ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

Know How ความสำเร็จการสร้าง “แฟรนไชส์” อย่างมีระบบด้วยตัวเอง


เชื่อว่าหลายคนอยากทราบว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั่นจะสามารถขยายไปในรูปแบบของ “แฟรนไชส์” ได้หรือไม่ แล้วจะมีวิธีการทำอย่างไร วันนี้ ชี้ช่องรวย มี Know How ดีๆ มานำเสนอสำหรับคนที่กำลังจะเตรียมขยายธุรกิจไปในรูปแบบของแฟรนไชส์ ว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

1.ประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจ

ไม่ใช่ว่าทุกธุรกิจจะสามารถทำเป็นแฟรนไชส์ได้ ธุรกิจที่จะสามารถขยายไปในรูปแบบของแฟรนไชส์จะต้องมีความพร้อมในทุกด้าน สิ่งสำคัญผู้ประกอบการต้องสำรวจตลาดว่าธุรกิจ สินค้า บริการที่ทำอยู่นั้นเป็นที่ต้องการมากพอที่จะขยายธุรกิจหรือไม่ โดยอาจจะเริ่มจากการขยายสาขาด้วยตัวเองก่อนขยายไปในรูปแบบของแฟรนไชส์ก็ได้ ฉะนั้น สิ่งสำคัญก่อนที่จะขยายสาขาแฟรนไชส์ต้องมีการประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจ มีการเตรียมความพร้อมของระบบในทุกด้าน เพื่อที่จะส่งต่อรายละเอียดทั้งหมดให้แก่ผู้ที่ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ของเรา

2.การสร้างร้านต้นแบบ

การสร้างร้านต้นแบบที่ออกแบบนั้นจะเป็นสาธิตการทำงานของระบบให้เห็นภาพให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และยังเป็นการช่วยให้เกิดแนวทางการทำงานชัดเจนมากขึ้น เพราะเราได้เห็นสภาวะของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้ รายรับรายจ่ายมีแนวโน้นแบบไหน มากขึ้นหรือน้อยลง เรายังได้เห็นข้อดีข้อเสียของระบบงานที่คิดค้นขึ้นได้อย่างชัดเจน

รวมไปถึงเรายังปรับปรุงธุรกิจให้เป็นตามความต้องการจริงๆของลูกค้า ถ้ามีการสร้างหลายสาขานั้นยิ่งช่วยให้เราเห็นความแตกต่างจาก เงื่อนไขของทำเล สภาพลูกค้า สภาพของร้าน นั้นยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจภาพรวมทั้งหมด ถือเป็นการช่วยให้เราได้เตรียมความพร้อมต่อการขยายตัวในรูปแบบอย่างดี และเราจะเห็นสาเหตุว่าทำไมสาขาในแต่ละที่ความแตกต่างกัน

3.การจดทะเบียนต่างๆ

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจแฟรนไซส์ เครื่องหมายการค้าถือว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของแฟรนไซส์ ดังนั้นธุรกิจของแฟรนไชส์ได้ผ่านการดำเนินงานมาได้ระยะเวลาหนึ่ง เครื่องหมายทางการค้าของแฟรนไชส์ย่อมเป็นที่คุ้นเคยและธุรกิจแฟรนไซส์มีชื่อเสียงเป็นที่นิยม นั้นถือว่าได้การยอมรับในระดับหนึ่งจากลูกค้า เป็นสร้างโอกาสให้แฟรนไชส์ซีได้รับประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าที่แข็งแรงพอ ทำให้เราได้รับการยอมรับในตลาดไปด้วย

4.ระบบการบริหารจัดการธุรกิจ

สิ่งสำคัญของการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ หรือเรียกได้ว่าเป็นอาวุธลับเลยก็ว่าได้ คือ “Operation Manual” หรือ คู่มือแฟรนไชส์ ถือเป็นโปรแกรมการปฏิบัติงานของระบบแฟรนไชส์ เป็นทรัพย์สินหรือลิขสิทธิ์ของแฟรนไชส์ รวมถึงเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ ประสบการณ์ของระบบแฟรนไชส์ ในการก้าวไปสู่ความสำเร็จ เรียกได้ว่า คู่มือแฟรนไชส์ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของระบบแฟรนไชส์ ที่เกิดจากการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มาได้ ซึ่งธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ต้องมีเก็บเอาไว้ ฉะนั้นหากเรามี Operation Manual ก็สามารถส่งต่อธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รู้ไหม ทำไม! “แฟรนไชส์มือใหม่” ต้องทำ “Operation Manual” เพื่อให้กิจการไปต่อได้ไม่สะดุด 

