ผู้ที่มีหรือกำลังจะมีกิจการขนาดเล็กเป็นของตัวเอง คงจะกังวลกับการบริหารจัดการ เรื่อง เงินๆ ทองๆ จำพวกรายรับ-รายจ่าย การสั่งวัตถุดิบเข้าร้าน หรือการขายสินค้า เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทังสิ้น วันนี้เรามีเคล็ดลับในการบริหาร จัดการเงินสำหรับเจ้าของกิจการขนาดเล็กมาฝากกัน
1.อย่าเอาค่าใช้จ่ายส่วนตัวมาปะปนกับทุน
ไม่ควรนำทุนในการประกอบกิจการกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวมาปะปนกัน เพราะตัวผู้ประกอบการจะไม่สามารถคำนวณรายรับ-รายจ่าย ผลกำไรขาดทุนและภาษีอย่างแน่นอนได้เลย
2.เจรจาต่อรองกับคู่ค้าทุกครั้ง
หากกิจการนั้นๆ มีคู่ค้า เช่น ผู้ขาย วัตถุดิบ หรือขายสินค้าในราคาส่งให้ ดังนั้นควรต่อรองเพื่อขอลดราคา หรือขอสิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้ได้ เพราะจะทำให้ช่วยประหยัดเงินลงทุน แต่จะต้องมีศิลปะในการต่อรองสักหน่อย มิเช่นนั้น คู่ค้าอาจไม่ต้องการทำธุรกิจด้วยต่อไปในระยะยาว เช่น อาจจะเสนอสิ่งตอบแทนที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้คู่ค้าบ้าง เป็นต้น
3.ชำระหนี้ให้ตรงเวลา
การชำระหนี้ให้ตรงเวลา นอกจากจะทำให้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในข้อหาผิดนัดแล้ว ยังทำให้มีเครดิตที่ดีอีกด้วย คู่ค้าก็อยากทำธุรกิจกันต่อๆ ไป ซึ่งการจ่ายหนี้ให้ตรงเวลา นอกจากจะช่วยประหยัดเงินแล้ว ยังช่วยให้มีโอกาสในการทำธุรกิจต่อไปในอนาคตเช่นกัน
4.ฝึกฝนนิสัยประหยัด
โดยไม่จำเป็นต้องประหยัดเงินแบบสุดๆ ในการทำธุรกิจก็ได้ เพียงแต่จะต้องรู้จักประหยัดในสิ่งที่ควรประหยัด เช่น การซื้อเฟอร์นิเจอร์เพื่อใช้ในสำนักงานหรือร้านค้า ก็อาจเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์มือสองที่สภาพยังคงทนแข็งแรง แทนการซื้อ
ของใหม่ก็เป็นได้ จะทำให้ประหยัดเงินลงทุนไปได้มากเลยทีเดียว
5.เรียนรู้การทำบัญชี
การเรียนรู้การทำบัญชี สามารถทำให้ประหยัดเงินในการจ้างนักบัญชีได้ด้วย และข้อดีของกิจการขนาดเล็กก็คือ ไม่จำเป็นต้องใช้นักบัญชีหลายคน เพราะเพียงคนเดียวก็สามารถทำบัญชีของกิจการเล็กๆ ได้หมด ดังนั้นผู้ประกอบกิจการ
ขนาดเล็กควรเรียนรู้การทำบัญชีไว้บ้างก็เป็นเรื่องที่ดี และลดต้นทุนในการจ้างพนักงานอีกด้วย
6.ใช้เทคโนโลยีให้เป็น
การใช้เทคโนโลยีให้เป็น จะทำให้สามารถประหยัดเงินลงทุนไปได้อีกมาก คนทำธุรกิจบางคนมีเพียงคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวกับอินเทอร์เน็ต ก็สามารถทำธุรกิจออนไลน์ได้แล้ว ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีให้เป็นก็อย่างเช่น การส่งอีเมลแทนการส่งไปรษณีย์หรือการจ้างคนไปส่ง การใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน จะทำให้ประหยัดเงินลงทุนในระยะยาวได้ดีกว่าการจ้างแรงงานคน เป็นต้น
7.หาช่องทางลดภาษี
“ภาษี” เป็นสิ่งที่ทุกคนหนีไม่พ้น แต่อย่างไรก็ตาม มีช่องทางลดภาษีได้อีกหลายช่องทาง เช่น การบริจาคเงินให้แก่องค์กรการกุศล หรือทำ CSR ก็สามารถนำไปขอลดหย่อนภาษีได้ ทำให้เหลือเงินที่จะใช้ลงทุนต่อไปมากขึ้น
8.ประหยัดเท่าที่ประหยัดได้
จำเป็นต้องคิดไว้เสมอว่า.. สิ่งใดบ้างที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นสำหรับธุรกิจของตัวเอง เพื่อที่จะไม่ทำให้เผลอใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย เช่น ในธุรกิจขนาดเล็ก อาจไม่ต้องจ้างที่ปรึกษามานั่งประจำก็ได้ หรืออาจไม่ต้องจ้างนักบัญชีหรือนักกฎหมายจากบริษัทใหญ่มาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องก็ได้ เป็นต้น
ขอขอบคุณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า