กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ชี้กลยุทธ์การรีวิวสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะใน 3 กลุ่ม ได้แก่ แฟชั่นและเครื่องสำอาง ธุรกิจอาหาร และผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว พร้อมเผย 5 ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับการรีวิวสินค้า ได้แก่
1.การเลือกใช้ผู้รีวิวหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีคาแรคเตอร์เดียวกับสินค้า
2.ไม่โฆษณาจนมากเกินไป
3.ผสมผสาน ความน่าเชื่อถือ
4.ให้ความสำคัญกับความกระชับฉับไว
5. การสร้างประสบการณ์ร่วมกับผู้รับชมหรือผู้บริโภค
ทั้งนี้ เพื่อให้แต่ละธุรกิจสามารถเติบโตได้ด้วยเทคโนโลยีและระบบออนไลน์ได้มากขึ้น กสอ. ยังได้วางงบประมาณ พร้อมด้วยกิจกรรมพัฒนาศักยภาพด้านดังกล่าวของผู้ประกอบการ อาทิ การสอนถ่ายภาพเพื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การสร้างสรรค์เว็บไซต์ ฯลฯ และล่าสุดยังจัดกิจกรรมประกวดคลิปวิดีโอรีวิวสินค้าในแคมเปญ “DIP รีวิวติดสปีด” เพื่อให้สินค้าเอสเอ็มอีเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยผู้ชนะเลิศได้แก่ นายธรรมชาติ โยธาจุล ในผลงาน “รีวิวผงปรุงรสได้รับโล่รางวัลพร้อมเงินรางวัล มูลค่า 30,000 บาท
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันกลยุทธ์ “การรีวิวสินค้า” เป็นกิจกรรมที่กำลังนิยมในการทำธุรกิจออนไลน์และถูกแพร่กระจายไปทั่วโลก เพราะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาดได้อย่างมหาศาลและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์และเชื่อคำแนะนำจากสื่อดังกล่าวมากกว่าการโฆษณา เพราะมีความสมจริง เข้าถึงได้ง่ายและกระจายต่อ (Share) ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การทำ “อีคอมเมิร์ซ” มีการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น “การรีวิวสินค้า” จึงนับเป็นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยการทำธุรกิจที่สำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการทั้งรายย่อยและรายใหญ่ควรนำมาปรับใช้และควรสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ ๆ ให้มีความน่าสนใจ เพื่อเพิ่มยอดขายและความเป็นที่นิยมในท้องตลาดให้มากขึ้น โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ แฟชั่นและเครื่องสำอาง ธุรกิจอาหาร และผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว
ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา กสอ. พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยหลายรายได้หันมาให้ความสนใจกิจกรรมการรีวิวสินค้าเพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพขึ้น จึงมีข้อแนะนำดังนี้
• เลือกใช้ผู้รีวิวหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีคาแรคเตอร์เดียวกับสินค้า เพื่อให้การรีวิวดูมีความจริงใจ ธรรมชาติ และตอบโจทย์กับผู้บริโภคได้อย่างน่าเชื่อถือ เช่น สินค้าชุมชนต้องใช้ผู้รีวิวที่มีความเป็นชาวบ้าน สินค้าอาหารต้องใช้เชฟ หรือ นักชิม สินค้ากลุ่มเครื่องสำอางใช้ช่างแต่งหน้า หรือ นักแสดง ฯลฯ
• ไม่โฆษณาจนมากเกินไป ผู้ประกอบการหรือนักการตลาดควรคำนึงว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่มักหลีกหนีการชมโฆษณาและสรรหาเรื่องราวต่าง ๆ ในสื่อออนไลน์ที่น่าสนใจมากกว่าดังนั้น เนื้อหาในการรีวิวจึงต้องมีความเป็นธรรมชาติ สอดคล้องกับเหตุการณ์ประจำวัน และต้องทำให้ผู้ชมหรือบริโภครู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการรีวิว
