ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เอาใจ “มนุษย์เงินเดือน” กับเทคนิควางแผนเก็บเงิน เพื่อการท่องเที่ยว ชาร์จแบตชีวิตให้เต็มเปี่ยม


สำหรับมนุษย์เงินเดือนแบบเราๆ เมื่อทำงานหนักและทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะต้องอยากที่จะมีเวลาไปพักผ่อนท่องเที่ยวให้เพลิดเพลินอุราเพื่อชาร์จแบตพลังชีวิตกลับมาจะได้มีเรี่ยวแรงทำงานกันต่อไป แต่ทว่าหลายคนก็ติดปัญหาสำคัญ นั่นก็คือ ไม่มีหรือไม่ได้เตรียมทุนรอนเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ สำหรับคนที่คิดการณ์ไกลและตั้งเป้าหมายเอาไว้แล้วก็ไม่เป็นไร แต่สำหรับคนที่ยังไม่มีการวางแผนการเงินในเรื่องนี้ ชี้ช่องรวย มีวิธีการออมเงินไว้เที่ยวมาบอกกันค่ะ

สำหรับเทคนิคที่ทำมาเสนอในวันนี้ เรามาเริ่มต้นสิ่งแรกกันเลยนั่นก็คือ

1.ตั้งสติ 

พึงระลึกไว้เสมอว่า เราควรแบ่งเงินเดือนออกเป็นส่วนๆ ทั้งเพื่อใช้จ่ายในแต่ละเดือน ไม่ว่าจะเป็น จ่ายค่าเช่าห้อง, ค่าเดินทาง, แบ่งเอาไว้เลี้ยงดูพ่อแม่ (ถ้าเงินพอ), แบ่งไว้ออมทรัพย์ แล้วค่อยแบ่งมาเป็น “กองทุนท่องเที่ยว” มีน้อยใช้น้อย ออมน้อย มีมากออมมาก แต่ก็อย่าใช้มาก ตามสูตร 8-1-1 สำหรับคนที่จะเก็บเงินเที่ยว เช่น สมมุติคุณมีเงินเดือน 15,000 บาท ก็ให้แบ่งเงินเป็น

-80% (12,000 บาท) สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

-10% (1,500 บาท) สำหรับออมทรัพย์

-10% (1,500 บาท) สำหรับกองทุนท่องเที่ยว

สูตรนี้ ใช้เวลาเก็บเงินแค่ 3-5 เดือน คุณก็มีงบเที่ยวในประเทศสบายๆ จะเที่ยวเหนือ, กลาง, อีสาน, ใต้, ตะวันออก ปีหนึ่งเที่ยวได้ตั้ง 3-4 ครั้ง หรือถ้าอยากไปไกลกว่าในประเทศ คุณเก็บเงินสักปีหนึ่ง คุณจะมีงบพอเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ปีนัง, มาเลเซีย, เวียดนาม, ฮ่องกง, มาเก๊า, บาหลี ได้อีกด้วยนะ

และเมื่อไหร่ที่ระบบการใช้จ่ายมั่นคงแล้ว ฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้นมากแล้ว แนะนำให้เปลี่ยนจากสูตร 8-1-1 ไปเป็นสูตร 7-2-1 เช่น สมมุติเงินเดือนคุณเพิ่มเป็น 30,000 บาท คุณสามารถจัดสรรเงินได้แบบนี้

-70% (21,000 บาท) สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

-20% (6,000 บาท) สำหรับออมทรัพย์

-10% (3,000 บาท) สำหรับกองทุนท่องเที่ยว

สูตรนี้ คุณเก็บเงินแค่ 3-5 เดือน คุณก็ไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม, สิงคโปร์, ฮ่องกง, บาหลี, อินโดนีเซีย ได้ หรือถ้าอดใจเก็บต่อเนื่องสัก 1 ปี คุณจะมีเงินเที่ยว ไต้หวัน, จีน, เกาหลี ได้เลย

