั้น ตัดสินใจและรู้สึกถึงความพร้อม สะดวกสบาย ทำให้การตัดสินใจง่ายมากขึ้น

สำหรับ SME ที่อยากพัฒนาเป็นระบบแฟรนไชส์นั้น บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช้เรื่องง่ายในเวลาเดียวกัน เจ้าของแฟรนไชส์เองควรต้องมีการวางระบบ วางมาตรฐานของเราให้ได้ก่อน เพราะการดูแลแฟรนไชส์นั้น หากมีความผิดพลาด หรือขากการวางระบบที่ดี สิ่งที่ตามมาคือ หายนะของธุรกิจที่จะล้มเป็นลูกโซ่ จึงอยากขอ แนะนำว่า เจ้าของแฟรนไชส์เองนั้น ควรมีคู่มือที่เรียกว่า Operation Manual ซึ่งเป็นหัวใจของแฟรนไชส์เอาไว้เพื่อควบคุมมาตรฐาน และสร้างระบบระเบียบ รวมถึงข้อบังคับ ของธุรกิจให้ได้มาตรฐานในทุกสาขา