ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ชี้ช่องรวย แนะ มีพื้นที่ว่างเปล่าอย่าปล่อยทิ้ง ปลูก “กล้วยหอมทอง” สร้างอาชีพ สร้างรายได้


“กล้วยหอมทอง” ถือเป็นอีกหนึงพืชเศรษฐกิจที่ผู้คนให้ความสนใจนิยมบริโภคทั้งในประเทศ และต่างประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรสชาติดี มีผลสวย วันนี้ ชี้ช่องรวยจึงอยากจะมาแนะนำวิธีการเพราะปลูก สำหรับใครที่มีพื้นที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์นำมาพื้นที่นั้นมาปลูกกล้วยสร้างรายได้กันดีกว่า

การเตรียมหน่อกล้วยหอมทองสำหรับปลูกให้มีอัตรารอดสูง

การคัดเลือกหน่อพันธุ์ปลูก :

          เป็นสิ่งสำคัญต่อผลผลิตที่จะได้รับในอนาคตหน่อพันธุ์ที่อ่อนหรือแก่จนเกินไปจะทำให้กล้วยตกเครือไม่พร้อมกัน การเลือกหน่อพันธุ์ปลูก ควรเป็นหน่อใบแคบหรือหน่อดาบเป็นหน่ออ่อนที่มีใบอยู่ประมาณ 3-4 ใบ สังเกตุได้จากใบที่เรียวเล็ก หน่อลักษณะเช่น นี้มักจะเกิดอยู่กับโคนต้นเดิมและมีขนาดอวบสมบูรณ์เหมาะสำหรับที่จะเลือกไปเป็นหน่อพันธุ์ปลูกอย่างยิ่ง

วิธีการแยกหน่อกล้วย : 

          ขุดหน่อกล้วยโดยใช้ชะแลงเหล็ก ตัดหน่อให้แยกออกจากกอเดิมก่อนแล้วใช้จอบขุดให้รอบเพื่อให้รากขาด จากนั้นให้ใช้ชะแลงงัดหน่อกล้วยขึ้นมาวิธีนี้จะทำให้หน่อกล้วยที่ได้ไม่ช้ำและหลุดออกง่ายเมื่อขุดหน่อได้แล้วให้ใช้มีดคมๆ ปาดรากกล้วยที่ยาวออกให้เหลือรากติดเหง้ากล้วยประมาณ 1 นิ้วเป็นพอ

วิธีการปลูกกล้วยหอมทอง

ระยะปลูก : ใช้ระยะปลูก 3 x 3 เมตร จะปลูกกล้วยได้ 177 ต้นในพื้นที่ 1 ไร่

การเตรียมดินปลูก : 

ดินที่จะปลูกกล้วยหอมทองจะร่วนซุย ควรไถด้วยผานเจ็ด 2 ครั้งหรือจะใช้รถไถเดินตามไถครั้งแรก แล้วตากหน้าดินไว้ 7-10 วัน เพื่อกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชที่ตกค้างอยู่ในดิน หากมีวัชพืชงอกขึ้นมาหลังจากนั้นให้ไถกลบอีกครั้งเพื่อเป็นการกำจัดวัชพืช ให้ลดน้อยลง ดินตรงไหนที่เป็นแอ่งควรปรับดินให้มีความลาดเทเพื่อป้องกันมิให้น้ำท่วมขังในช่วงหน้าฝน

ฤดูกาลปลูกที่เหมาะสม : ปกติกล้วยหอมทองจะปลูกได้ตลอดปี ถ้ามีน้ำ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกกันมากในช่วงต้นเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน

วิธีปลูกกล้วยหอมทอง :

  • หลังจากวัดระยะปลูกและปักหลักเรียบร้อยแล้ว
  • ขุดหลุมลึกประมาณ 50 ซม. หรือ1 ศอก กว้างประมาณ 1 ศอก
  • นำหน่อกล้วยที่ตัดรากออกลงหลุม แล้วกลบดินเหยียบดินให้แน่น เมื่อกลบดินได้ครึ่งหลุม เพื่อไม่ให้ต้นกล้วยโยกคลอนหลังจากนั้นกลบดินให้เต็มหลุมแต่ไม่ต้องกดดิน
  • นำเศษพืชมาคลุมโคนเพื่อรักษาความชื้น

การดูแลรักษากล้วยหอมทองให้ได้ผลผลิตดี 

การตัดใบกล้วยหลังจากปลูก :

ถ้าเป็นหน่อใบแคบหลังจากปลูกแล้วไม่จำเป็นต้องตัดใบทิ้งแต่ถ้าเป็นหน่อที่เคยปาดเฉียงมาก่อนควรจะมีการปาดเฉียงลำต้นใหม่เพื่อที่กล้วยจะได้แตกใบใหม่ที่แข็งแรงขึ้น

การกำจัดวัชพืชในแปลงกล้วย :

ถ้ามีการตัดหญ้าและพรวนดินในแปลงกล้วยตลอดเวลาจะทำให้ได้กล้วยเครือใหญ่ และจำนวนหวีมากขึ้น

การให้ปุ๋ยกล้วยหอมทอง : ควรให้ทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีควบคู่กันไปทั้งสองอย่างปริมาณจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของดินสำหรับปุ๋ยเคมีสูตรที่เหมาะสมสำหรับกล้วยหอมทองคือ 21-0-0 จำนวน ใช้ในอัตรา 50 กก.ต่อไร่ หรือจะใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 ในอัตรา 50 กก.ต่อไร่โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง

