ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

รู้ไว้ใช่ว่า!! ตรา “ฮาลาล” ใบเบิกทางอุตสาหกรรมอาหาร สู่ตลาดโลก


ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกด้านอาหาร ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการขอใบรับรองฮาลาลเพื่อเป็นใบเบิกทางในการส่งสินค้าไปยังประเทศที่มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือ มุสลิม เหตุใดจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ชี้ช่องรวย ได้รวบรวมข้อมูลมาเพื่อให้คุณๆ ได้ใช้ประกอบการพิจารณาค่ะ

บนโลกใบนี้มีผู้คนที่นับถือศาสนาต่างๆ ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ pewresearch.org ได้ระบุสัดส่วนการประชากรโลกที่นับถือศาสนาต่างๆ ได้แก่

1.ศาสนาคริสต์ 2.3 พันล้านคน

2.ศาสนาอิสลาม 1.8 พันล้านคน

3.ไม่นับถือศาสนา 1.2 พันล้านคน

4.ศาสนาฮินดู 1.1 พันล้านคน

5.ศาสนาพุทธ 0.5 พันล้านคน

6.ศาสนาท้องถิ่น 0.4 พันล้านคน

7.อื่นๆ 0.1 พันล้าน

8.ยิว 0.001 พันล้านคน

โดยศาสนาที่มีประชากรหันมานับถือมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ ศาสนาอิสลาม ที่มีหลักคำสอนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะธุรกิจด้านอาหาร ซึ่งหลักการของศาสนาอิสลาม คือ สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มจะต้องผ่านกับรับรองได้รับตราฮาลาลเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคชาวมุสลิมทั่วโลก ทีนี้หลักการของศาสนาอิสลามเกี่ยวกับฮาลาลเป็นอย่างไร

ข้อมูลจาก มุสลิมไทยโพสต์ ได้กล่าวถึง ตราฮาลาล เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงสินค้าที่ชาวมุสลิมสามารถทานได้ โดยไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม รับรองโดย คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

ฮาลาล เป็นคำในภาษาอาหรับ แปลว่า “อนุมัติ” เมื่อนำมาใช้ในทางศาสนาจะหมายถึง สิ่งที่ศาสนาอนุมัติ เช่น อนุมัติให้กิน อนุมัติให้ดื่ม อนุมัติให้ทำ อนุมันติให้ใช้สอย ซึ่งจะมีความหมายตรงข้ามกับคำว่า “ฮารอม” ที่แปลว่า ห้าม

โดยมีสิ่งห้ามทาน ได้แก่

1.ซากสัตว์ หรือสัตว์ที่ตายเอง โดยไม่ได้ถูกเชือด โดยมองว่าการตายเองเป็นสิ่งน่ารังเกียจ หรือเป็นอันตรายในกรณีที่การตายเกิดจากโรคระบาด

2.เลือด เหตุผลคือ เลือด คือ สิ่งที่น่ารังเกียจต่อความรู้สึกของมนุษย์ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

3.เนื้อหมู โดยมองว่า หมู ชอบอยู่ในที่สกปรก มีสิ่งปฏิกูล ไม่เหมาะสำหรับนำมาใช้บริโภค

4.สัตว์ถูกเชือดที่ไม่ได้กล่าวนาม “พระอัลเลาะห์” ข้อห้ามนี้ถือเป็นเรื่องเกี่ยวกับศรัทธา เพื่อให้การปฏิบัติศาสนกิจเป็นไปโดยบริสุทธิ์ รวมไปถึงการเชือดที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เช่น การรัดคอ การตีจนตาย การตกจากที่สูง ก็เป็นข้อห้ามเช่นกัน

นอกจากสัตว์ 4 จำพวก ที่ห้ามทานแล้ว ฮาลาล ยังมีหลักในการเกี่ยวกับอาหาร ดังนี้

1.สัตว์ที่นำมาประกอบอาหาร ต้องผ่านกระบวนการเชือดที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม

2.วิธีการได้มาของอาหารต้องถูกต้อง คือ ไม่ใช่การลักขโมยหรือได้มาโดยมิชอบ

3.ต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ สะอาด และไม่มีสิ่งเจือปนจากสิ่งสกปรก

4.อุปกรณ์ ภาชนะบรรจุอาหาร และสถานที่ในการผลิตต้องสะอาด

แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าอาหารบางอย่างไม่ใช่สิ่งห้ามทาน แต่หากขั้นตอนการประกอบอาหารผิดหลักศาสนา เช่น ใช้ภาชนะประกอบอาหารร่วมกัน โดยไม่แยกเนื้อหมูต่างหาก ชาวมุสลิมก็ไม่สามารถทานได้ ดังจะเห็นได้จากชาวมุสลิมที่เคร่งครัดส่วนใหญ่ จะไม่ไปทานอาหารในร้านที่ไม่ใช่ร้านมุสลิมโดยเฉพาะ

ยกตัวอย่างกรณีเคสของร้าน KFC ที่รับไก่จากผู้ผลิตฮาลาล แต่ KFC กลับไม่ได้รับการรับรองฮาลาล เนื่องจากมีสูตรลับที่เปิดเผยไม่ได้ ทำให้ฝ่ายรับรองไม่สามารถตรวจสอบและออกเครื่องหมายฮาลาลให้ได้ ซึ่งก็มีชาวมุสลิมบางคนเลือกไม่ทานไก่จากร้าน KFC เพราะไม่มั่นใจในกระบวนการประกอบอาหาร เป็นต้น