หลังจากวางแผนเรื่องแบ่งสัดส่วนเงินแล้ว สิ่งที่คุณต้องมี คือ “สติ” ไหนๆ ก็ตั้งมั่นจะเก็บเงินเที่ยวแล้ว ก็มุ่งมั่นให้ถึงที่สุด แรกๆ ยังไม่ต้องวางแผนทริปหรูหรา 5-6 หมื่น เอาเป้าหมายสั้นๆ อย่าง ไปเที่ยวภูเก็ต, เชียงใหม่ หรือหลวงพระบางก่อนก็ได้ พอบรรลุเป้าหมายแรกแล้ว ครั้งต่อไปก็ไม่ยาก เราจะไต่ระดับไปสู่เป้าหมายถัดไปก็ง่ายขึ้น

2. เลือกที่เที่ยว ตามวัยและฐานะทางการเงิน

ช่วงเริ่มต้นทำงาน คือช่วงที่คุณงบคุณยังน้อย แต่แรงเที่ยวยังมีเหลือเฟือ พอทำงานนานไปเรื่อยๆ ฐานเงินเดือนคุณจะเพิ่มขึ้น แหล่งรายได้คุณก็อาจจะเพิ่มขึ้น แต่แรงเที่ยวก็ค่อยๆ ลดลงไปตามวัย ความลุย ความอึด ก็พลอยจะน้อยลงไปด้วย ถึงตอนนั้นเราก็มีเงินเที่ยวไกลขึ้น แพงขึ้นและสบายขึ้นแล้วครับ การเลือกที่เที่ยว “ตามวัยและฐานะการเงิน” จึงเป็นหลักการที่เหมาะสำหรับคนทำงานที่สุด เรามีคำแนะนำดังนี้

-ทำงาน 0-4 ปี (งบเที่ยว 5,000 – 10,000 บาท/ทริป) : เที่ยวเน้นลุย ผจญภัย หาประสบการณ์ชีวิต เช่น ภูกระดึง, ภูเก็ต, ดอยเชียงดาว, ทีลอซู, ภูชี้ฟ้า, ป่าฮาลาบาลา, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, เกาะพะงัน, เกาะเต่า, เกาะกูด ฯลฯ

-ทำงาน 5-10 ปี (งบเที่ยว 15,000 – 30,000 บาท/ทริป) : ถ้าเที่ยวในประเทศ ก็ลองอัพเกรดทริปให้กินดีอยู่สบายดูบ้าง หาประสบการณ์ในรีสอร์ทหรือโรงแรมเก๋ๆ ชิคๆ หรือจะขยับขยายไปดูโลกกว้างที่ต่างแดนก็ยิ่งดี แต่อย่าเพิ่งไปไกล เราแนะนำ มาเลเซีย, ปีนัง, ฮ่องกง, มาเก๊า, บาหลี, หลวงพระบาง, มัณฑะเลย์, พุกาม (อันนี้ควรรีบไปก่อนเจดีย์จะพัง) หรือจะเป็นสิงคโปร์ก็ยังได้ แต่อาจจะแพงไปนิด

-ทำงาน 11-20 ปี (งบเที่ยว 40,000 – 60,000 บาท/ทริป) : เมื่อฐานเงินเดือนดีขึ้นแล้ว ช่วงนี้จะตั้งเป้าเที่ยวประเทศในฝันก็ไม่สะเทือนกระเป๋าเท่าไหร่แล้ว จะเป็น ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน, ออสเตรเลีย, อินเดีย, เลห์, จีน, มอสโก, ตะวันออกกลาง

-ทำงาน 21-30 ปี (งบเที่ยว 70,000 – 150,000 บาท/ทริป) : มาถึงตอนนี้ ฐานเงินเดือนดี ฐานะมั่นคง ถ้าคุณยังไม่แต่งงาน ไม่มีภาระเรื่องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เราเชียร์ให้คุณเที่ยวให้เต็มที่ครับ จะเป็น โรม, เวนิส, เวียนนา, เยอรมัน, สวิสเซอร์แลนด์, ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์, อเมริกา, ฮาวาย เน้นเที่ยวชิลล์ๆ สบายๆ ชมสถาปัตยกรรม ดื่มด่ำความโรแมนติก หรือจะไปดูแสงเหนือ ไปผจญภัยหน่อยๆ (แต่ไม่ลำบากมาก) คุณก็ยังพอไปไหว

