นอกจากนั้นยังได้พบกับ “นาบัว” บ้านศาลาดิน พร้อมวิธีการเก็บดอกบัว การทำนาบัว หรือ Lotus Farm เป็นแปลงสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล นาบัวถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้เกษตรกรอย่างมาก ชาวบ้านก็จะเก็บบัวกันในช่วงเช้าเพราะแดดไม่ร้อน บัวส่วนใหญ่ที่ปลูกเป็นสายพันธุ์ “ฉัตรบุศย์ หรือ ฉัตรขาว”ที่ใช้ไหว้พระ ไม่มีเมล็ดบัวให้กินเหมือนบัวหลวง ซึ่งทั้งหมดนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกิจกรรม พายเรือเก็บดอกบัวนาสวนกล้วยไม้ เป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจที่หมู่บ้านแห่งนี้
ชุมชนบ้านศาลาดิน เป็นหนึ่งในหมู่บ้านนำร่องที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กำหนดแนวทางการพัฒนาด้วยการจัดตั้งโครงการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้วยการใช้ทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ มาเชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา พร้อมด้วยแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของจังหวัด
พรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
พรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า แนวคิดที่กล่าวมานี้ จะช่วยยกระดับให้วิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น สามารถไต่ระดับขึ้นไปสู่ SME ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ด้วยนวัตกรรมในเชิงสร้างสรรค์ มีการเพิ่มผลิตภาพ การพัฒนามาตรฐานต่าง ๆ การรวมกลุ่มหรือคลัสเตอร์ ทั้งยังจะเป็นแนวทางการผสมผสานในหลากหลายกิจกรรมที่จะช่วยให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยได้ต่อไป สำหรับการพัฒนาโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปี 2560 นี้ กสอ.จะดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมนำร่องรวมทั้งหมด 9 หมู่บ้าน ใน 9 จังหวัดที่มีเสน่ห์แตกต่างกันไปตามอัตลักษณ์ของชุมชน ประกอบด้วย
1.ชุมชนออนใต้ จ.เชียงใหม่ ชุมชนที่สืบเชื้อสายไทลื้อแคว้นสิบสองปันนา มีชื่อเสียงในด้านพระสายวัดป่า รวมทั้งผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้าน อาทิ ไม้กวาดทางมะพร้าว เครื่องสังคโลก
2.ชุมชนน้ำเกี๋ยน จ.น่าน ชุมชนวิถีสมุนไพรที่ลดการใช้สารเคมี สามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ได้กว่า 30 รายการ สร้างชื่อ สู่สินค้าสุขภาพในร้านสปาชั้นนำระดับประเทศ
3.ชุมชนบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย แหล่งท่องเที่ยวชุมชนใน อ.ศรีสัชนาลัย ที่มีจุดชมพระอาทิตย์และทะเลหมอกอันงดงาม มีสินค้าโอทอปขึ้นชื่อ อาทิ ผลิตภัณฑ์จากผ้าหมักโคลน เครื่องถมเงิน ข้าวเปิ๊ป
4.ชุมชนบ้านเชียง จ.อุดรธานี พื้นที่มรดกโลกทางอารยธรรม และเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาและผ้าทอมือ
5.ชุมชนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี สถานที่ที่รู้จักกันดีในฐานะแหล่งชุมชน คนมอญ และมีชื่อเสียงในเรื่องของเครื่องปั้นดินเผา และขนมหวานอันเลื่องชื่อ
6.ชุมชนประแส จ.ระยอง แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโบราณของเมืองท่าสำคัญฝั่งทะเลตะวันออก และเป็นแหล่งผลิตชาใบขลู่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากการประมงที่หลากหลาย
7.ชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม จุดท่องเที่ยวเชิงเกษตรริมคลองมหาสวัสดิ์ ที่มีความโดดเด่นด้วยสวนพืชผลทางการเกษตรมากมายหลากหลายชนิด และมีสินค้าแปรรูปจากการเกษตรที่โดดเด่น อาทิ ผลิตภัณฑ์จากฟักข้าว ข้าวตังจากข้าวซ้อมมือ เป็นต้น
8.ชุมชนเกาะยอ จ.สงขลา เกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลสาบ มีสินค้าอันโดดเด่น ได้แก่ ผ้าเกาะยอ และหนังปลากระพงทอดกรอบ
9.ชุมชนบ้านนาตีน จ.กระบี่ ชุมชนมุสลิมแห่งอ่าวนาง แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลก สามารถผลิตสินค้าจนเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะผ้าบาติกเรือหัวโทงจำลอง กระดาษใยสับปะรด
โดยในปี 2560 นี้ กสอ.คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จะสามารถช่วยเพิ่มนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาในกลุ่มจังหวัดดังกล่าวเพิ่มขึ้น ทั้งยังมุ่งหวังที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนใหม่ๆ ให้เพิ่มขึ้นกว่า 5 % จากเดิมที่มีอยู่กว่า 1.2 แสนรายการ (ที่มา : รวมผลการจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ประจำปีงบประมาณ 2559 กรมการพัฒนาชุมชน) โดยยังเชื่ออีกว่าหมู่บ้าน CIV เหล่านี้ จะช่วยผลักดันให้เกิดมูลค่าอุตสาหกรรมชุมชน (OTOP) ในปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จากเดิมในปี 2559 มีมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท นายพรเทพ กล่าวปิดท้าย สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0-2367 8339 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th