ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

คนมีหนี้! อ่านทางนี้ กับ 3 แนวทาง “ฮาว ทู รอด” อย่างไร กับหนี้สินที่มีอยู่ ให้อยู่ได้ในช่วงวิกฤต


ในช่วงวิกฤตไวรัส COVID-19 ในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบไปในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มธุรกิจ ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง พนักงาน จากผลพวงการปิดเมือง บางคนเมื่อไม่ได้ทำงาน หรือตกงานก็ขาดรายได้ และผลพวงที่ตามมาก็คือ หนี้สิน ที่กำลังพอกเป็นหางหมู หรือยาวเป็นหางว่าวให้คุณวิตกกังวล

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ได้กล่าวถึง ฮาว ทู รอด วิธีจัดการกับหนี้สินในช่วงวิกฤต COVID-19 ทาง Facebook Page มนุษย์ต่างวัย ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ไวรัสไม่ได้ทำลายแค่ปอด แต่กำลังกัดเซาะกระเป๋าสตางค์ของเราอยู่ และนี่คือ ฮาว ทู รอด ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ได้อย่างไร

โควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจลดลง ทุกสิ่งทุกอย่างดูจะทำให้เกิดความหวาดระแวงไปหมด ความเงียบเข้ามา ความกังวลใจเข้ามา แต่ภาระหนี้ยังอยู่เท่าเดิม และยังเดินต่อเนื่อง คำถามคือ หากจะเดินต่อไป 1 อาทิตย์ 1 เดือน จะทำอย่างไร นี่คือบรรยากาศที่ซ่อนอยู่ในแววตาของคนที่กำลังกังวลอยู่

ดังนั้น ฮาว ทู รอด จะต้องทำอย่างไร

ฮาวทูรอด ขั้นที่ 1 คุยกับเจ้าหนี้

คนที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน เขารู้ว่าผลกระทบมันจะค่อยๆ รุนแรง ฉะนั้นในช่วงปี 2563-2564 จะเป็นปีที่เรียกว่า มหกรรมปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ทุกคนเดินผ่านตรงนี้ไปได้

ฉะนั้น ลูกหนี้ จะต้องทำอย่างไร

1.สำรวจรายได้ ก่อนเกิดวิกฤตเรามีรายได้เท่าใด และหลังวิกฤตเรามีรายได้เท่าใด

2.สำรวจหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็น ค่าบ้าน ค่าบัตรเครดิต ค่าผ่อนรถ รวมเบ็ดเสร็จทุกอย่างเป็นจำนวนเท่าใด จากนั้นให้เข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ พร้อมเอกสารหลักฐานการเป็นหนี้ พร้อมบอกรายละเอียดจำนวนยอดหนี้ที่มีอยู่ เบ็ดเสร็จจะเหลือเงินมาผ่อนชำระหนี้ให้กับธนาคารเท่านี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้

ฮาวทูรอด ขั้นที่ 2 ใช้เงินเท่าที่จำเป็น

เช่น อาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ลดใช้จ่ายกับสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ไปท่องเที่ยวต่างประเทศ วันนี้ทุกอย่างจะพิสูจน์สติปัญญาของเราว่า เราจะสามารถแบ่งแยกได้ คิดได้คิดเป็นหรือไม่ ถ้าเราใช้เงินอย่างไม่คิด สิ่งที่ไม่คาดคิดจะเกิดขึ้นกับเรา เหมือนที่คนบอกว่า ถ้าเราซื้อของที่ไม่จำเป็น ในวันนี้ วันข้างหน้าเราได้ขายของที่จำเป็นแน่ คตินี้ใช้ได้ตลอด

ฮาวทูรอด ขั้นที่ 3 จงออมเงิน

อดออม อดทน ไม่กินไม่ใช้ในยามที่ไม่จำเป็น เพื่อเก็บออมมาใช้ในยามที่จำเป็น วันนี้คนที่มีเงินออมกับคนที่ไม่มีเงินออม แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คนที่มีการวางแผนทางการเงินที่ดี จะมีเงินอยู่ได้อย่างน้อย 6 เดือน แต่บางคนเรียกว่าเดือนชนเดือน เพราะฉะนั้นความกดดัน ความเครียด สภาพปัญหาจะไม่เท่ากัน มันพิสูจน์แล้วในวิกฤตครั้งนี้ว่า คนที่มีเงินออมจะเป็นคนที่สามารถยืนหยัดได้

ตั้งสติในการใช้ชีวิต แล้วเราจะผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

ขอขอบคุณที่มาจาก Facebook Page : มนุษย์ต่างวัย