ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย พร้อมกับการประกาศคลายล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง หลายคนเริ่มกลับมาทำงานเป็นปกติ และหลายคนที่กำลังมีความคิดอยากจะขายอาหารเล็กๆ น้อยๆ เป็นอาชีพเสริมในช่วงวันหยุด หรือคนที่กำลังว่างงานกำลังอยู่ในช่วงหางาน และไม่อยากจะอยู่เฉยๆ อยากหาอะไรเล็กๆ ทำ พวกอาหารทานเล่นที่ลงทุนน้อยๆ แต่ขายได้กำไรเยอะๆ ก็ดูน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
สำหรับพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ ที่เพิ่งจะมาหยิบจับหรือเพิ่งเริ่มต้น อาจจะดูเก้ๆ กังๆ ไปบ้างต้องใช้เวลาในการปรับตัว ชี้ช่องรวย มีเทคนิคดีๆ เพื่อเตรียมตัวสู่การเป็นพ่อค้าแม่ค้ามืออาชีพ ดังนี้
1.ขายอะไรดี
อาจเริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองชอบกิน หรือชอบทำ เพราะจะทำให้เรามีความชำนาญและถนัดมากกว่า ที่สำคัญทำแล้วมีความสุขมากกว่าทำในสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่ถนัด หรือบางคนมีสูตรประจำตระกูล หรือค้นหาสูตรจากอินเตอร์เน็ตมาพัฒนาต่อ สิ่งสำคัญคือ รสชาติต้องได้ และคุณภาพต้องถึง ใส่ใจกับวัตถุดิบ แล้วลูกค้าจะประทับใจ ซื้อซ้ำบ่อย
2.ขายให้ใคร
จะขายของรู้หรือยังว่าลูกค้าเป้าหมายคือใคร ดังนั้น อย่าลืมวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายด้วยว่า กลุ่มลูกค้าใช่กับสินค้าที่เราจะขายหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น ประเภทอาหาร ระดับราคา ดังนั้น ไม่ว่าจะขายจริงจัง หรือ ขายเป็นอาชีพเสริม ก็ต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร ข้อมูลตั้งต้นที่เราควรรู้เช่น เพศ, อายุ, อาชีพ เป็นต้น เพื่อจะได้นำมาทำการบ้านต่อว่า จะขายแบบไหน ระดับราคาเท่าไหร่
3.ขายที่ไหน
พูดง่ายๆ คือ ทำเลที่จะขายนั่นเอง ถือเป็นอีกข้อสำคัญที่ต้องตั้งใจเลือกดีๆ มีไม่น้อยเห็นทำเลคนเยอะ ๆ นึกว่าดีแน่ๆ แต่เอาเข้าจริงขายไม่ออก ก็เพราะทำเลนั้นกลุ่มคนที่อยู่ หรือ ผ่านไปมานั้นไม่เหมาะกับประเภทอาหาร หรือระดับราคา ดังนั้น ถ้าจะขายแบบมีหน้าร้านต้องวิเคราะห์ทำเลให้ขาดว่าเหมาะกับอาหาร และระดับราคาของเราหรือไม่ ให้เวลากับการลงไปทำการบ้านกับทำเลจริง ๆ ว่ามีโอกาสขายได้หรือคุ้มค่าเช่าหรือไม่ กำลังการซื้อเป็นอย่างไร คู่แข่งทางตรง ทางอ้อมมีมากแค่ไหน การจราจร ที่จอดรถสะดวกหรือไม่
อีกหนึ่งช่องทางขายที่อยากจะแนะนำ คือ ไลน์กรุ๊ปหมู่บ้าน และเฟซบุ๊ก หรือการตลาดออนไลน์ หรือหากไม่มีหน้าร้าน หน้าร้านออนไลน์จึงสำคัญมากๆ ถ้าใครยังอ่อนด้านการตลาดออนไลน์ก็สามารถเรียนรู้ได้ใน คอร์สเรียนออนไลน์ฟรี! เป็นต้น
4.จัดสรรเงินลงทุน