การให้น้ำกล้วยหอมทอง : การให้น้ำกล้วยหอมทองจะให้แค่พอชุ่ม ในช่วงที่ปลูกใหม่ ๆและขณะที่กล้วยหอมตั้งตัวและกำลังติดปลี ติดผลดีแล้วไม่จำเป็นต้องให้น้ำเป็นประจำทุกวันเหมือนพืชอื่น

การตัดแต่งหน่อและใบกล้วยหอมทอง :

  1. การแต่งหน่อกล้วยหากปลูกกล้วยต้นเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายนประมาณเดือนมิถุนายนกล้วยจะแตกหน่อตามขึ้นมาประมาณ 4-7 หน่อต่อกอเมื่อหน่อตามมีใบคลี่แล้ว ควรทำการปาดยอดทิ้ง โดยปาดในแนวเฉียงขึ้นกะความยาวของหน่อที่จะเหลือไว้หลังจากปาดให้สูงจากพื้นดินขึ้นมาประมาณ 20 นิ้วจากนั้นทำการปาดหน่อให้เฉียงกลับด้าน(ทิศตรงข้ามกับการปาดครั้งแรก) ทุกๆ 15 วันจะทำให้โคนหน่อกล้วยขยายใหญ่ขึ้นเหมาะที่จะนำไปปลูก
  2. การตัดแต่งใบกล้วยขณะที่มีการแต่งหน่อ ควรทำการตัดแต่งใบกล้วยควบคู่ไปด้วยและควรตัดแต่งใบกล้วยไปจนกว่ากล้วยจะตกเครือ การตัดให้เหลือใบกล้วยไว้กับต้น 10-20 ใบต่อต้น ตัดด้วยมีดขอให้ชิดต้นกล้วยอย่าให้เหลือก้านกล้วยยื่นยาวออกมาเพราะส่วนที่เหลือยื่นยาวไว้นั้นจะเหี่ยวแล้วรัดลำต้นทำให้ลำต้นส่วนกลางขยายได้ไม่มากเท่าที่ควร

ระยะเวลาในการให้ผลผลิตของกล้วยหอมทอง

ประมาณ 10 เดือนหลังปลูก : กล้วยจะเริ่มแทงปลีออกมา *การที่กล้วยจะออกปลีช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของหน่อกล้วยว่ามีความแข็งแรงสมบูรณ์ดีหรือไม่ รวมทั้งการดูแลรักษาเมื่อกล้วยแทงปลีจนสุด(กล้วยหวีตีนเต่าโผล่กล้วยตีนเต่าหมายถึงกล้วยหวีสุดท้ายที่มีลักษณะไม่สมบูรณ์) ให้ตัดปลีทิ้ง หรือจะตัดปลีหลังจากปลีโผล่มาประมาณ 10-12 วันถ้าไม่มีการตัดปลีกล้วยทิ้งผลกล้วยจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่

หลังจากตัดปลีประมาณ 90-110 วัน : กล้วยจะแก่พอดี สามารถสังเกตได้จากกล้วย หวีสุดท้ายจะเริ่มกลมสีที่ผลจางลงกว่าเดิม(สีเขียวอ่อน)ถ้าปล่อยให้กล้วยแก่คาต้นมากเกินไปจะสบกับปํญหาเรื่องเปลือกกล้วยที่แตกทำให้ผลผลิตเสียหาย

การตัดหน่อกล้วยสำหรับเลี้ยงไว้ในปีต่อไป

หน่อกล้วยที่สมควรจะคัดไว้เป็นหน่อที่ให้ผลผลิตในปีต่อไปควรจะคัดหน่อกล้วยที่มีลักษณะ ดังนี้

  1. ควรเป็นหน่อใต้ดิน ลำต้นอวบอยู่ห่างจากโคนต้นแม่ประมาณ 10 นิ้ว
  2. ควรเหลือไว้ประมาณ 2 หน่อ ที่อยู่ตรงข้ามกัน
  3. ถ้าใช้ระยะปลูก 3 x 3 เมตร ควรคัดหน่อกล้วยอีกครั้งหนึ่งจาก 2 หน่อ ให้เหลือเพียงหน่อเดียวหรือเหลือไว้ไม่เกิน 2 หน่อ ซึ่งจะทำให้แปลงกล้วยทึบลำต้นจะสูงชะลูดและหักล้มได้ง่าย

ต้นทุนการปลูกกล้วยหอมทองปลอดสารเคมี พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 177 หน่อ

  1. ค่าเตรียมดิน 3,000 บาท
  2. ค่าหน่อพันธุ์ 2,124 บาท
  3. ค่าแรงปลูก 2,000 บาท
  4. ค่าน้ำมันตัดหญ้า (8 ครั้ง) 750 บาท
  5. ค่าปุ๋ยคอก 2,400 บาท
  6. ค่าปุ๋ยเคมี 3,000 บาท
  7. ค่าตัดหญ้า 1,920 บาท

รวมต้นทุน 15,194 บาท (หมายเหตุ ต้นทุนอาจจะเพิ่มขึ้น ณ ราคาต้นทุนปัจจุบัน)

ผลผลิต/รายได้ กล้วยหอมทองพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 177 หน่อ จะเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 80-90% (ขึ้นอยู่กับการดูแล) รายได้เฉลี่ย/เครือประมาณ 180-200 บาท