โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่ปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ด้วยตัวมูลค่าของสินค้านั้นไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่อยู่ที่การออกแบบดีไซน์ที่เป็นตัวสร้างมูลค่าให้กับสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาจากตัวเลขของการจำหน่ายมีมากขึ้นถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการจำหน่ายในช่วงปีที่ผ่านมา
ดังนั้น ISMED จึงเข้ามาให้การสนับสนุน โดยคุณธนนนท์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาพื้นฐานธุรกิจ เล่าถึงแนวทางการพัฒนา “อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย” ให้สามารถเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศได้นั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเลิกรับผลิต และหันมาสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง
แรงงานลด หมดยุคไทยรับจ้างผลิต
สำหรับปัญหาที่อุตสาหกรรมแฟชั่นที่ผ่านมา ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาและพบว่า 3 อุตสาหกรรมหลักของแฟชั่น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ พบสิ่งที่เป็นปัญหาโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมรองเท้า ซึ่งจะมีปัญหาคล้ายกัน คือ ที่ผ่านมาจะเน้นในเรื่องของการรับจ้างผลิตเป็นส่วนใหญ่
การรับออเดอร์จากต่างประเทศ ที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากค่าจ้างแรงงาน เพราะที่ผ่านมาค่าแรงในประเทศไทยถือว่าถูก แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีค่าแรงที่สูงขึ้น และจำนวนแรงงานไทยเริ่มลดลง อัตราภาษีต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ต่างประเทศจึงย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงและต้นทุนที่ต่ำกว่าไทย อีกทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปิดการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบ จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของแรงงานต่างชาติเดินทางกลับประเทศอย่างแน่นอน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน จะมีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
แก้เกมทำสินค้าขายเอง
คุณธนนนท์ ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย จะต้องเปลี่ยนแนวจากเดิมที่รับจ้างผลิตอย่างเดียวในปัจจุบันนี้มีแรงงานไม่เพียงพอ แต่จะต้องทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีมูลค่าสูง สามารถขายด้วยตนเองได้ จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่มีกำลังการผลิตมากในตอนนี้ ย้ายฐานการผลิตออกไปยังต่างประเทศในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง ที่เหลืออยู่คือ อุตสาหกรรมขนาดกลางที่สร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ขายด้วยตัวเองถึงจะอยู่รอด
ยกตัวอย่าง ตลาดแฟชั่นที่มีกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น เช่น ตลาดจตุจักร ประตูน้ำ โบ๊เบ๊ เหล่านี้มีกำลังการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมาก จากอัตราการสั่งซื้อจากต่างประเทศ เพราะสามารถเจาะกลุ่มความต้องการของลูกค้าชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี ซึ่งตัวเลขการส่งออกเสื้อผ้าของตลาดจตุจักร อยู่ที่ปีละ 3,000 ล้านบาทมูลค่านี้ไม่ได้เกิดจากการส่งออก แต่ลูกค้าบินเข้ามาสั่งซื้อสินค้าในประเทศด้วยตัวเอง ฉะนั้นจะเห็นได้ชัดว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า เติบโตได้ดีมากที่สุด สรุปได้ว่าการทำธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางนั้นจะต้องเน้นการควบคุมต้นทุนที่ต่ำ และต้องมีไอเดียเป็นที่ต้องการของลูกค้าโดยไม่ต้องเสนอขาย
แฟชั่นต้องรวมกลุ่มถึงอยู่รอด
อีกแนวทางการแก้ไขปัญหาและได้ผลเร็วที่สุด คือ ผู้ประกอบการจะต้องรวมกลุ่มกัน เพื่อลดต้นทุนในด้านต่างๆ ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบการรวมกลุ่มกันซื้อผ้าแล้วสั่งซื้อในจำนวนเยอะๆ จะได้ราคาถูก จากนั้นนำไปผลิตในสไตล์ของใครของมัน ซึ่งวิธีนี้เกิดขึ้นแล้วในบางแห่งและสามารถลดต้นทุนได้จริง
พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวคิดคู่แข่งให้เป็นคู่ค้า ร่วมกันสร้างเซ็นเตอร์ให้กับสินค้า ที่มีคุณภาพในสถานที่เดียว และเป็นที่จดจำของลูกค้าว่า ซื้อเสื้อผ้าที่นี่มีคุณภาพ แต่ผู้ประกอบการจะต้องหันมาแข่งขันในเรื่องของดีไซน์ สไตล์ที่แตกต่างกันออกไป ฉะนั้นเรื่องของคุณภาพจะไม่มีใครด้อยไปกว่าใคร
โดดเด่นดีไซน์ โอกาสแฟชั่นไทย
คุณธนนนท์ กล่าวว่า จุดแข็งของวงการแฟชั่นไทย อยู่ที่ “ฝีมือ” ในเรื่องความประณีตในการตัดเย็บ มีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ ซึ่งชาวต่างชาติที่ผ่านการดูงานมาแล้วทั่วโลก ยังยอมรับว่า ขั้นตอนการผลิตชิ้นงานที่ผ่านฝีมือคนไทยไม่มีที่ไหนทำได้ หรือแม้กระทั่ง ในภาคอุตสาหกรรมอัญมณี ยังได้รับคำชมจากชาวต่างชาติว่า เจียระไนได้ประณีตที่สุด มีการเก็บรายละเอียดได้เป็นอย่างดี อีกอย่างคือ การออกแบบ ต้องยอมรับว่า แนวคิดกับไอเดียของนักออกแบบไทย ปัจจุบันสร้างชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลหลายคน
วางแผนต่อจิ๊กซอว์ เพิ่มโอกาสแข่งขัน
ปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมีแนวทางการผลิตไปคนละทาง ฉะนั้นการรวมตัวกันระหว่างนักออกแบบ ผู้ผลิต การตลาด เป็นกลุ่มเดียวกันได้จะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างประเทศอิตาลี ในสายการผลิตแฟชั่น นักออกแบบ ผู้ผลิต การตลาด จะรวมกลุ่มกันสร้างเทรนด์ล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 4 ปี พร้อมทั้งทำแบบสำรวจกับกลุ่มเป้าหมายว่า เทรนด์ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับ หรือมีผู้ชื่นชอบมากน้อยเพียงใด
เมื่อครบระยะเวลาการปล่อยเทรนด์แฟชั่นใหม่ฝ่ายการผลิตก็พร้อมในสายการผลิต เพราะได้วางแผนรู้ถึงเทรนด์ก่อนล่วงหน้า ในสายการตลาดมีความพร้อมในการนำเสนอขาย รวมไปถึงการจัดโปรโมชั่นต่างๆ ซึ่งวิธีนี้เจาะกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี และถือได้ว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด
ปัจจุบันทางภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED มีการสนับสนุน SMEs มองเห็นถึง วิธีการสร้างโอกาส โดยการต่อจิ๊กซอว์ของผู้ประกอบการเข้าด้วยกัน จึงเกิดเป็น โครงการสร้างเครือข่ายแฟชั่น ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา จากการลงสำรวจตลาดแฟชั่นในเมืองไทยอย่าง จตุจักร สำเพ็ง ประตูน้ำ จึงทราบว่าในสถานที่เหล่านี้ มีนักออกแบบดีไซน์ ที่มีฝีมือไม่แพ้ต่างชาติเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ คนเหล่านี้ไม่รู้จักกันเลย ไม่เคยมีการแชร์ความคิดหรือแนวทางไอเดียต่างๆ ซึ่งกันและกันให้เกิดประโยชน์ในภาพรวม
ดังนั้น จึงเชิญบุคคลเหล่านี้มารวมกลุ่มกัน โดยแบ่งออกเป็นตลาดใหญ่ที่แต่ละที่จะมีแนวทางหรือสไตล์ไปในทิศทางเดียวกัน อย่าง จตุจักร จะสร้างให้เป็นแนว ART STREET เพื่อสร้างความจดจำให้กับลูกค้าว่า ถ้าต้องการแฟชั่นแนวศิลปะให้ไปที่จตุจักรทั้งหมด อีกทั้งคุณภาพและราคาเทียบเท่ากัน แต่แข่งขันในเรื่องของไอเดีย รูปแบบของผลงานที่นำเสนอ ฉะนั้นสิ่งที่จะแข่งขันจะมีเพียงเรื่องดีไซน์เพียงเรื่องเดียว
แฟชั่นมุสลิมยังเปิดกว้าง
อีกหนึ่งแฟชั่น ที่เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย คือ แฟชั่นมุสลิม จะเห็นได้ว่าแฟชั่นไทยไม่ได้สนใจที่จะเจาะกลุ่มมุสลิมมากเท่าไรนัก ซึ่งจริงๆ แล้ว มูลค่าของตลาดมุสลิมสูงมากทั้งในประเทศ และต่างประเทศกลุ่มคนมุสลิมมีกำลังซื้อสูง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ หากลองหาวิธีการการเจาะตลาดให้ถูกต้องตามหลักศาสนาและความต้องการได้ นี่จะเป็นอีกหนึ่งแฟชั่นที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย
“อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยต้องอย่าหยุดพัฒนาความรู้ ทั้งตัวเจ้าของกิจการ รวมไปถึงการส่งเสริมให้พนักงานเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พร้อมที่จะเปิดรับโลกกว้างที่เป็นประโยชน์ทั้งในสายงานและการใช้ชีวิต เปิดตัวเองออกสู่โลกกว้าง อย่าใช้แนวคิดของตัวเองเพียงอย่างเดียวพยายามรวมกลุ่มในสายธุรกิจเดียวกัน ร่วมแชร์ความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกันให้มากที่สุด เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป ทำให้เราได้รู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขอย่างทันท่วงที” คุณธนนนท์ กล่าว