ชี้ช่องรวย แนะ อาชีพทำเงินแบบ Never die “ล่าม แปลภาษา” อยากเป็นบ้างต้องทำอย่างไร ?
“ล่าม แปลภาษา” ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพ Never die หรือไม่มีวันตาย ปัจจุบันต่อให้มี Google Translate ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงการสื่อสารทางธุรกิจได้อย่างลึกซึ้ง ดังนั้น การมีล่ามประจำกายจึงมีความจำเป็นอย่างมาก และเชื่อหรือไม่ว่าใครๆ ก็สามารถเป็น ล่าม ได้ เรามาดูกันเลยว่าการเป็นล่ามเร่ิมต้นอย่างไรบ้าง
ลักษณะของงานของ “ล่าม” หลักๆ สามารถแตกไลน์ได้ 3 สาขาใหญ่ๆ ได้แก่
1.ล่ามประจำบริษัท
เป็นงานที่บริษัทจ้างไว้เพื่อให้ช่วยเป็นล่ามเวลามีการประชุม และไปพบลูกค้า ส่วนมากจะเน้นไปที่ภาษาพิเศษ เช่น ภาษาญี่ปุ่น เกาหลี สเปน อาหรับ ส่วนภาษาอังกฤษนั้นตัวเจ้าของบริษัทแทบทุกคนพอจะพูดได้อยู่แล้ว
2.ล่ามประจำตัว
เป็นล่ามที่องค์กรจัดหาล่ามส่งมาให้กับนักธุรกิจที่ต้องการเดินทางไปติดต่อเจรจาธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเป็นกรณีไป และจะได้รับเงินเป็นจ๊อบๆ ไป
3.ล่ามที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในศาล
เวลาศาลไทยจะต้องพิจารณาคดีชาวต่างชาติ จะมีล่ามซึ่งได้รับการรับรองและสอบผ่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านล่ามและการแปลเอกสารของกระทรวงยุติธรรมมาแล้ว เข้าไปทำหน้าที่ถ่ายทอดภาษาด้วย
กว่าจะมาเป็นล่าม ต้องเรียนด้านใดบ้าง
แน่นอนว่าต้องเรียนปริญญาตรีมาทางภาษา และต้องแตกฉานในระดับที่เหมือนหรือเกือบเหมือนเจ้าของภาษาเลยด้วย ถึงจะสามารถฟังแล้วแปลได้ทันที นอกจากนี้ควรเข้าฝึกอบรมในโครงการอบรม “หนทางสู่ล่ามมืออาชีพ” ของสถาบันสอนภาษาต่างๆ มาบ้าง เพื่อเรียนรู้ทักษะวิธีทำงานแบบล่ามจริงๆ เช่น เทคนิคพื้นฐานของการเป็นล่าม การจับใจความการประชุม การสรุปเนื้อหา เทคนิคการจดเนื้อเรื่อง เรียนรู้ปัญหาและมารยาทของอาชีพล่าม เป็นต้น
อยากเป็น “ล่าม” ต้องทำตัวอย่างไร
1.หมั่นฝึกฝนภาษาเฉพาะที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เพราะอย่างที่บอกว่ายุคนี้ใครๆ ก็พูดภาษาอังกฤษได้ ล่ามที่สามารถพูดภาษาอื่นจึงได้เปรียบกว่า ยิ่งถ้าพูดได้หลายภาษา เช่น อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส ในคนๆเดียว ทั้งโอกาสและค่าจ้างก็จะสูงตามไปด้วย
2.เก็บความลับให้เป็น ไม่ว่าลูกค้าจะคุยกันเรื่องอะไรต้องทำลืมไปจากสมองให้หมด ห้ามเอาไปบอกต่อเป็นอันขาด เพราะบางทีข้อมูลเล็กๆ ชิ้นเดียวก็อาจทำให้สถานการณ์ทั้งบริษัทพลิกผันได้
3.มีไหวพริบ สามารถตีความจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาได้ทันทีและไม่ผิดพลาด คนที่จะเป็นล่ามจึงต้องทันข่าวตลอดเวลา สมมุติว่าเจ้านายสเปนพูดถึงเรื่องการประท้วง เจ้านายอิตาลีคุยกลับถึงข่าวน้ำท่วมที่บาหลี ถ้าล่ามไม่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองเลยก็อาจจะแปลผิดๆ ถูกๆ ได้
เป็น “ล่าม” รายได้ดีเกินคาด
ล่าม เป็นอาชีพที่รายได้ดีมากๆ ส่วนใหญ่มักสตาร์ทที่ 20,000 บาทขึ้นไป ยิ่งถ้าเคยได้รับทุนไปเรียนต่อทางภาษานั้นๆ ที่ประเทศเจ้าของภาษามาแล้ว เช่นได้ทุนไปเรียนที่ญี่ปุ่น 1 ปี ไปเรียนที่อิตาลี 2 ปี ค่าจ้างจะสตาร์ทกันที่ 3-4 หมื่นบาทเลยทีเดียว ไม่รวมโบนัสและสวัสดิการอีกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเงินเดือนดีงานก็ย่อมต้องเยอะตามไปด้วย โดยเฉพาะคนที่เป็นล่ามประจำบริษัทมักต้องตระเวนไปกับเจ้านายร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ตั้งแต่เช้ายันค่ำ ถ้าเจ้านายไปเลี้ยงลูกค้าถึงห้าทุ่มเที่ยงคืนก็ต้องทน เพราะถ้าคุยกันเองรู้เรื่องบริษัทเขาก็คงจะไม่จ้างคุณมาเรียนภาษา ฝึกปรือภาษาคล่องแล้ว แล้วจะไปหางานจากที่ไหน
บริษัทใหญ่ๆ มักจะจ้างล่ามผ่านทางบริษัทรับจัดหางาน เพื่อให้บริษัทจัดหางานช่วยสกรีนในเบื้องต้นก่อนว่า เรามีความสามารถทางภาษาดี ทำงานให้เขาได้จริงๆ ไม่ใช่ไปสัมภาษณ์แล้วไปนั่งพูดตะกุกตะกัก คนที่อยากเป็นล่ามจึงเพียงแต่ไปทิ้งใบสมัครไว้ตามบริษัทจัดหางาน เดี๋ยวเดียวงานก็เดินทางมาถึงมือเอง
ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ค ดังนั้น การหางานผ่านช่องทางนี้ก็สามารถทำได้ และเป็นเรื่องง่ายมากๆ หรืออาจจะเข้าเว็บไซต์ตามหน่วยงานใหญ่ๆ แล้วตรวจสอบการรับสมัครงานก็สามารถทำได้เช่นกัน