5.มูลค่าของแฟรนไชส์

ในส่วนนี้สามารถประเมินได้จากร้านต้นแบบ เช่น ถ้าการเปิดแฟรนไชส์ 1 แห่ง จะมีรายละเอียดในการลงทุนอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ลูกค้ากี่คน ยอดขายที่จะคุ้มค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ตัวเลขประมาณเท่าไหร่ และเป้าหมายควรมีลูกค้าขั้นต่ำเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้เงินลงทุนคืนประมาณกี่ปี และคุ้มไหมที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะลงทุนทำธุรกิจนี้ ร้านต้นแบบจะทำให้ได้ภาพที่ชัดขึ้น และมีตัวเลขที่เข้าใกล้ความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนนี้จะมีความสำคัญต่อการกำหนด การเก็บค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) และค่าธรรมเนียมรายเดือน (Royalty Fee) ด้วย

6.สัญญาต่างๆ

การตั้งราคามูลค่าแฟรนไชส์ ก็ควรตั้งให้เหมาะสมกับธุรกิจแฟรนไชส์ของตัวเอง การทำสัญญาให้รัดกุมก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ปรึกษาทนาย และดูจากสัญญาของระบบงานอื่นเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของเรา ก่อนการทำสัญญนั้น เราควรจะต้องทำความเข้าใจในข้อตกลง ในสิทธิหรือขอบเขตในการดำเนินการที่ทั้งสองจะพึงมี พึงได้ร่วมกัน ให้กระจ่างใจเสียก่อน ซึ่งตามปกติแล้ว ก่อนที่จะตกลงเซ็นสัญญาขอรับสิทธิมาดำเนินการ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับเงิน มีสิ่งควรรับทราบ เพื่อประกอบการพิจารณา

7.พัฒนารูปแบบแฟรนไชส์ในการนำเสนอ

เป็นการสร้างเงื่อนไขของการนำเสนอธุรกิจแฟรนไชส์ให้กับนักลงทุนช่วยในการดึงดูดลูกค้า เช่นความคุ้มค่า กำไรต่อความเสี่ยงต่อการลงทุน ระยะเวลาที่ให้ในการคืนทุนพร้อมทั้งกำหนดบทบาทหน้าที่ต้องทำให้แฟรนไชส์ซีพอใจ ถ้าเงื่อนไขที่ดีพอก็ทำให้แฟรนไชส์ซีมีโอกาสประสบความสำเร็จในการทำงานได้จริง รวมถึงขนาดธุรกิจที่เหมาะสมและเพียงพอที่สร้างรายได้ให้มีความมั่นคงยั้งยืน หรือเรียกง่ายๆ คือ “Package การลงทุน”

8.ควบคุมคุณภาพ จัดหาแหล่งวัตถุดิบเพื่อรองรับ

สินค้าจะมีคุณภาพหรือไม่ วัตถุดิบก็มีส่วนสำคัญ คุณภาพของวัตถุดิบที่เราจะนำมาทำนั้น เป็นคุณภาพแบบไหน ความชื้นเท่าได ต้องรักษาและดูแลอย่างไรถึงจะรักษาคุณภาพของวัตถุดิบ ให้เป็นไปตามกำหนดได้ การจัดซื้อจากแหล่งใดก็ต้องหา Supplier ที่สามารถควบคุมคุณภาพให้เราได้เช่นกัน

9.วางแผนการตลาดทั้ง แฟรนไชส์ซอร์ และแฟรนไชส์ซี

นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัฐที่ไม่ควรมองข้าม การตลาดที่ดีเป็นการสนับสนุนให้ลูกค้ายอมรับตราสินค้าได้อย่างดี เช่น สร้างเอกลักษณะทางธุรกิจ การสร้างกลุ่มผู้บริโภค มีการรองรับการขยายของธุรกิจเมื่อมีสาขามากขึ้น เป็นต้น การวางแผนการตลาดจะต้องรวมถึงการนำเสนอธุรกิจให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี น่าสนใจ ผู้ที่เป็นลูกค้าประจำของเราก็อาจจะ มีโอกาสที่จะกลายมาเป็นแฟรนไชส์ซีของเราต่อไปก็ได้ในอนาคต

10.แนวทางการเลือกแฟรนไชส์ซี

ต้องมีการคัดเลือกคนที่เหมาะสมมาช่วยเราในการพัฒนางานและการขยายงาน การเลือกแฟรนไซส์ซีที่ดีนั้นต้องมี แฟรนไซส์ซีต้องมีคุณสมบัติที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมและยังช่วยให้เราสามารถขยายงานได้อย่างแท้จริง เมื่อเลือกคนที่เป็นแฟรนไชส์ซีได้ ต่อมาเราก็สร้างระบบการอบรมและวิธีการพัฒนานักลงทุนกลายเป็นนักธุรกิจแฟรนไซส์ซีที่มีคุณสมบัติตามที่หวังไว้ได้ และเรื่องสำคัญคือเรากับแฟรนไชส์ซีต้องมีการพัฒนาองค์กรให้พัฒนาไปด้วยกันและต้องอยู่เหมือนเป็นเพื่อนร่วมทางในโลกธุรกิจแฟรนไซส์ไปด้วยกันอีกนาน