• ผสมผสานความน่าเชื่อถือ ด้วยการอ้างอิงคุณประโยชน์จากส่วนใดส่วนหนึ่งของสินค้า เพื่อทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ เช่น ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ต้องอ้างอิงสรรพคุณส่วนผสมจากสมุนไพร หรือวัตถุดิบต่างๆ สินค้ากลุ่มเสื้อผ้า ต้องแสดงถึงความสบาย ความภูมิฐาน คุณภาพของเนื้อผ้าที่มีต่อการสวมใส่ นอกจากนี้ ยังสามารถนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน มาร่วมยืนยันหรือให้ข้อมูลกับสินค้าได้อีกด้วย
• ให้ความสำคัญกับความกระชับฉับไว เนื่องด้วยปัจจุบันมีช่องทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้เทคนิคการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเรื่องของการนำเสนอเนื้อหาและการตัดต่อต้องไม่ยืดเยื้อ ชมแล้วเข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความเยอะ พร้อมสร้างความรู้สึกให้ผู้ที่ได้รับชมมีความต้องการบอกต่อ (Share) ให้กับผู้อื่นได้ทันที
• การสร้างประสบการณ์ร่วมกับผู้รับชมหรือผู้บริโภค โดยเปิดโอกาสให้ผู้รับชม ผู้ใช้ และผู้ทดลองใช้ สามารถแสดงความคิดเห็น หรือร่วมเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของการรีวิว เพื่อทำให้ผู้อื่น ๆ ได้รับรู้ถึงความจริงใจของแบรนด์สินค้า และนำมาปรับปรุงบริการด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้แต่ละธุรกิจสามารถเติบโตได้ด้วยเทคโนโลยี ระบบออนไลน์ และโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวางขึ้น ในปีนี้ กสอ.จึงได้จัดเตรียมโครงการและกิจกรรมพัฒนาศักยภาพด้านดังกล่าว ของผู้ประกอบการ อาทิ โครงการเพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอีด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital for SMEs) โครงการ จัดทำองค์ความรู้ในรูปแบบสื่อดิจิทัลสำหรับเอสเอ็มอี (E-learning for SMEs) และยังมีกิจกรรมเสริมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การสอนถ่ายภาพเพื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การพัฒนาอี-แคตตาล็อกเพื่อโปรโมทสินค้า การสร้างสรรค์เว็บไซต์ ฯลฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความทันยุคทันสมัย และสอดรับกับเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น
นอกจากนี้ ล่าสุดยังได้จัดกิจกรรมประกวดคลิปวิดีโอรีวิวสินค้าในแคมเปญ “DIP รีวิวติดสปีด” เพื่อค้นหาสุดยอดนักสร้างสรรค์และนำเสนอสินค้าเอสเอ็มอี ซึ่งเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมประกวด โดยมีผู้ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 60 คลิป และคัดเลือกเหลือ เพียง 5 คลิปทีมจากคณะกรรมการ
ซึ่งการคัดเลือกใช้เกณฑ์การตัดสินจากแนวคิดผลงานอันสะท้อนความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนเทคนิคการนำเสนอ จากการตัดสินของผู้ทรงคุณวุฒิโดยละเอียดนั้น มีความเห็นตรงกันว่า นายธรรมชาติ โยธาจุล ในผลงาน “รีวิวผงปรุงรส” ตอบโจทย์ของการเข้าแข่งขันในโครงการมากที่สุดได้รับรางวัลชนะเลิศได้รับโล่ พร้อมเงินรางวัล มูคคล่า 30,000 บาท นายประภวิษณุ์ พุกสุริย์วงษ์ และนายนนทกร รุ่งแกร ผลงาน “รีวิว Deesay Powder แป้งตลับ” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินสด 20,000 บาท และนางรติกา เอกภาพวาสนา กับผลงาน “รีวิวSkinfrink ครีมทาหน้า และ ครีมแต้มสิว” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินสด 10,000 บาท
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 02- 202 -4417 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th