ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ธพว.สรุปมาตรการ 2 ช่วยเหลือ SME เป็นของขวัญปีใหม่ 2562


รองนายกรัฐมนตรี พร้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งเร่งสรุปมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เสนอ ครม. ให้ทันเป็นของขวัญปีใหม่ เคาะ 2 มาตรการ กองทุนฟื้นฟูให้โอกาสคนติดกับดักทางการเงิน คนเคยล้มลุกสู้สร้างอาชีพใหม่ และรักษาธุรกิจเดิม 1,800 ล้านบาท และสินเชื่อพิเศษช่วยเสริมสภาพคล่องกลุ่มค้าส่งค้าปลีกร้านโชห่วยทุกพื้นที่

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้นัดหมายกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะที่กำกับดูแลงานเอสเอ็มอี (SME) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank มาประชุมเพื่อเร่งรัดจัดทำข้อสรุปมาตรการความช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อนำเสนอต่อ (ครม.) พิจารณาให้ทันก่อนสิ้นปีนี้
เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลถึงพี่น้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ซึ่งได้ความชัดเจนแล้ว 2 มาตรการ โดยแยกเป็น กลุ่มธุรกิจที่สะดุดแต่ยังไปต่อได้ ซึ่งจะมีการเติมเงินทุนส่วนหนึ่งไปเริ่มต้นธุรกิจใหม่ กับกลุ่มร้านค้าส่งค้าปลีกร้านโชห่วยเล็กๆ ร้านธงฟ้าในชุมชน ร้านสินค้าเกษตร เป็นต้น กลุ่มนี้ต้องการเงินทุนหมุนเวียนจำนวนหนึ่งเพื่อสั่งซื้อสินค้าเข้าร้านในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยทั้ง 2 กลุ่มถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนที่สำคัญที่รัฐบาลจะช่วยเหลือดูแลอย่างเต็มที่

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทั้ง 2 มาตรการเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายเสริมแกร่งเอสเอ็มอีของกระทรวงฯ เรื่องกองทุนฟื้นฟู SMEs วงเงิน 1,800 ล้านบาทนั้น เป็นการยุบรวม 2 กองทุนที่เหลือจาก สสว. นำมาปรับให้เกิดความเหมาะสมและคล่องตัว โดยมอบให้ ธพว. ซึ่งมีสาขาทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจำเป็นต้องนำเสนอต่อ ครม. ให้ความเห็นชอบ

หลักใหญ่คือต้องช่วยเอสเอ็มอี “ล้มแล้วลุก” อีกครั้งให้ได้ เงินทุนที่ช่วยเหลือแต่ละรายต้องไม่มีดอกเบี้ยให้เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ ระยะเวลาผ่อนก็ต้องยาวนานพอที่กิจการจะฟื้นตัว แม้ว่าวงเงินต่อรายอาจไม่มาก ทั้งนี้เพื่อให้กระจายความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการมากที่สุด แต่ถ้ากิจการเริ่มเข้มแข็งแล้ว จะให้ ธพว.สนับสนุนสินเชื่ออื่นเพิ่มเติมให้อีกต่างหาก

ส่วนสินเชื่อพิเศษช่วยเหลือปรับเปลี่ยนยกระดับวิธีการขายช่วยผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกร้านโชห่วยเล็กๆ ในชุมชนที่มีนับแสนรายให้ขายสินค้าหลากหลายจำเป็นกับชุมชน โดยเติมสภาพคล่องในการสั่งซื้อสินค้าเตรียมพร้อมจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนที่จะถึง แต่ละร้านค้าใช้วงเงินไม่มากประมาณ 200,000 – 300,000 บาท แต่จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชนได้ 5-7 รอบ ซึ่งถ้ารวมทุกแห่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศได้มหาศาล

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ SME Development Bank กล่าวว่า ได้สรุปมาตรการที่จะนำเสนอต่อ ครม. เร่งด่วน เพื่อมอบเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ให้เอสเอ็มอีไทย ได้แก่ การขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ที่กำลังจะหมดในวันที่ 18 ธันวาคม 2561 นี้ และมีวงเงินเหลืออยู่ 35,000 ล้านบาท โดยให้ขยายระยะเวลาโครงการไปถึง 18 ธันวาคม 2562 หรือจนกว่าหมดวงเงินสินเชื่อรวมโครงการ