ทางด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เปิดเผยถึงตลาดอาหารฮาลาล มีผู้บริโภคชาวมุสลิมทั่วโลกประมาณ 2,140 ล้านคน มีมูลค่าการค้าประมาณกว่า 162,000 ล้านดอลลาร์ฯในปี 2560 โดยปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับ 9 ของโลก เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทยที่จะขยายบทบาทในตลาดนี้เพิ่มขึ้น ผ่านอาหารแปรรูปต่างๆที่ผู้ประกอบการ SME ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชน อาทิ ผักและผลไม้ท้องถิ่นแปรรูป เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มสมุนไพร เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองอีกว่า ตลาดอาหารฮาลาลที่มีศักยภาพ และมีแนวโน้มเติบโตในระยะข้างหน้าสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค คือ เน้นสุขภาพ อาทิ อาหารออร์แกนิก และฟังก์ชั่นนัลฟูดส์ ขณะที่ตลาดที่น่าจะมีความต้องการสูง นอกเหนือจากประเทศมุสลิมได้แก่ ประเทศที่ไทยมีข้อตกลงทางการค้าและมีชาวมุสลิมอยู่จำนวนมากอาทิ อินเดีย จีน รวมถึงเพื่อนบ้านในอาเซียน ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมุสลิมเข้าไปท่องเที่ยวจำนวนมาก และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2563 ซึ่งต้องการอาหารฮาลาลรองรับนักกีฬาและนักท่องเที่ยวมุสลิมจำนวนมาก

ทั้งนี้ ตลาดอาหารฮาลาลมีการแข่งขันสูง และมีหลายๆ ประเทศที่พยายามผลักดันตนเองให้เข้าไปสู่การเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก สำหรับประเทศไทยเอง ซึ่งมีศักยภาพด้านวัตถุดิบต้นน้ำ อาทิ เนื้อไก่ อาหารทะเล ผัก ผลไม้ที่มีการผลิตเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ รวมถึงการส่งออก แต่ไทยเองก็ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากผู้บริโภคชาวมุสลิมอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็ควรศึกษาถึงแนวโน้มความต้องการบริโภคอาหารรูปแบบใหม่ๆ ตามไลฟ์สไตล์ที่เปลียนแปลงไป รวมถึงการพิจารณาขยายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีศักยภาพการตลาดสูง โดยใช้ฐานวัตถุดิบในประเทศเป็นตัวสนับสนุน

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์อีกว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 ประชากรมุสลิมจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 พันล้านคน ประกอบกับอาหารฮาลาล ได้รับความยอมรับในด้านการผลิตที่สะอาด ถูกหลักอนามัย อาหารฮาลาลจึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ได้เป็นมุสลิมส่งผลให้ความต้องการอาหารฮาลาลมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องโดยมูลค่าการค้าตลาดอาหารฮาลาลอยู่ที่ประมาณ 162,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2560 (มูลค่าการนำเข้าอาหารของประเทศมุสลิม 57 ประเทศ : OIC) และเป็นที่น่าสังเกตว่า ประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ร้อยละ 53จะอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา รองลงมาคือเอเชียร้อยละ 32 ยุโรปร้อยละ 8 และอเมริกาเหนือร้อยละ 2 ที่เหลือร้อยละ 5 อยู่ในอเมริกาใต้และโอเชียเนีย แต่เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าตลาดอาหารฮาลาลพบว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่สูง โดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงประเทศในแถบอาเซียนอาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรกรรมทั้งพืชและสัตว์เพื่อการส่งออกรายใหญ่ของโลก จึงถือว่าอยู่ในฐานะหนึ่งในประเทศที่เป็นครัวของโลก และเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลทั้งที่เป็นสินค้าเกษตรขั้นต้น ทั้งผัก ผลไม้ ข้าว น้ำตาล เนื้อสัตว์ปีก เช่น ไก่ และสัตว์น้ำอาทิ กุ้ง ปลา รวมถึงสินค้าแปรรูปและอาหารสำเร็จรูป อาทิ เครื่องปรุงรส เครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ขนมขบเคี้ยว ที่สำคัญของโลกด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศผู้มีบทบาทในตลาดอาหารฮาลาลโลก อันดับ 1-5 ของโลก (บราซิล อินเดีย รัสเซีย สหรัฐฯ และอาร์เจนตินา) ล้วนไม่ได้เป็นประเทศมุสลิม เช่นเดียวกับไทย ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก แสดงให้เห็นถึงตลาดอาหารที่ค่อนข้างจะเปิดกว้างสำหรับแหล่งผลิตจากที่ต่างๆ โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการของไทย ให้ความสนใจตลาดอาหารฮาลาลนี้เช่นเดียวกัน พิจารณาจากจำนวนผู้ประกอบการ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในปี 2560 มี 4,683 บริษัท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 2,188 บริษัทในปี 25542 ซึ่งในจำนวนนี้ ร้อยละ 90 เป็นบริษัท

ทางฟากฝั่งรัฐบาลไทยเองยังได้กำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจและสินค้าฮาลาลแห่งชาติ โดยตั้งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยส่งออกติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกภายในปี 2563 ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศรับหน้าที่ ดำเนินโครงการและจัดกิจกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมสินค้าฮาลาลสู่ตลาดโลกด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าฮาลาลเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยสินค้าฮาลาลที่สำคัญ คือ อาหาร แฟชั่นเครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง ซึ่งในปี 2561 การส่งออกอาหารฮาลาลมีมูลค่า 5,799 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แฟชั่นเครื่องนุ่งห่ม 102 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องสำอาง 434 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่าอาหารฮาลาลของไทยมีมูลค่าการส่งออกสูง โดยอาหารส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง นอกจากนี้ ยังมีอาหารฮาลาลหลัก ๆ ที่ส่งออกไปยังประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไก่แปรรูป เป็นต้น