ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

พาณิชย์ ฟื้นฟูกลุ่มผู้ประกอบการ MOC Biz Club ได้รับผลกระทบ โควิด 19


กระทรวงพาณิชย์ ฟื้นฟูกลุ่มผู้ประกอบการ MOC Biz Club พันธมิตรที่อยู่เคียงข้างกันมานาน หลังธุรกิจมากกว่าร้อยละ 60 ได้รับผลกระทบเพราะพิษโควิด-19 ระบาด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่ขายสินค้าผ่านหน้าร้านอย่างเดียว และเป็นสินค้าที่ไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน พร้อมผุด 5 กิจกรรม ผลักดันธุรกิจให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง มั่นใจ!!! ธุรกิจเดินต่อได้หากภาครัฐให้การช่วยเหลือ/สนับสนุนเต็มที่

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ผู้ประกอบการ MOC Biz Club เป็นกลุ่มเครือข่ายธุรกิจรายเล็กระดับจังหวัดที่กระทรวงพาณิชย์ให้การส่งเสริมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 นับเป็นพันธมิตรที่อยู่เคียงข้างกันมานาน โดยกระทรวงฯ ใช้เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงานคนในท้องถิ่น และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

โดยช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า ผู้ประกอบการกลุ่ม MOC Biz Club ได้รับผลกระทบมากกว่าร้อยละ 60 โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ขายสินค้าผ่านหน้าร้านเพียงอย่างเดียว และเป็นสินค้าที่ไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ส่งผลถึงผลประกอบการในภาพรวม จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งจัดทำแผนฟื้นฟูผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง เน้นสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เติมเต็มทุกองค์ประกอบสำคัญในการประกอบธุรกิจ รวมทั้ง ขยายช่องทางการตลาดเพิ่มเติมให้มีความหลากหลาย”

“เบื้องต้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกลุ่มผู้ประกอบการ MOC Biz Club ภายใต้คอนเซป เข้มแข็งอีกครั้ง ประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก คือ

1) จัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อขยายฐานลูกค้า เพิ่มการรับรู้ผลิตภัณฑ์ และพบปะผู้ประกอบการกลุ่มใหม่ๆ เพื่อร่วมลงทุนในอนาคต

2) เจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) สร้างโอกาสและพันธมิตรทางการค้าทั้งในและต่างประเทศต่อยอดธุรกิจร่วมกัน

3) การให้คำปรึกษาแนะนำแก่ธุรกิจโดยผู้เชี่ยวชาญ/ผู้มีประสบการณ์เฉพาะด้าน เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการ การตลาด และการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อใช้ประกอบการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน”

“4) เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club เกิดการแลกเปลี่ยนและพัฒนาความรู้นำไปประยุกต์/ปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองและเครือข่าย รวมถึงเป็นสะพานเชื่อมธุรกิจในส่วนภูมิภาค…นำไปสู่การต่อยอดธุรกิจ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการในอนาคต

5) สร้างองค์ความรู้ด้านการประกอบธุรกิจและขยายช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลาย เช่น การบริหารต้นทุนในภาวะวิกฤต การจำหน่ายสินค้าบนออนไลน์ เทคนิคการไลฟ์สด ฯลฯ เพื่อให้การจำหน่ายสินค้า/บริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจ และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ จะผลักดันให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า รวมถึงนำการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจ ทำการตลาดออนไลน์ และทำการประชาสัมพันธ์อย่างครบวงจร”

“แผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งโดยเร็ว ขณะเดียวกัน ได้หารือกับประธานเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club แต่ละภูมิภาค คัดกรองผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือในลำดับต้นๆ เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือก่อน เป็นการฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด

นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจฯ ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อยช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากในลักษณะพี่ช่วยน้อง ซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2563) มีผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั่วประเทศ จำนวน 11,034 ราย แบ่งออกเป็น 11 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย กลุ่มอาหาร 3,294 ราย (ร้อยละ 29.85) กลุ่มผ้า/เครื่องแต่งกาย 1,998 ราย (ร้อยละ 18.11) กลุ่มบริการ 1,512 ราย (ร้อยละ 13.70) กลุ่มของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก 928 ราย (ร้อยละ 8.41) กลุ่มสุขภาพและความงาม 926 ราย (ร้อยละ 8.39) กลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 611 ราย (ร้อยละ 5.54) กลุ่มเครื่องดื่ม 583 ราย (ร้อยละ 5.28) กลุ่มอุตสาหกรรม 399 ราย (ร้อยละ 3.62) กลุ่มการเกษตร 357 ราย (ร้อยละ 3.24) กลุ่มท่องเที่ยว 265 ราย (ร้อยละ 2.40) และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 161 ราย (ร้อยละ 1.46)

แบ่งผู้ประกอบการออกเป็นรายภูมิภาค ได้ดังนี้ ภาคกลาง (18 จังหวัด) 3,385 ราย (ร้อยละ 30.68) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (20 จังหวัด) 2,965 ราย (ร้อยละ 26.86) ภาคเหนือ (17 จังหวัด) 2,518 ราย (ร้อยละ 22.82) ภาคใต้ (14 จังหวัด) 1,204 ราย (ร้อยละ 10.92) และภาคตะวันออก (8 จังหวัด) 962 ราย (ร้อยละ 8.72)

แบ่งตามประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย นิติบุคคล 1,841 ราย (ร้อยละ 16.69) ทะเบียนพาณิชย์ 1,503 ราย (ร้อยละ 13.62) และ บุคคลธรรมดา 7,690 ราย (ร้อยละ 69.69)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร : 0 2547 4445 สายด่วน 1570 และ e-Mail : [email protected] และ www.dbd.go.th