-ทำงาน 31 ปีขึ้นไป (งบเที่ยว 150,000 บาท/ทริป ขึ้นไป) : เมื่อเข้าสู่วัยใกล้ 60 อย่าหักโหมเที่ยวจนเกินกำลัง อาจจะเที่ยวไม่ต้องไกลมาก อย่าง ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน, จีน, ฮังการี, มอสโก เน้นใช้เงินเพื่อซื้อประสบการณ์พิเศษในการเดินทาง เช่น นั่ง Business Class บ้าง นอนโรงแรม 5 ดาวบ้าง

3. วางแผนและกำหนดงบประมาณ

3.1 จัดสรรงบประมาณให้เหมาะกับสไตล์การเที่ยว
ถามตัวเองว่า คุณชอบเที่ยวแบบไหน ทุกครั้งที่ตั้งใจจะไปเที่ยว ย่อมรู้ตัวเองว่าสไตล์การเที่ยวของเราเป็นแบบไหน และสไตล์ที่ว่านี่แหล่ะจะเป็นตัวกำหนด ว่าคุณควรกระจายงบประมาณของคุณให้กับเรื่องไหนมากที่สุด

3.2 ตรวจสอบราคาและกำหนดงบประมาณ

เมื่อสำรวจความต้องการตัวเองจนรู้แล้ว ว่าเราจะจัดสรรงบประมาณของเราให้กับเรื่องไหนมากที่สุด ขั้นตอนต่อไป คือการสำรวจต้นทุนและกำหนดงบประมาณตั้งต้นให้กับค่าใช้จ่ายต่างๆ ของทริป ไม่ว่าจะเป็น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร-เครื่องดื่ม ค่าบัตรผ่านประตู หรือแม้กระทั่งงบประมาณสำหรับการช้อปปิ้ง

3.3 มี Internet ในมือ ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์

ต่อเนื่องจากข้อ 2 นอกจากจะใช้ประโยชน์จาก Google และ Website ต่างๆ เพื่ออ้างอิงราคาค่าตั๋วเครื่องบิน, ค่าที่พัก, ค่าอาหารแล้ว ยังมี Website, Mobile Application และ Facebook Community อีกหลายตัว ที่จะเป็นช่องทางให้เราได้ตั๋วเครื่องบิน, ที่พัก, รถเช่า, บัตรผ่านประตู หรือ Pass ต่างๆ ในราคาสบายกระเป๋าได้อีกด้วย

3.4 ศึกษาข้อมูลการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศก่อนเดินทาง

หากตั้งใจเป้าหมายในใจแล้วว่าจะไปท่องเที่ยวประเทศไหน ก็ต้องศึกษาข้อมูลประเทศนั้น โดยเฉพาะประเทศที่มีการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ประเทศเหล่านี้มักจะทำมีโปรโมชั่นพิเศษเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างแดนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นคูปองส่วนลดพิเศษ, บัตรผ่านประตูเข้าพิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ หรือสวนสนุกในราคาเหมา หรือแม้กระทั่งตั๋วเหมาะสำหรับเดินทางในประเทศ

ตัวอย่างประเทศที่เห็นชัดๆ ด้านนี้ก็ได้แก่ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ไต้หวัน และฮ่องกง แต่ละประเทศจะมีเทคนิคการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของตัวเองมากมาย ซึ่งถ้าเราหาข้อมูลดีๆ จะพบว่าเราสามารถซื้อ Pass, ซื้อคูปอง หรือบัตรผ่านประตูต่างๆ ในราคาพิเศษ ผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวได้เลย

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : ibreak2travel