ไม่ว่าจะทำจริงจัง หรือ ทำเป็นอาชีพเสริม เงินลงทุนก็สำคัญ บางคนคิดว่าก็แค่ทำเสริมๆ ไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนว่าจะต้องกำไร ไม่เข้าเนื้อก็พอใจแล้ว ระวังคิดแบบนี้จะได้เป็นหนี้กลับคืนมา และส่วนใหญ่ของคนทำร้านอาหารมือใหม่มักจะพลาดในเรื่องการจัดสรรงบลงทุน แบ่งสัดส่วนไม่ลงตัวทำให้งบบานปลาย แนะนำให้แบ่งงบประมาณลงทุนออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
4.1 เงินสำหรับการลงทุนจนร้านเปิดกิจการได้ 60 – 70 %
4.2 เงินทุนหมุนเวียนภายในร้านระยะประมาณ 4 – 6 เดือน 20 – 30%
4.3 งบการตลาด 10 – 20 %
ย้ำว่า ต่อให้เป็นร้านแผงลอยริมทาง หรือ Ghost Kitchen ก็ควรจัดสรรงบลงทุนให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้น งบจะบานไปเรื่อยๆ ถ้าจำกัดงบไว้แต่แรกการซื้อใด ๆ จะเป็นซื้อตามงบ คิดเยอะขึ้น ต้องตัดใจให้อยู่ในงบตามสัดส่วน
5.รู้เรื่องโครงสร้างต้นทุน
Food Cost ต้นทุนอาหาร โดยทั่วไปควบคุมให้อยู่ที่ 35% ของยอดขาย (แต่สำหรับ Street Food หรือ Buffet อาจสูงถึง 50%)
Labor Cost ค่าแรงพนักงาน ควบคุมให้ต่ำกว่า 20% ของยอดขาย ***สำคัญมาก ๆ ใน Labor อย่าลืมใส่ค่าแรงตนเองลงไปด้วย!!!***
Other Control Cost ต้นทุนอื่นๆ ที่ควบคุมได้ ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเดินทางซื้อของ และอื่นๆ ที่ควบคุมได้ ควบคุมให้ต่ำกว่า 10% ของยอดขาย
Rent ค่าเช่าพื้นที่ (ถ้ามี) ควรต่ำกว่า 10% ของยอดขาย เนื่องด้วยค่าเช่าที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ไม่แปรผันตามยอดขายสิ่งที่สามารถทำให้ค่าเช่าพื้นที่ต่ำกว่า 10% ได้ คือการดันยอดขายให้สูง ๆ (หลังจากหักค่าใช้จ่าย 4 ข้อนี้ควรเหลือกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายข้อต่อไปที่ 25-30%)
Other Uncontrol Cost ค่าใช้จ่ายที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ ค่าภาษี ค่าจ้างทำบัญชี ค่าบริหาร
Depreciation & Amortization ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย หรือเข้าใจง่าย ๆ ตีเป็นค่าลงทุนกับการก่อสร้างร้าน สำหรับค่าใช้จ่ายข้อ 5 และข้อ 6 ควรต่ำกว่า 15% ของยอดขาย
ฝากเป็นข้อคิดปิดท้ายว่า การขายอาหารต่อให้เป็นการขายเพื่อาชีพเสริม ก็ต้องมีเป้าหมายว่า แต่ละวันจะทำยอดขายที่เท่าไหร่ การลงทุนแต่ละครั้งต้องได้กำไรกลับมากี่เปอร์เซ็นต์ ต้องใส่ใจกับสิ่งที่ทำ และมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ที่สำคัญให้ความสำคัญกับเรื่องความรู้ อย่าคิดว่าทำเล่น ๆ ไม่ได้จริงจัง เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีอนาคต หากทำด้วยการวางแผนอย่างถูกต้องแต่แรก สามารถเป็นธุรกิจหลักได้ไม่ยาก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : makrohorecaacademy