พร้อมกับขยายกลุ่มธุรกิจเป้าหมายของสินเชื่อนี้จากกลุ่มเกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยว และมีนวัตกรรม โดยให้เพิ่มกลุ่มค้าส่งค้าปลีก ร้านโชห่วย ร้านค้าชุมชน ร้านธงฟ้า ผู้ประกอบการค้าสินค้าเกษตร เข้าไว้ด้วย ภายใต้ชื่อ โครงการประชารัฐเสริมแกร่งการค้าสู่ชุมชน เพื่อเสริมให้เก่งปรับเปลี่ยนยกระดับใช้เทคโนโลยีปักหมุดสู่สากลให้อยู่บนถนนดิจิทัล เพิ่มมูลค่า แปรรูป ขายเอง กำหนดราคาได้เอง วางเป้าหมายจะสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งเข้าถึงสินเชื่อนี้ได้ครบทุกตำบลทั่วประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ในระดับชุมชนอย่างกว้างขวาง

รวมถึงเชื่อมโยงกับระบบถุงเงินประชารัฐของกระทรวงการคลัง และโชห่วย-ไฮบริดของกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนพัฒนาระบบรวมซื้อผ่านไปรษณีย์ไทยเพื่อลดต้นทุนของร้านโชห่วย อีกทั้ง ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจต่างๆ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และสถาบันการเงินรัฐอื่นๆ เพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยอย่างครบวงจร เช่น อบรมความรู้ ขยายช่องทางตลาด จับคู่ธุรกิจ และยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

อีกทั้ง SME Development Bank เตรียม ครม. พิจารณาตั้ง โครงการประชารัฐสร้างโอกาสคนตัวเล็ก ล้มแล้วลุก วงเงิน 1,800 ล้านบาท ซึ่งยุบรวมกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอี และกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เข้ามาไว้ด้วยกัน โดยมอบหมายให้ SME Development Bank เป็นหน่วยร่วมทำหน้าที่บริหารกองทุน มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ติดกับดักทางการเงิน ซ่อมให้แกร่ง เช่น มีปัญหาเรื่องประวัติการชำระเงิน จึงไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ หรือมีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง ขาดสภาพคล่อง เป็นต้น ให้ได้รับโอกาสเริ่มต้นประกอบอาชีพใหม่อีกครั้ง

ซึ่งการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจะดูจากความสามารถในการชำระหนี้จากหนี้ที่ให้กู้ยืมใหม่เป็นหลัก
สำหรับโครงการประชารัฐสร้างโอกาสคนตัวเล็ก ล้มแล้วลุก วงเงินให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาชำระเงินกู้ 7 ปี ไร้ดอกเบี้ย แบ่งเป็นเบื้องต้นให้เป็นทุนช่วยเหลือฉุกเฉิน 50,000 บาท และหากมีการชำระหนี้ที่ดีต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน จะเติมทุนให้อีก 50,000 บาท หลังจากนั้น เมื่อธุรกิจที่ทำมีผลประกอบการที่ดี เข้าสู่ระบบถูกต้อง และต้องการจะต่อยอดหรือขยายธุรกิจ สามารถมาใช้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษของ SME Development Bank เพิ่มเงินทุนให้สูงสุดอีก 1 ล้านบาท คาดว่า จะมีผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 30,000 คน

นายมงคล กล่าวเสริมว่า ธนาคารได้ยกระดับการทำงานผ่านแพลตฟอร์ม SME D Bank ช่วยให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายทุกที่ทุกเวลา อีกทั้ง ในแพลตฟอร์มนี้ยังรวบรวมเครื่องมือเสริมแกร่งธุรกิจ (Tools Box) มากกว่า 150 รายการ และคลังข้อมูลความรู้ (e-Library) มากกว่า 1,000 ประโยชน์ ช่วยให้เอสเอ็มอีเรียนรู้ก้าวทันเทคโนโลยียุคใหม่ได้ด้วยตัวเอง เมื่อรวมเข้ากับการให้บริการถึงถิ่นของหน่วยบริการเคลื่อนที่รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEsไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น และมาตรการด้านการเงินที่จะเสนอให้ ครม. พิจารณาข้างต้น เชื่อว่าจะเป็นของขวัญสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยเพิ่มศักยภาพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ลดความเหลื่อมล้ำ สามารถเติบโตอย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน