ต้องยอมรับว่า “การส่งพัสดุ” ได้กลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของคนในปัจจุบันไปแล้ว ซึ่งทุกวันนี้กิจกรรมดังกล่าวมีความสะดวกสบาย ง่าย และรวดเร็ว ใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งวันก็สามารถรับ – ส่งของกันได้ จนเป็นเรื่องปกติ แต่อย่างไรก็ตามในการส่งพัสดุผู้ใช้บริการอาจจะคำนึงถึงแค่ความรวดเร็ว และปลายทา งที่ผู้รับจะได้ของแบบรวดเร็วทันใจเพียงเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอีกปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กับความรวดเร็วก็คือความปลอดภัย โดยเฉพาะของที่มีสถานะเปราะบาง และแตกหักง่าย ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทางเพื่อลดความเสียหายและความกังวลใจในตัวผู้ส่งและผู้รับ
วันนี้เรามีวิธีการหุ้มห่อพัสดุที่เสี่ยงต่อการแตกหักและเสียหายได้ง่ายระหว่างการขนส่งมาฝากกัน รับรองได้เลยว่าหากทำตามทุกขั้นตอน พัสดุทุกชิ้นจะถึงมือผู้รับอย่างปลอดภัยแน่นอน
-พัสดุที่แตกหักง่าย เช่น เซรามิค แก้ว สิ่งของประเภทงานแฮนด์เมด วิธีการหุ้มห่อให้ปลอดภัยผู้ใช้บริการสามารถดำเนินการได้ ดังนี้
1.แยกห่อสิ่งของแต่ละชิ้นด้วยแผ่น EPE โฟม
2.หลังจากนั้นติดเทปกาวให้แน่นหนา
3.ห่อด้วยพลาสติกกันกระแทก Bubble Wrap เพิ่มอีกหนึ่งชั้น
4.ติดเทปกาวบนกล่องให้เป็นรูปตัว H และติดวัสดุแข็งรูปตัว L บริเวณมุมกล่องทั้ง 4 ด้าน เพื่อความแข็งแรง พร้อมทั้งใช้เทคนิคซ้อนกล่องอีก 1 ใบ กรุช่องว่างด้านในด้วยกระดาษหรือโฟมอีกครั้งก่อนปิดผนึกกล่องด้วยเทปกาว ที่สำคัญห้ามลืมเขียนหรือติดสติกเกอร์ข้อความ “ระวังแตก” บนกล่อง และตรวจสอบความแน่นหนาโดยการเขย่าแล้วจะต้องไม่ได้ยินเสียง
-พัสดุที่เป็นของเหลว เช่น น้ำหอม อาหารที่มีลักษณะเป็นน้ำ
1.สามารถป้องกันความเสียหายโดยใช้เทปกาวพันบริเวณข้อต่อหรือฝาป้องกันการรั่วซึม
2.จากนั้นให้ห่อด้วยพลาสติกซิปล็อคและหุ้มด้วยกันกระแทกทรงกระบอก
3.ติดเทปกาวให้แน่นหนา พร้อมกรุช่องว่างด้านในกล่องด้วยพลาสติกกันกระแทกอีกครั้งอย่าลืมเขย่ากล่องโดยจะต้องไม่ได้ยินเสียงสิ่งของกระทบกับกล่อง
-พัสดุมีคม เช่น กรรไกร มีด อุปกรณ์ทำสวน ผู้ใช้บริการจะต้องระวังเป็นพิเศษ การห่อหุ้มจึงต้องห่อ อย่างแน่นหนาเพื่อความปลอดภัย โดยสามารถทำได้ตามขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
1.นำโฟมรูปสี่เหลี่ยมมาเสียบบริเวณปลายแหลม
2.จากนั้นห่อด้วยพลาสติกกันกระแทก Bubble Wrap ติดเทปกาวให้แน่นหนา
3.กรุช่องว่างในกล่องด้วยพลาสติกกันกระแทกทรงกระบอก พร้อมทั้งใส่เม็ดโฟมเข้าไปด้านในกล่อง และปิดด้วยพลาสติกกันกระแทกอีกหนึ่งครั้ง
4.ปิดกล่องด้วยเทปกาว และเช็คอีกครั้งโดยการเขย่ากล่องแล้วต้องไม่ได้ยินเสียงกระแทก
อย่างไรก็ตามวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ สามารถซื้อได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ หรือผู้ใช้บริการสามารถนำวัสดุอื่นๆ มาประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งของด้านในได้รับความเสียหาย
นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยได้ให้ความสำคัญในการขนส่งพัสดุทุกชิ้นด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้พัสดุเสียหาย โดยที่ผ่านมาได้กำชับการปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่นำจ่ายอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการอบรมเจ้าหน้าที่นำจ่ายก่อนที่จะออกปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักการนำจ่ายที่ถูกต้องทุกครั้ง
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายของพัสดุตั้งแต่ต้นทาง การหุ้มห่อพัสดุจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความเสียหายได้เช่นกัน ส่วนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นำจ่ายนั้น ปณท ได้มีการกำชับการปฏิบัติงานอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้กล่องพัสดุ และสิ่งของฝากส่งภายในกล่องเสียหาย อีกทั้งได้พัฒนาอุปกรณ์ในการขนส่ง หรือระบบการคัดแยกพัสดุให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความอุ่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม THP Contact Center 1545 หรือเว็บไซต์ www.thailandpost.co.th